ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานฝั่งธนบุรีที่มีความสำคัญควบคู่กับการสร้างบ้านแปงเมืองฝั่งพระนครมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยังคงหลงเหลือมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้อันทรงคุณค่าจำนวนมาก ทั้งเป็นพื้นที่ย่านเก่าที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ หากหลอมรวมเป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียว อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พร้อมด้วยความเข้มแข็งของชุมชนอันเป็นต้นทุนทางสังคมสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ (Gentrification) และส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในย่าน จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชาวชุมชน เพื่อเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในสังคมสมัยใหม่ให้แก่ชาวชุมชน
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานและกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูในพื้นที่ย่านหลากหลายรูปแบบ ร่วมกับประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) และภาคีพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ผลักดันการฟื้นฟูและพัฒนาย่านด้วยตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม “มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” ที่ได้ริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม การสร้างการเรียนรู้ของนิสิตร่วมกับชุมชน การระดมทุนจัดทำพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนสร้างการรับรู้และความภาคภูมิใจของชาวย่านผ่านการใช้งานศิลปะและการเดินมาขับเน้นให้เห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน อันนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อาทิ การมีพื้นที่ศาสนสถาน พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่ส่วนบุคคลภายในย่าน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสานและภาคีพัฒนา เช่น วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดซางตาครู้ส มัสยิดบางหลวง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ฯลฯ
มีการสร้างเป้าหมายของการดำเนินโครงการและกิจกรรมร่วมกัน จัดตั้งมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยมีการจัดประชุมประชาคมฯ เป็นประจำ มีวิทยากรกระบวนการจัดความรู้ซึ่งเป็นชาวชุมชน ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรม มีชุดองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของย่าน และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอยู่เป็นประจำ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในย่านกะดีจีน ได้แก่ ตรอกวัดประยุรวงศ์และตรอกถาน ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ลานริมน้ำหน้าวัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน และตรอกท่าน้ำวัดกัลยาณ์ ชุมชนวัดกัลยาณ์ โครงการปรับปรุงทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โดยในปัจจุบันชุมชนเองเริ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้ด้วยตนเอง เป็นสัญญาณที่ดีในการเกิดการพัฒนา
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในบริบทย่านกะดีจีน-คลองสาน บนฐานแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้และฐานความรู้ ผ่านชุดโครงการ “การวิจัยและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และกลไกความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน” ประกอบด้วย 2 โครงการย่อยคือ “มหาลัยในย่าน: โครงการขับเคลื่อนการเรียนรู้ฐานชุมชน” และ “ศิลป์ในซอย: แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน” โดยมีคำถามในงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “กลไกความร่วมมือ และตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม รูปแบบใด และมีกระบวนการอย่างไร ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของย่านมรดกวัฒนธรรม อันจะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่และสร้างการพลวัตเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”
ตลอดการดำเนินงานขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสานสู่การเป็นพื้นที่นำร่องเมืองแห่งการเรียนรู้ย่านมรดกวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร คณะทำงานได้ทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม “มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับย่านกะดีจีน-คลองสาน ในประเด็นการจัดการมรดกวัฒนธรรม และการพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในพื้นที่มีความสนใจ โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีพัฒนาในรูปแบบคณะดำเนินงานเฉพาะกิจ ได้แก่ กลุ่มปั้นเมือง ในหลักสูตรผู้จัดการมรดก (ทางวัฒนธรรม) และกลุ่ม we!park กลุ่มยังธน และศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ (Innovation for Design Development Center – IDDC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนาสู่พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่รกร้างที่รอการพัฒนา ซึ่งองค์ความรู้และผลลัพธ์สำคัญของโครงการมหาลัยในย่าน ได้นำมาปฏิบัติจริงผ่านการทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมศิลป์ในซอย โดยดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลป์ในย่าน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมกราฟฟิตีคอมมิวนิตี x สวนสานธารณะ กิจกรรมรุกขกรสอนรุกขกรรม และกิจกรรม Station การจัดการขยะ ซึ่งทั้งสามกิจกรรมได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ “สวนสานธารณะ” แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หากเป็นฐานสำคัญในการต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในรูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งคณะทำงานเฉพาะกิจทั้งหมด ร่วมด้วยประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน ตลอดจนสำนักงานเขตคลองสาน สำนักงานเขตธนบุรี ไอคอนสยาม ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่ ได้แก่ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ สมาคมรุกขกรรมไทย บ้านและสวน บางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง และคลองเตยดีจัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างเป็นองคาพยพ ตลอดจนสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับพื้นที่และคนในพื้นที่ ซึ่งตอบรับกับกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกในทุกระดับ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ของตัวแบบ เป็นการสร้างเสาขององค์ประกอบที่จะนำไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ การทำงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เป็นการสร้างฐานที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ และการดำเนินงานและทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์วงกว้างของการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
การขับเคลื่อนการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างเป็นองคาพยพ ตอบรับกับกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกในทุกระดับ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ของตัวแบบ เป็นการสร้างเสาขององค์ประกอบที่จะนำไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ในระยะยาว
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…