พื้นที่นี้มันเปิดเมื่อสิบปีที่แล้ว ความรู้มีมาก แต่ขาดคนเข้าไปกระตุ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบางทีการเรียนรู้จะต้องอยู่ในใจตลอดเวลา

Start
482 views
32 mins read

“ในโครงการ Learning City ผมร่วมทำกระบวนการการเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่นิยามจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ของเมือง ในสองพื้นที่คือกรุงเทพฯ กับนครสวรรค์ เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องเรียน และทำไมเราถึงต้องเรียนรู้ เรื่องแรกคือเพื่อที่จะมีงานทำ สร้างรายได้ ทำมาหากิน สอง คือการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม รวมตัวกันเป็นสังคมมนุษย์ สาม คือการเรียนรู้เพื่อยกระดับจิตใจตัวเอง เพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ พื้นฐานที่สุดก็คือศิลปะเป็นสิ่งกล่อมเกลาจิตใจ สุดท้าย คือการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีประชาธิปไตย มีการเข้าสังคม การอยู่อย่างสงบสุข ซึ่งถ้ามองทั้งสี่ข้อนี้ จะเห็นว่าระบบการศึกษาในห้องเรียนอ่อน เพราะให้การเรียนรู้เฉพาะการมีอาชีพข้อหนึ่งอย่างเดียว ส่วนที่สอง ถูกเรียกว่ากิจกรรมเสริมหลักสูตร

คำถามต่อไปคือ เมืองแห่งการเรียนรู้ มีไว้ทำไม โดยพื้นฐานใช้ทฤษฎีของนักออกแบบเมือง หนึ่ง. เมืองคือสเปซทางกายภาพ สอง. คือความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง สาม. คือชีวิต ถ้ามีกฎเกณฑ์มีกายภาพให้อยู่แต่ไม่มีชีวิตชีวาก็คงเป็นเมืองซึ่งขาดเสน่ห์ ซึ่งในนิยามแรกๆ ของเมืองแห่งการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วม ก็ไปตั้งคำถามนี้กับประชาคมกะดีจีน-คลองสาน มีคุณลุงคนนึงนิยามว่า ถ้าเกิดคำถาม ปัญหาขึ้นมาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มันมีโนฮาว องค์ความรู้ ระบบบริหารจัดการให้คำตอบไปสู่คนที่ต้องการด้วยระบบในพื้นที่เองได้มั้ย ซึ่งก็จะเห็นความเชื่อมโยงว่าทำไมเราถึงต้องเรียนรู้ แล้วเมืองมีฟังก์ชันยังไง มีระบบของการแลกเปลี่ยน ระบบคน ระบบกายภาพยังไง จนถึงสุดท้าย เมื่อมีคำถามมันต้องตอบด้วยตัวมันเอง ถ้าดูตามนิยามตรงนี้ เห็นจุดอ่อนในสังคมไทยตรงที่ว่า กลไกบางอย่างไม่พยายามตอบคำถามที่เราเจอด้วยตัวมันเอง เราข้ามสิ่งสำคัญของการเรียนรู้คือการเปลี่ยนจากปัญหาเป็นคำถามที่เราสามารถหาคำตอบได้เอง ไปที่ผู้มีอำนาจ กลไกการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น ถ้ามองกลไกการวิพากษ์ทั้งหมดนี้มันคงห่างไกลจากการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

ผู้เชี่ยวชาญจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นคนขับเคลื่อนเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ตัวจริง ซึ่งไม่ได้มองเมืองแบบนักออกแบบเมืองว่าเป็นกายภาพ เขาให้ความเห็นตามนิยามของยูเนสโกว่า คือเครื่องมือของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งผ่านทอดไปกับคนทุกกลุ่ม ก็เป็นนิยามที่สองว่าเมืองคือกลไก เป้าหมายคือออกแบบยังไงก็ได้ให้คนมีโอกาสเรียนในสิ่งที่อยากเรียน หรืออยากเรียนตลอดชีวิต แต่อยากเรียนอะไรก็ต้องย้อนกลับไปดูสี่ข้อแรก เรียนเพื่อเหตุผลนี้ แล้วควรจะไปเน้นที่ตัวไหน ซึ่งในทิศทางนี้น่าจะขับเคลื่อนอยู่กับทัศนคติการเรียนของสังคมไทยว่าจะไปถึงจุดไหน จะสร้างจุดสมดุลของการศึกษาพื้นฐานกับนอกห้องเรียนได้ยังไง ในสังคมที่เมืองแห่งการเรียนรู้เจริญเติบโต การเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเดียวมันไม่พอหรอกแม้ว่าการศึกษาพื้นฐานเขาแข็งอยู่แล้ว ต้องทำไปพร้อมๆ กัน

นิยามที่สาม ด้านนึงคนไทยชอบสอน ชอบให้บทเรียน แล้วเราบังคับให้เขารู้ด้วย ตามท้องถนนจะเกิดการเรียนการสอนแบบแปลกๆ เช่น ลากลงมาจากรถแล้วตบหัวแล้วบอกนี่คือบทเรียนที่ให้ ผมมองความรุนแรงบนท้องถนนเป็นเรื่องตลกร้ายตรงที่ไม่รู้หรอกว่าบทเรียนที่คุณให้มันนำไปสู่อะไร แต่สิ่งสำคัญคือเราสร้างบทเรียนด้วยความรุนแรง ซึ่งผมว่าฝังรากลึกอยู่นะ และเป็นอุปสรรคหนึ่งในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า อย่างแรกสุด ถ้าทำงานเมืองหรืองานชุมชน ต้องอ่านความขัดแย้งให้เจอก่อน ถ้าเกิดคนยังมีบรรยากาศของความขัดแย้ง มันไม่พร้อมจะเรียนรู้ แต่ถ้าเราเห็นอยู่แล้ว อย่างน้อย การตั้งประเด็น เอาคนที่มีความขัดแย้งมานั่งประชุมกันในเรื่องอื่น ก็อาจนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่เขาเคยมีในเรื่องอื่นได้ อันนี้คือมองโลกในแง่บวกมากนะ แต่ถ้าเรื่องอะไรมาแล้วทะเลาะกันหมด ก็เป็นตัวประเมินว่ายังห่างไกลกับการจะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ ต้องมีคนที่สาม ที่สี่ เข้ามาเป็นตัวเชื่อม ซึ่งนิยามที่สามนี้เกิดขึ้นหลังจากทำเวิร์กช็อป แล้วเริ่มทำความเข้าใจว่า เมืองนครสวรรค์ไม่เล็กแต่ก็ใหญ่พอสมควร เป็นหัวเมืองที่มีการศึกษาระดับมัธยมที่แข็ง ส่งเด็กมัธยมไปเป็นหมอ วิศวกรอยู่เยอะในระดับภูมิภาค เพียงแต่ว่า แล้วเราได้อะไรจากสิ่งนี้ การแพทย์ของนครสวรรค์ก็ไม่ใช่การแพทย์ที่ดีที่สุด หรือไม่มีวิศวกรอยู่ในเมืองเลย พอหัวเมืองหลายๆ แห่งไม่มีการศึกษาขั้นสูงที่แข็งเข้าไปอยู่ เห็นชัดเลยว่าตอนนี้ขอนแก่นแซง เมื่อก่อนเศรษฐกิจนครสวรรค์กับขอนแก่นพอๆ กัน พอมีการศึกษาขั้นสูงที่ขอนแก่น ขอนแก่นเปลี่ยนตัวเองเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ แต่สิ่งที่อยู่ในนครสวรรค์ มีโนฮาว มีคนอยู่เยอะ แต่กลไกปกติโดยผู้นำเมืองไม่ได้สร้างกลไกของการเรียนรู้ กลไกของการเรียนรู้นอกระบบขึ้นมา ไม่ได้สร้างการเชื่อมความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล หรือเป็นความรู้จริงๆ ในสถานที่ และตัวชี้วัดสุดท้ายก็คือว่า มันทิ้งโอกาสและคนที่อยู่ชายขอบของความรู้จริงไว้มั้ย สุดท้ายก็ย้อนกลับไปนิยามที่สองคือว่า ถ้าคุณทิ้งคนแก่ไว้ชายขอบ หรือมันจะมีคนชายขอบของการเรียนรู้อยู่ คนพวกนี้ไม่สามารถเข้าถึงความเข้าใจตรงนี้ได้ ฉะนั้น กลไกสักอย่างของเมืองแห่งการเรียนรู้คงไม่ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์

ฉะนั้น คำถามคือ ถ้าเราทำเมืองแห่งการเรียนรู้ ใครเป็นชายขอบของเรื่องนี้ แล้วกลไกทั้งหมดกลับไปสู่คนพวกนี้ได้หรือไม่ อย่างผมเรียนปริญญาโทที่ออสเตรเลีย เขาจะมีบางวัน บางงาน ปิดไซต์ก่อสร้างโครงการของรัฐ ทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วเปิดให้คนเข้าไปดู ว่านี่คือโครงการของรัฐ ไม่ได้เข้าไปเมื่อเสร็จ แต่สร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมการเป็นเจ้าของ ถ้าย้อนกลับไป มันคือความเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น การเข้าไปตรวจสอบไปพร้อมๆ กับการเรียนไม่ได้ถูกแยกออกจากกัน ผมก็เป็นคนต่างด้าวที่เข้าไปเดินดู ได้ความรู้เรื่องไซต์ก่อสร้าง ผมอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองการตรวจสอบใดๆ แต่นั่นคือความรู้ของพลเมือง ซึ่งรัฐสามารถให้ได้ฟรีๆ ถ้าบ้านเราก็บอกผู้รับเหมาแสดงไซต์ซักที่ เอาแรงงานพม่ามาอธิบายก็ได้ว่าอันนี้ชั้นฉาบปูนแบบนี้ มันคือการศึกษาในมุมของคนที่ทำงาน กลไกนี้ไม่ได้ยากเย็น รัฐหรือเจ้าของงานจะเห็นเรื่องพวกนี้หรือไม่ เช่นเปิดให้ประชาชนเข้าไปดูตั้งแต่ก่อสร้างว่าทำยังไง ความรู้สึกโปร่งใสไม่โปร่งใส ข้อขัดแย้งที่มีอยู่จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ เพราะเหมือนเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่รอของสำเร็จรูป มันสร้างการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก สิ่งนี้คือบทเรียนจากการทำเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ย้อนกลับไปวิพากษ์สิ่งที่เรียกว่าเมืองและความเป็นรัฐที่กำกับเมืองอยู่

ปัญหาของเมืองแห่งการเรียนรู้ส่วนหนึ่ง การบริหารเมืองไม่เห็นเมืองเป็นธุรกิจ แล้วผลประโยชน์ทางธุรกิจของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นการลงทุนระยะยาว มันไม่เห็น เพราะฉะนั้น คำตอบคือ ถ้าทุกอันมีงบมา มันจบละ ทีนี้ มองมาที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน สิ่งที่ผมชี้ก็คือ ก่อนการปฏิบัติว่าจะเอาพาร์ตเนอร์ไปขับเคลื่อนเรื่องอะไร ต้องกำหนดกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ให้ได้ก่อน ไม่งั้นพอลงมือทำมันเต็มไปหมด แต่ไม่รู้เป้าหมายไปอยู่ตรงไหน ผมบอก เป้าหมายมีทั้งการเปลี่ยนแปลงของรัฐ การเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ และการสร้างระบบที่คนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ระบบของการมีส่วนร่วมของคนที่มีโอกาสมีส่วนร่วม แต่ของคนที่ไม่มีโอกาส ซึ่งควรจะอยู่ในสมการตั้งแต่ต้น ทำให้เราเปลี่ยนวิธีใหม่ เพราะยิ่งไม่มีโอกาส ยิ่งลงทุนเยอะ เราก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามั้ย เสียเปล่ามั้ย สิ่งที่เราทำในเฟสสองกับคนที่อยู่ในกะดีจีน-คลองสานคือพยายามลงไปถึงหัวข้อสำคัญที่จะดึงคนที่อยากมีโอกาสในการเรียนรู้ และดึงพาร์ตเนอร์เข้ามา ฉะนั้น กิจกรรมหลากหลายมาก เวลาผมทำหน้าที่เป็นพิธีกรสรุปบทเรียน คนนั่งกันเป็นสิบคน ทุกคนเป็นตัวแทนการเรียนรู้ของแต่ละเรื่อง ด้านนึงก็เป็นการจับคู่ระหว่างกันและความรู้ ด้านนึงก็สามารถดึงกทม.เข้ามาร่วมได้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาโดยตรงนะ แต่พูดถึงสเปซของการเรียนรู้ โดยเฉพาะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบของพื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในการที่จะดึงเอาสิ่งที่เป็นสินทรัพย์ของเมืองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น การส่งผ่านความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล มันก็จะอยู่ในบุคคล แต่ถ้าเริ่มมีพื้นที่ให้บุคคลต่างๆ พวกนั้นออกมานั่งพูดคุยได้ ปกติจะอยู่หน้าบ้านบ้าง หน้าร้านกาแฟบ้าง แต่พื้นที่แบบนั้นเริ่มหดตัว ก็จะมีพื้นที่เช่นสวนเล็กๆ ที่คนออกมานั่งคุยกัน งั้นเราควรเปลี่ยนมุมมองของสวนใหม่ เป็นพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่อยู่ในบุคคล อยู่ในชุมชนที่ต้องการ เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน แล้วองค์ความรู้นี้อยู่ในชุมชนคุณนะ แล้วพอเริ่มมีพื้นที่ตรงนี้ ค่อยอัดฉีดกิจกรรมเข้าไป เป็นเทศกาลบ้าง อีเวนต์บ้าง เอากทม. we!park และเครือข่ายอื่นๆ มาร่วมทำงานด้วยกัน ดึงคนออกมาคุยในเรื่องที่เขามีคำถาม มันก็ย้อนกลับไปที่นิยามแรกว่า เมื่อมีคำถามในพื้นที่ต้องตอบได้ด้วยตัวมันเอง

เราทำงานย่านกะดีจีน-คลองสานมาเป็นสิบปี โครงการ Learning City ทำให้เกิดข้อวิพากษ์ที่ดีกับคณะทำงานด้วย ก่อนหน้านี้เราให้ความสำคัญกับการทำมรดกทางวัฒนธรรม กายภาพ กับตัวชุมชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรมยังไงได้บ้าง แล้วก็เกิดคำถามว่าทำไมมันไม่ปักหลักซะที Learning City ชี้ให้เห็นจุดอ่อน เพราะด้านหนึ่งเราไม่ได้ลากคนชายขอบเข้ามา แต่เราพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโมเดลหนึ่งที่เรายกผู้นำขึ้นก็ประสบความสำเร็จละ แต่โจทย์ที่ยากคือ ดึงคนที่อยู่ชายขอบของสิ่งที่เราว่าเป็นองค์ความรู้ ชุมชนควรจะดำเนินกลไกการพัฒนาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ คือเขาอาจจะทำด้วยตัวเองบางเรื่อง เพราะมีหลายคนให้ความรู้ลงไปทำกิจกรรมกับชุมชนนี้มากเพราะพื้นที่นี้มันเปิดเมื่อสิบปีที่แล้ว ความรู้มีมาก แต่ขาดคนเข้าไปกระตุ้นเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ได้วางเป้าหมายการกระตุ้นไปสู่การเรียนรู้ ดังนั้นถ้าบอกจะทำอะไรขึ้นมา บางทีการเรียนรู้จะต้องอยู่ในใจตลอดเวลา”

ผศ.คมกริช ธนะเพทย์
อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย