“หลังเรียนจบผมไปเป็นทหารมา 25 ปี แต่ความที่เราโตมากับธุรกิจปลาส้มของแม่ และที่บ้านก็มีผมกับน้องสาวกันสองคน ก็เลยตัดสินใจลาออกมาสานต่อกิจการ โดยผมกับน้องจะอยู่โรงงานช่วยแม่ทำปลาส้ม ดูแลเรื่องวัตถุดิบ และการจัดส่ง ส่วนแฟนผมไปเปิดร้านขายที่ตลาดสดแม่ทองคำที่ตำบลแม่ต๋ำ
แม่ทองปอนมาจากชื่อแม่ผม แต่ไหนแต่ไรคนพะเยาก็ทำปลาส้มกินหรือขายกันเล็กๆ อยู่แล้ว จนช่วงหนึ่งที่รัฐบาลส่งเสริมสินค้า OTOP เราจึงต่อยอดเป็นธุรกิจจริงจัง เราเป็นเจ้าแรกในพะเยาที่นำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการทำฉลากและแบรนดิ้ง อย่างคำว่าปลาส้มไร้ก้าง เราก็เป็นเจ้าแรกที่หยิบมาใส่ในชื่อ เป็น ‘ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน’ จริงๆ เจ้าอื่นเขาก็ไร้ก้างครับ แต่เราหยิบมาใส่ก่อน เป็นแบรนดิ้งให้คนจดจำ
สมัยแม่ยังสาวๆ ก็ใช้ปลาจากในกว๊านพะเยานี่แหละครับ แต่พอคนหันมาทำปลาส้มขายกันเยอะ ปลาในกว๊านเลยไม่พอ ทุกวันนี้ผู้ประกอบการแทบทุกราย ต้องซื้อปลาจากสะพานปลาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาทำปลาส้ม เขาก็ส่งมาเป็นรอบๆ เราก็เอาไปเข้าห้องเย็น แล้วแปรรูป
กรมประมงเคยพยายามส่งเสริมให้ใช้ปลาพื้นถิ่นอยู่เหมือนกันครับ โดยเพาะพันธุ์ปลาจีนให้เป็นวัตถุดิบหลัก แต่ปลามันโตแต่หัว เอามาทำปลาส้มไม่ได้ หรือผมก็เคยทดลองใช้ปลาที่หาง่ายอย่างดอร์ลี่มาทำด้วย แต่ปลาดอร์ลี่มันไม่มีเกล็ด พอมาทำแล้วเป็นเมือก เนื้อไม่จับกัน ก็เลยกลับไปใช้ปลาจากสะพานปลาดีกว่า
แต่สิ่งที่ยังบ่งบอกว่าปลาส้มเป็นของพะเยาอยู่คือไส้ปลาครับ เพราะไส้ปลาที่มาจากที่อื่นมันคาว เอามาปรุงไม่อร่อย เราก็เลยซื้อไส้ปลาจากชาวบ้านที่ทำประมงในกว๊านนี้แหละครับ ส่วนกระเทียมก็ใช้ของเกษตรกรในพะเยา
ทุกวันนี้นอกจากขายที่โรงงานตรงนี้ ก็มีหน้าร้านที่ตลาดสดแม่ทองคำ แล้วก็ไปวางตามร้านต่างๆ ในพะเยา ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็มีคนมาสั่งไปขายเหมือนกัน อย่างที่เชียงใหม่ เชียงราย และลำปางก็เยอะ นอกจากนี้ก็มีเพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/PraSomThongPon/ รับสั่งซื้อแบบออนไลน์ ส่งทั่วประเทศ
ส่วนตัวผมชอบสะสมอาวุธโบราณ ยันต์ และของเก่า และก็ชอบดื่มกาแฟด้วยครับ เลยเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ไว้ที่โรงงาน เอาของสะสมมาจัดแสดง ใช้เป็นที่รับแขก หรือผมใช้นั่งพักผ่อนเวลาที่งานทำปลาส้มไม่เยอะ แต่ร้านกาแฟผมไม่ได้เปิดเป็นทางการนะครับ
คือปกติไม่ขาย จะขายเฉพาะตอนไม่ปกติ อย่างถ้ามีคณะมาศึกษาดูงานที่โรงงาน ผมก็เปิดขาย (ยิ้ม)”
นิวัฒน์ จำรัส
ทายาทธุรกิจปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน