“ก๋งของยายเป็นคนจีนแต่เดิมแกอยู่กรุงเทพฯ ก่อนจะตามย่าล้อม-พี่สาวของก๋ง มาอยู่แก่งคอย ย่าล้อมแต่งงานกับนายอำเภอแก่งคอย และมีที่ดินเยอะ ความที่ย่าล้อมไม่มีลูก ก็เลยแบ่งให้พี่ๆ น้องๆ ก๋งก็ได้ที่ดินจากย่าล้อมมา
ก๋งมีลูก 3 คน โป๊ะ โภคสุพัฒน์ เป็นลูกชายคนโต และเป็นเตี่ยของยาย ฉนวน โภคสุพัฒน์ และนางบุตรจันทร์ อิ่มรังสี ทั้งสามคนนี้เป็นหุ้นส่วนของตลาดแก่งคอยในยุคนั้น โดยอาฉนวน น้องของก๋ง เขาทำโรงหนังแห่งแรกของเมือง ชื่อ ‘แก่งคอยรามา’ แต่ตอนนี้ปิดตัวไปหลายปีแล้ว
ยายเกิดที่ตำบลบ้านป่า อยู่กับคุณย่าที่ทำนาปีเลี้ยงชีพ พอโตขึ้นมา ย่าก็ส่งให้ยายมาเรียนในตัวเมืองแก่งคอย มานอนค้างกับพี่สาวบ้านอาฉนวนใกล้ๆ โรงหนังนี่แหละ สมัยนั้นยังไม่มีการตัดถนน รถราแทบไม่มี ก็ต้องนั่งเรือเป็นหลัก นั่งตั้งแต่ยังเป็นเรือกรรเชียงจนเปลี่ยนมาเป็นเรือติดเครื่องยนต์ สมัยนั้นถ้าจะไปไหนก็ต้องนั่งเรือไป คนแก่งคอยนิยมไปเรียนหนังสือที่อยุธยากันเยอะ เขาก็นั่งเรือกันไป แต่ถ้าจะไปกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เขาก็นั่งเรือมาขึ้นที่ท่าน้ำแก่งคอย แล้วเดินต่อไปที่สถานีรถไฟ นั่งไปลงที่หัวลำโพง
ยายเรียนหนังสือไม่จบ ขึ้นมัธยมแล้วก็คิดถึงบ้าน เลยหนีกลับมาเสียก่อน ยายกลับไปทำนาจนสาว แต่งงานและมีลูกที่บ้านป่า จนสามียายเสีย ยายเลยไม่ทำนาต่อแล้ว ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองแก่งคอยโดยไปขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ในโรงงานกะรัต แล้วมานอนบ้านเตี่ยตรงท่าน้ำนี้ (ตลาดท่าน้ำแก่งคอย) บ้านเตี่ยอยู่หลังสุดท้ายของตลาด อยู่ติดแม่น้ำ สมัยก่อนตรงนี้คึกคัก เพราะเป็นท่าน้ำหลักของเมือง พ่อค้าแม่ค้าจากอำเภอต่างๆ เขาจะเอาสินค้ามาขึ้นฝั่งที่นี่ บางคนก็มาจอดเรือเพื่อรอระดับน้ำข้ามแก่งละแวกนี้ ที่ชื่อ ‘แก่งคอย’ ก็มาจากตรงนี้ เขามาคอยแก่งอยู่แถวนี้
ตอนที่ยายมาอยู่บ้านนี้ การเดินทางและขนส่งทางเรือหายไปเยอะ ถนนมิตรภาพสร้างเสร็จสักพักใหญ่แล้ว และรถราก็กลายเป็นพาหนะหลัก บ้านตรงนี้เลยเงียบหน่อย แต่ก็ยังมีการค้าขายกันคึกคักอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะ ซอยบ้านยายแทบไม่มีใครเปิดร้านแล้ว กระทั่งในตัวตลาดหน้าสถานีรถไฟก็เงียบลงไปเยอะ ก็เข้าใจได้ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วน่ะ จะให้ทำยังไงได้
ยายมีลูกสามคน ลูกสาวคนโตเขาอยู่กับสามีที่บ้านป่า เมื่อก่อนยายอยู่กับลูกคนเล็กที่บ้านหลังนี้ แต่เขาอายุสั้นกว่ายายก็เลยจากไปก่อน ทุกวันนี้ลูกคนกลางมาอยู่ด้วย”
คุณยายสดสี โภคสุพัฒน์
ชาวตลาดท่าน้ำแก่งคอย