“พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคสิ่งของหลายพันชิ้นจากศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ดร.วินิจ วินิจนัยภาค และภรรยา คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค จึงมอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล เพราะสิ่งของที่ได้รับมีตั้งแต่ฟอสซิลหลายล้านปีจนถึงงานวัตถุทางชาติพันธุ์ อาจจะไม่ได้พิเศษ แต่มีของหลากหลาย มีที่มา มีเรื่องเล่า ซึ่งสาขามานุษยวิทยามีการเรียนการสอนเรื่องโบราณคดี ชาติพันธุ์ มรดกวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ศึกษา การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ จึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านมานุษยวิทยา ซึ่งในไทยก็มีพิพิธภัณฑ์ด้านนี้น้อยมาก โดยเนื้อหามานุษยวิทยาคือความเข้าใจมนุษย์ จุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ฯ ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของกับมนุษย์ การที่เราเห็นสิ่งของ ศึกษาสิ่งของ เราก็จะเข้าใจมนุษย์ได้ เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย
พิพิธภัณฑ์ฯ นอกจากช่วยด้านการจัดแสดง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา เช่น วิชาว่าด้วยเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มาศึกษาว่าในพิพิธภัณฑ์ฯ มีวัตถุสิ่งของอะไรบ้าง ? วิชาการวิจัยและการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ก็ให้สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นโจทย์ เด็กเลือกประเด็นที่สนใจไปจัดนิทรรศการ เช่น เขาสนใจประเด็นมูเตลู ก็ดูว่าในพิพิธภัณฑ์ฯ มีอะไรที่เกี่ยวกับมูเตลู แล้วคุณจะนำมาจัดแสดงยังไง ? ซึ่งคำว่า “มูเตลู” มาจากชื่อภาพยนตร์ของอินโดนีเซีย (เรื่อง Penangkal limu Teluh) กลายเป็นคำที่คนเอามาใช้เป็นวัตถุสิ่งของทางความเชื่อ ซึ่งเด็กก็ทำออกมาได้น่าสนใจ เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้ในแง่ที่ว่าเป็นความเชื่อที่เอามาใช้ เพื่อมีเสน่ห์ เพื่อร่ำรวย นำไปสู่การผลิตลูกปัด กำไล แล้วเขาก็คิดต่อว่านิทรรศการน่าจะเอาสินค้ามูเตลูมาขายด้วย หรือเด็กบางกลุ่มก็ทำเรื่องเพศ พูดถึงตุ๊กตาบาร์บี้ ตุ๊กตาที่คนเล่นกันรู้สึกเป็นของซึ่งเป็นผู้หญิง ถ้างั้นประเด็นเรื่องเพศหญิงจะพูดถึงยังไงได้บ้างให้กระเถิบก้าวหน้าไป ก็เป็นเรื่องดีที่เด็กได้ไอเดีย และเราก็เรียนรู้จากเด็กได้เยอะโดยผ่านตัววัตถุทั้งหลาย
ดร.วินิจ เจ้าของเดิมมองด้านมานุษยวิทยาเหมือนกัน คือสนใจว่าของเหล่านั้นสะท้อนอะไรบางอย่าง ตัวอย่างของสองชิ้น คือหนึ่ง หัวโขนปูนปั้น เขาเขียนเล่าว่า สมัยนั้นพาแฟนไปศาลาเฉลิมไทย คือโรงละครโรงหนังที่สร้างความสุขให้เขาในวัยหนุ่ม เขารู้สึกประทับใจ แล้ววันหนึ่งรื้อทิ้ง เขาไปเจอหัวโขนนี้ในร้านขายของเก่าก็ซื้อเก็บไว้ ก็เป็นตัวแทนซึ่งเชื่อมโยงประสบการณ์ตัวเขากับยุคสมัย ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเขาเอง แต่คือสังคมด้วย ก็เป็นของสำคัญของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นของง่าย ๆ แต่คนอาจมองข้าม กับอีกชิ้นคือ ตู้อ้อยควั่น ของคนที่เป็นแม่ค้าขายอ้อยควั่นในแถบถนนราชดำเนินช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งสมัยนั้น คนขายอ้อยควั่นจะสวย แม่ค้าคนนี้ก็สวย เธอจะแบกมาเป็นตู้กระจก ใส่อ้อยควั่น มีน้ำแข็งวางไว้ เขาก็เขียนเล่าว่า มีพวกขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6 ชอบมาซื้อ ซึ่งเขาว่ามันก็สำคัญเลยเอามา เรียกว่าทุกชิ้นมีเรื่องเล่า แต่บางชิ้นเขาซื้อมารวม ๆ บางทีก็เป็นโครงกระดูกขุดมา ซึ่งทำให้เรามีของหลากหลาย แต่ข้อเสียก็คือบางชิ้นอาจไม่รู้ที่มา ซึ่งในทางพิพิธภัณฑ์ฯ ก็อาจนำไปสู่การอธิบายได้น้อยไปหน่อยว่ามาจากไหน ? ชุมชนไหน ? แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่มุมอื่น ไม่ได้มองในแง่ที่มา เราก็จะเข้าใจมันได้ สามารถศึกษาต่อไปได้ เปลี่ยนแปลงไปอธิบายในหลาย ๆ แง่มุมได้ ไม่ใช่แง่มุมประวัติศาสตร์อย่างเดียว เช่น กำไลกระดูก วันหนึ่งอาจจะถูกมองหรือถูกจัดนิทรรศการในแง่ที่เป็นเครื่องประดับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสิ่งของเราสามารถหมุนเวียนมาจัดแสดงได้ตามแง่มุมของประเด็นหรือตามที่คนสนใจ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ฯ
เนื่องจากเราเป็นพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา ทำให้เราเปิดประเด็นได้กว้างขวางมาก ครั้งหนึ่งเราจัดทำนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” ถามว่าเจ้าชายน้อยคืออะไร ? คนส่วนมากมองในฐานะหนังสือแปล เรื่องเด็ก เรื่องความรัก ในมุมสังคมวิทยามานุษยวิทยา เราก็มองว่าเป็นการเผชิญหน้ากันทางวัฒนธรรมระหว่างเจ้าชายน้อยกับคนพื้นเมือง ประเด็นเรื่องคนอื่น การที่เจ้าชายน้อยเดินทางไปดวงดาวต่าง ๆ เหมือนคนอื่น คนต่างชาติ คนต่างด้าว ที่เราไม่ได้รู้จัก เราไปทำความรู้จักกัน เราอาจจะมองเขาโดยที่เราไม่เข้าใจเขา แต่ถ้าเราสามารถมองเขาอย่างเข้าใจเขา นับถือเขาในฐานะซึ่งเป็นคนที่เท่าเทียมกับเรา ก็ทำให้เรามองเห็นตัวเจ้าชายน้อยในมุมมองที่ต่างจากเดิม ซึ่งก็ดีใจที่คนสนใจในแง่ที่ว่าเราไม่ใช่แค่เชื้อเชิญให้มาดูของสะสมเท่านั้น แต่เราใช้สิ่งของเหล่านี้เป็นเครื่องมือพาไปสู่เรื่องอื่น สู่ประเด็นทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา ซึ่งมันใหญ่ไปกว่านั้น และเป็นประเด็นร่วมสมัย
สืบเนื่องกันมาก็เป็นนิทรรศการ “ฃุนน้อย : เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย – ลายสือไท” เรามองว่าถ้าหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยแปลออกมาสามร้อยกว่าภาษาได้ ก็น่าจะลองแปลเป็นภาษาถิ่นของไทยเราเองได้ ที่ผ่านมาคนเห็นภาษาไทย แต่เราจัดพิมพ์เป็นภาษาถิ่นในประเทศไทย และไปไกลกว่านั้นในแง่ที่ว่าพาย้อนกลับไปสู่ความเป็นภาษาสุโขทัยด้วยการทำเป็นตัวเขียนภาษาสุโขทัย เพราะภาษาสุโขทัยไม่เคยได้ถูกเอามาเขียนใหม่ สุดท้ายอยู่แค่ในจารึก เราก็อยากเอามาเขียนเรื่องราวขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับคนแปลใหม่ ๆ ว่าจะแปลในเรื่องบางเรื่องออกมาให้เป็นภาษาถิ่นได้ยังไง? เช่น ต้นไทรยักษ์ เราก็ใช้คำว่า ต้นง้าว หรือบางเรื่องที่ไม่เคยมีในสมัยสุโขทัยเราก็ต้องคิดหาคำมาใช้ ก็เป็นเหมือนการข้ามวัฒนธรรม ข้ามภาษา ข้ามเวลา ระหว่างนี้เราก็กำลังจัดทำนิทรรศการ “Primate and Me” ซึ่งก็ฉีกไปจากเดิมอีก เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวานรซึ่งมีบรรพบุรุษเดียวกัน ขณะที่ลิงทั้งหลายยังแพร่พันธุ์ มีหลากหลายสปีชีส์ มนุษย์มีเหลือแค่สปีชีส์เดียว คือโฮโมเซเปียนส์ เท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้นเราจะเรียนรู้ชีวิตของลิงได้อย่างไรบ้างเพื่อจะเข้าใจตัวเราเองด้วย ทิศทางการจัดนิทรรศการตอนนี้สามารถทำได้หลากหลายมาก เป็นการระเบิดขึ้นของความรู้ของสาขาหลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจให้แต่ละพิพิธภัณฑ์คิดนิทรรศการออกมาน่าสนใจได้
ในพื้นที่ปทุมธานีหรือในรังสิต ก็มีพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก มีอพวช. (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ) ซึ่งมีตั้ง 4-5 พิพิธภัณฑ์อยู่ในนั้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็มีพิพิธภัณฑ์เซรามิก ต่อไปก็จะมีสวนสัตว์ในพื้นที่ธัญบุรี ซึ่งคนอาจจะมานอนปทุมฯ สักคืนสองคืนเพื่อมาดูพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ให้ได้ครบ
ปทุมธานีจะเป็นจังหวัดแห่งการเรียนรู้ได้เลย เพียงแต่ว่าระหว่างที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาเรื่องการเดินทาง การจัดนิทรรศการหรืออีเวนต์อาจจะไม่มากพอ ต้องมีหัวข้อนิทรรศการน่าสนใจเพื่อดึงคนเข้ามา ถ้าผนวกกับการปรับตัวของจังหวัด ที่จะให้สามารถเดินทางไปได้สะดวก รถสาธารณะเข้าถึงได้ ในอนาคตเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่อาจจะร่วมมือกันจัดเป็นชุดนิทรรศการ จัดในความเชี่ยวชาญต่างกันแต่ในธีมเดียวกัน คนมาดูหลายพิพิธภัณฑ์ในคราวเดียว ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองมีพื้นที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ มีอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ห้องสมุดที่คนทั่วไปเข้าใช้ได้ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้องนิทรรศการ ห้องดนตรี มีสวนสำหรับพักผ่อน ออกกำลังกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ก็มีโรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นทิศทางชัดเจนของมหาวิทยาลัยฯ ที่จะพัฒนาศูนย์เหล่านี้ให้คนเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต”
ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ