สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงหน่วยย่อยๆ ของการพัฒนาเมืองได้เข้มแข็งที่สุดคือการทำให้เมืองมีบรรยากาศของการเรียนรู้

Start
445 views
15 mins read

“พะเยาเรามีทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากนะครับ ปัญหาก็คือที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถพัฒนาต้นทุนทางคุณค่าให้เป็นมูลค่าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็อาจจะเพราะเจ้าของต้นทุนไม่รู้จะแปลงมันให้เป็นเงินอย่างไรดี ไม่รู้จักตลาด หรือเพราะขาดการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

เป้าหมายหนึ่งของมหาวิทยาลัยพะเยานับตั้งแต่ก่อตั้งคือการบริการชุมชน ร่วมงานกับชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมง ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อใช้ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัยช่วยยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เรามีโครงการและหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้อยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยสัตว์ทดลอง ศูนย์เครื่องมือกลาง เป็นต้น

แต่ก็เช่นเดียวกับที่เรามองเห็นถึงความไม่เชื่อมประสานที่เกิดขึ้นในเมือง ในระดับมหาวิทยาลัย เราก็พบว่าแต่ละหน่วยงานก็มีการทำงานไปในทิศทางของตัวเองแบบต่างหน่วยต่างทำ จนมาปี พ.ศ. 2561 ที่เราเห็นตรงกันแล้วว่าทุกหน่วยงานต้องประสานความร่วมมือ จนเกิดการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำงานเชื่อมประสานและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตามแต่ ทั้งอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงหน่วยย่อยๆ ของการพัฒนาเมืองได้เข้มแข็งที่สุด คือการทำให้เมืองมีบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งก็ตรงกับที่ทาง บพท. พยายามขับเคลื่อนโครงการในเมืองต่างๆ อยู่ และก็ประจวบเหมาะกับที่เชียงราย เพื่อนบ้านของเรา เพิ่งได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่ายของยูเนสโก เราจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะถอดบทเรียนจากเขา เพื่อมาปรับใช้ในเมืองพะเยาให้มีศักยภาพมากที่สุด

บทบาทหลักของผมต่อโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้คือ การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหากระบวนการที่ทำให้โครงการเดินต่ออย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพางบวิจัยในอนาคต เพราะเรามีบทเรียนจากหลายโครงการแล้วว่า แม้หลายโครงการจะมีศักยภาพเพียงใด แต่เมื่องบประมาณจากแหล่งทุนหมดตามวาระ โครงการก็ไม่สามารถเดินต่อได้

ก็เลยคิดกันว่าในช่วงปีแรกที่ทำ เราต้องรวมกลุ่มภาคเอกชนในเมืองให้เข้มแข็งให้ได้ก่อน คือถ้าเอกชนต่อติด พวกเขาจะเห็นประโยชน์และมีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญการเชื่อมร้อยกับราชการท้องถิ่นและชุมชนก็จะง่าย

ช่วงแรกเราจึงเน้นการสร้างความรับรู้ในเมือง ผ่านการจัดประชุม หรือกิจกรรมที่ชักชวนให้ตัวแทนจากหน่วยต่างๆ อย่างหอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอี สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ มาร่วมกัน สร้างบทบาทให้ตัวแทนทุกฝ่ายเป็นเหมือนคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองในรูปแบบไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ไม่ถึงกับบังคับให้ใครมาเป็น แต่เป็นการสร้างกลไกให้ทุกฝ่ายเห็นว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเมือง

ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดีทีเดียวครับ ยิ่งเฉพาะเราวางกลุ่มเป้าหมายคือการช่วยยกระดับผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงองค์ความรู้และทรัพยากรด้วย ที่สำคัญอีกอย่างคือ คนที่มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ หาได้มาจากฝั่งมหาวิทยาลัยของเราเลย แต่ก็เป็นคนพะเยาที่มีองค์ความรู้เฉพาะมาร่วมแบ่งปันเป็นหลัก ทางเราช่วยเหลือแค่ข้อมูลเชิงวิชาการ และการเป็น facilitator อำนวยความสะดวกให้กิจกรรมเกิดขึ้นเท่านั้น และอย่างที่บอก พอเราเชื่อมโยงหน่วยทำงานในเบื้องต้นได้สำเร็จ การร่วมมือกับรัฐจึงไม่ยาก อย่างล่าสุดโครงการเราก็ได้ความร่วมมือทั้งเทศบาลเมืองพะเยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการขับเคลื่อนเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

ผมมองว่าการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็คล้ายๆ กับการที่ผลิตภัณฑ์ได้ติดฉลาก OTOP นั่นแหละครับ เพราะการได้ประดับสิ่งนี้ ไม่ได้การันตีว่าคุณจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่ามันคือแบรนด์ที่ทุกคนรับรู้ ยิ่งพอเมืองมันเชื่อมโยงกับมาตรฐานระดับนานาชาติของยูเนสโก คนในพื้นที่รับรู้ก็เกิดความภาคภูมิใจ สิ่งที่ตามมาคือเขาก็อยากมีส่วนร่วม แรงใจก็เริ่มมา

ที่สำคัญพอเราอยู่ในเครือข่าย คนจากทั่วโลกก็จะรู้จักเรา เมืองในเครือข่ายก็จะมาเยี่ยมชม หรือแบ่งปันกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองมาให้เราได้ปรับใช้ ผมมองเห็นประโยชน์แบบนี้ หนึ่ง. พะเยาเป็นที่รู้จัก สอง. ทำให้เมืองมีมาตรฐานในการจัดการและพัฒนา และสาม. ช่วยยกระดับการทำงานให้ผู้คนในเมือง

พอบุคลากรที่ขับเคลื่อนเมืองได้รับการยกระดับ เมืองก็จะมีพลวัต สุดท้ายมันก็กลับมาที่เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น จากเมืองที่เราตระหนักในคุณค่าอยู่แล้ว ก็สามารถสร้างมูลค่าได้ในที่สุด”

ผศ. ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา
และนักวิจัยในโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย