“ลำพังแค่การศึกษาในชั้นเรียนกับครูของเราอย่างเดียว ไม่เพียงพอ เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้กับเจ้าของอาชีพจริงๆ หรือผู้มีประสบการณ์โดยตรง”

Start
431 views
12 mins read

ก่อนหน้านี้ผมเป็นวิศวกรที่ประเทศเยอรมนี แต่มีเหตุให้ต้องกลับมาบ้านที่อัมพวา แล้วบังเอิญได้รู้จักคุณพ่อ (บาทหลวง) ที่สอนหนังสือที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี ท่านชวนให้ผมมาสอนที่นี่ ความที่ช่วงนั้นผมรับงานติวเตอร์สอนภาษาเยอรมันและวิชาฟิสิกส์ให้นักเรียนที่ราชบุรีอยู่แล้ว จนพบว่าเราชอบสอนหนังสือให้เด็กๆ ก็เลยตกลงมาสอนประจำที่โรงเรียนนี้ ตอนนี้สอนมาได้ 4 ปีแล้วครับ

ผมเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และเป็นหัวหน้างานหลักสูตรการอาชีพ โดยตำแหน่งหลังนี้ เป็นหลักสูตรที่เปิดให้นักเรียนได้เลือกวิชาชีพที่เขาอยากเรียนเสริมไปพร้อมกับหลักสูตรการศึกษาทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 แผน ได้แก่ แผนศิลป์-ธุรกิจ และแผนศิลป์-กีฬา แต่ละแผนก็จะมีเอกวิชาแยกย่อยออกไป ตั้งแต่ ภาษาอังกฤษ จีนธุรกิจ คหกรรม ไอที ไปจนถึงช่างไฟฟ้า นักเรียนสนใจอยากเรียนวิชาอะไรก็เลือกเอกนั้น

พร้อมกันนี้ทางผมก็จะทำ MOU กับสถาบันต่างๆ ที่เชี่ยวชาญวิชาเฉพาะ เพื่อให้เด็กนักเรียนในแผนได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับสถาบันนั้นๆ ทั้งในรูปแบบส่งเด็กนักเรียนหรือบุคลากรของเราไปเรียนที่สถาบัน และทางสถาบันส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมที่โรงเรียน เช่น ที่เราทำกับมหาวิทยาลัยศิลปากรด้านการอบรมยุวมัคคุเทศก์ ทำเรื่องฝึกอาชีพกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ไปจนถึงเรื่องฟุตบอลที่เราทำกับสโมสรอาชีพของเมืองราชบุรี เป็นต้น

ที่เราทำ MOU แบบนี้เพราะตระหนักว่าลำพังแค่การศึกษาในชั้นเรียนกับครูของเราอย่างเดียว ไม่เพียงพอ เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้กับเจ้าของอาชีพจริงๆ หรือผู้มีประสบการณ์โดยตรง

นอกจากนี้ ไม่เพียงได้เรียนรู้วิชาที่ว่าด้วยพื้นฐานอาชีพ แต่หลักสูตรนี้ยังทำให้เด็กนักเรียนได้ค้นพบความสนใจที่แท้จริงของตัวเองด้วย ถ้าไม่ชอบ ก็อาจหันไปเรียนอย่างอื่น แต่ถ้าชอบในสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ ก็จะง่ายต่อการต่อยอดไปสู่การศึกษาในระดับสูงขึ้นไป

ผมมองว่า pain point หนึ่งของการศึกษาบ้านเราคือ คนส่วนใหญ่มีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนสายอาชีพ หลายคนจึงเลือกที่จะเรียนระดับสามัญ ทั้งๆ ที่บางคนอาจมีศักยภาพไปทางนั้น แต่ก็จำต้องเรียนในสิ่งที่เขาอาจไม่สนใจจริงๆ ซึ่งแตกต่างจากที่ประเทศเยอรมนี ที่ให้ค่ากับการศึกษาในวิทยาลัยวิชาชีพ มีการส่งเสริม และพัฒนาหลักสูตรอย่างเข้มข้นจริงจัง หลักสูตรที่ผมดูอยู่ตอนนี้ จึงเหมือนเป็นพื้นที่กลางที่ทำให้เด็กๆ อาจมองเห็นศักยภาพที่จะไปต่อทางวิชาชีพ พร้อมกับที่พวกเขายังคงเรียนในหลักสูตรสามัญอยู่

แม้จะไม่ใช่คนราชบุรี แต่ความที่เราทำงานด้านการศึกษาในเมืองเมืองนี้ คำถามที่ว่าอยากส่งเสริมให้คนที่นี่รู้เรื่องอะไร คำตอบก็น่าจะเป็นการรู้จักตัวเองและเรียนรู้ที่จะได้รู้เรื่องเมืองของตัวเอง โดยคำตอบนี้มันไม่ใช่แค่คนราชบุรี แต่เป็นทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองของตัวเองทั้งหมด เพราะถ้ารู้จักตัวเองและที่ที่เราอยู่ มันก็ง่ายต่อการต่อยอดด้านอาชีพ การทำมาหากิน การทำธุรกิจ รวมถึงการได้อยู่ในเมืองอย่างเป็นสุข  

อย่างเมืองราชบุรีเอง เรามีเรื่องน่าสนใจให้รู้เยอะมาก ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกเสียดายเล็กน้อยที่เรากลับมีพื้นที่ด้านการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในย่านใจกลางเมืองไม่มากเท่าที่ควร เรามีพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียว ขณะที่ศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนก็จะเป็นพื้นที่ของนักเรียนอย่างเดียว คนทั่วไปที่อาจไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาก็ไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ที่ผมว่านี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ หรืออาคารอย่างเดียวนะครับ เราสามารถทำสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ไปตั้งตามพื้นที่ในเมืองได้เยอะ เอาข้อมูลของเมืองที่เรามีมาย่อยและนำเสนออย่างน่าสนใจ เป็นป้าย เป็นเกม เป็นแลนด์มาร์ค ขณะเดียวกัน โรงเรียนต่างๆ ในเมืองที่มีศูนย์การเรียนรู้ของตัวเอง ถ้าจัดให้มี open house เปิดให้คนอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ได้บ้างในบางวาระ สิ่งนี้ก็สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับเมืองเราได้ไม่น้อย”  

ชวลิต เจียมจรรยา
หัวหน้างานหลักสูตรการอาชีพ โรงเรียนดรุณาราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย