สิ่งที่เราทำตรงนี้สามารถเป็นอาชีพต่อไปให้ลูกหลานชาวปากพูนด้วย พวกเขาจะได้ไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานที่ไหน

Start
425 views
8 mins read

“ก่อนหน้านี้ เวลาชาวประมงในปากพูนจับสัตว์ทะเลมาได้ ก็มักจะเจอปลาตัวเล็กๆ อย่างปลาจวดหรือปลาดาบเงินติดมาด้วย เขาก็จะแยกพวกมันไปปล่อยลงทะเล เพราะปลาพวกนี้ขายไม่ได้ หรือถ้าขายก็จะได้ราคาไม่คุ้ม เพราะคนรับซื้อเขาจะเอาไปทำอาหารสัตว์

จนมีช่วงหนึ่งที่เศรษฐกิจในชุมชนซบเซา ชาวบ้านก็มาคุยกันว่าเราจะทำยังไงจะหาเงินเพิ่มได้ ก็เลยคิดถึงการเอาปลาตัวเล็กๆ มาแปรรูป เพราะคนแก่ๆ อย่างป้าและแม่บ้านในชุมชนมีกันหลายคน ส่วนมากอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ถ้ารวมตัวกันมาแปรรูปอาหารทะเล นอกจากมีรายได้เพิ่มเข้ามา ยังได้เจอเพื่อน ได้มีอะไรทำด้วย

ทางกรมประมงจังหวัด และผู้ใหญ่กระจาย (กระจาย ชวาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลปากพูน) ก็มาช่วยสนับสนุนเราเยอะ ทั้งการจัดหาอุปกรณ์ ตู้แช่ โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และวิทยากรมาให้ความรู้ พวกป้าก็ลงแรง โดยรวมตัวกันที่แพคุณทักษิณ (ทักษิณ แสนเสนาะ) เพราะคุณทักษิณเขารับซื้อปลาจากชาวบ้านอยู่แล้ว ถ้ามีปลาตัวเล็กๆ ก็ส่งมาให้พวกป้าแปรรูปได้เลย

มีปลาอะไรบ้างหรอ… เยอะค่ะ ปลาแมว ปลาหางแข็ง ปลากุเลา ปลาจวด ปลาหมึก และกุ้ง ส่วนการแปรรูปก็มีหลากหลาย ถ้าอ้วนเนื้อเยอะก็เอาไปทำปลาหวาน ถ้าผอมเนื้อน้อยไปทำปลาเส้น ปลากระบอกเอาไปทำปลาแดดเดียว อย่างวันนี้ที่ป้าทำคือแล่ปลาจวดไปอบที่โรงเรือนเพื่อไปทำปลาเส้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่แต่ละวันเลยว่าเราได้ปลาอะไรมา เป็นงานวันต่อวัน ทำเสร็จก็เข้าตู้แช่ส่งขาย

หลักๆ ก็มีกันอยู่ 5-6 คนค่ะ แบ่งหน้าที่กันทำเลย คนหนึ่งขอดเกล็ด อีกคนล้วงไส้ อีกคนแล่ ก็สลับกันทำ แม่บ้านบางคนมีภาระที่บ้าน ก็เอาปลากลับไปทำที่บ้านได้ ทำเสร็จก็มีคนมารับไป ก็เก็บในตู้แช่ที่แพของทางกลุ่มเราก่อน แล้วก็มาดูกันว่ามีลูกค้าสั่งไว้จำนวนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งเราก็ขายช่องทางออนไลน์ด้วย ทุกวันนี้ทำไม่ทันขายค่ะ ออร์เดอร์เยอะ (ยิ้ม)   

ทางกลุ่มมีร้านอาหารด้วยนะ เพราะพอมีลูกค้าติดใจ เราก็คิดว่าในเมื่อมีทั้งพื้นที่และมีแรงงานคนอยู่แล้ว ก็น่าจะเปิดเป็นร้านอาหารแบบจองโต๊ะเข้ามา เป็นอาหารพื้นบ้านที่นำวัตถุดิบจากปากพูนของเรามาทำ และก็มีอาหารทะเลแปรรูปที่พวกป้าทำเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย นักท่องเที่ยวบางคนมาล่องเรือชมอุโมงค์ปลาโกงกาง เขาก็แวะมากินที่นี่

ป้ามาที่นี่ทุกวัน อยู่บ้านเฉยๆ แล้วป้าเฉา เดี๋ยวป่วยเอา มานั่งทำงานที่นี่ ได้ออกกำลังกาย มีรายได้ และมีเพื่อนคุยทั้งวัน ที่สำคัญ สิ่งที่เราทำตรงนี้ยังสามารถเป็นอาชีพต่อไปให้ลูกหลานชาวปากพูนด้วย พวกเขาจะได้ไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานที่ไหน”

ป้าแป้น-กัญยา สุวรรณรวลศรี
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลปากพูน (ความสุขของชาวเล)
https://www.facebook.com/profile.php?id=100054930977507

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย