“พื้นที่เขตคลองสานมี 34 ชุมชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนแบ่งกันดูแล 4-6 ชุมชน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และลักษณะของชุมชน ในชุมชนก็มีในรูปของคณะกรรมการชุมชน จัดตั้งตามระเบียบเพื่อดูแลลูกบ้าน เมื่อมีเรื่องต้องประสานงานเราก็จะประสานผ่านคณะกรรมการชุมชน ส่งเสริมการอยู่อาศัยในชุมชนห้าด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพ เศรษฐกิจ อนามัย
การแบ่งชุมชนมีหลายประเภท ทั้งชุมชนเมือง เคหะชุมชน ชุมชนชานเมือง ชุมชนแออัด จริงๆ เรามองว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง อาจจะเป็นชุมชนเมือง แต่ถ้าเข้าไปในชุมชนจริงๆ ริมถนนเป็นถนนใหญ่ก็จริง แต่พอเข้าซอยไป บ้านเรือนเขาอยู่ติดๆ กัน โดยเฉพาะคลองสานเป็นพื้นที่เก่า บ้านก็จะเป็นบ้านไม้ อยู่กันแน่น ยังใช้คำว่าชุมชนแออัดอยู่ ทีนี้ในส่วนของการพัฒนาเมืองที่เข้ามา ชุมชนอาจจะตามไม่ทัน หรือบางครั้งชุมชนไม่ใช่ที่ดินของเขาเอง เขาพยายามที่จะตามให้ทัน หรือบางทีชั้นอยู่สบายดีแล้วก็ไม่ต้องการอะไร หรือบางพื้นที่เขาขายที่เพื่อไปทำคอนโด ทำหมู่บ้านจัดสรร เขาก็ออกนอกพื้นที่ไป เรื่องของการพัฒนาเราต้องเข้าไปตามบริบทชุมชน ซอยนี้อาจจะต้องการแบบนึง เข้าไปอีกซอย ทั้งๆ ที่ซอยติดกัน อาจจะต้องการอีกแบบ หลักของการพัฒนาชุมชนก็คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจคือต้องเข้าใจว่าชุมชนมีบริบทยังไง ลักษณะชุมชนเป็นยังไง คนทำงานอะไร สภาพพื้นที่มีความต้องการอะไร เข้าถึงคือเราต้องเข้าถึงเขา เข้าไปดูในพื้นที่ว่าเป็นยังไง บางทีเข้าไป อาจจะเห็นใจ แต่ด้วยระเบียบทำไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีประนีประนอม คืออย่างแรกเราต้องเข้าใจ
โครงการขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสาน สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ จริงๆ กะดีจีนเป็นพื้นที่เขตธนบุรี ต่อเนื่องมาจากคลองสาน ผมมองว่าเขตคลองสานเป็นพื้นที่เก่า มีบ้านเจ้าขุนมูลนายแต่ดั้งเดิม ปัจจุบัน โครงสร้างบ้านเรือนสถาปัตยกรรมเป็นในรูปแบบโบราณ บางบ้านก็รื้อไปแล้ว บางบ้านชำรุดทรุดโทรม ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่น่าจะฟื้นฟูอนุรักษ์ ความน่าสนใจของย่านกะดีจีน-คลองสานคือเป็น 3 ศาสนา 4 เชื้อชาติ คริสต์ อิสลาม ไทยพุทธ ไทยจีน ในแนวเส้นทางก็มีทั้งโบสถ์คริสต์ มัสยิด วัด ศาลเจ้า เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว พอเอาความเป็นพื้นที่เรียนรู้เข้าไปก็ต่อยอดได้ เพราะถ้าเป็นท่องเที่ยวอย่างเดียว อย่างโควิดที่ผ่านมาเราไม่มีนักท่องเที่ยว ก็คือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่พอเป็นการท่องเที่ยวเรียนรู้ มันดูน่าสนใจ อย่างแรกเลย เรียนรู้พื้นที่ก่อน ให้ความรู้ทางพื้นที่ว่ามีดีอะไร ประวัติความเป็นมา อย่างคลองสานติดแม่น้ำ คนไทยสมัยก่อนเดินทางทางเรือ ดังนั้นก็มีท่าเรือ โรงเกลือ โรงน้ำปลา ที่ไปทางบกอาจจะลำบาก แล้วทางพื้นที่แม่น้ำอย่างฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดปลา สะพานปลา มีการแลกเปลี่ยนค้าขายกัน เชื่อมโยงเป็นเส้นทางการค้าการอยู่อาศัย เมื่อมีชุมชนก็ต้องมีสถานที่สำคัญ สถานที่ทางศาสนา พอเป็นแหล่งเรียนรู้เราสามารถใส่พวกนี้ได้ แล้วก็เนื่องจากว่าเป็นชุมชน ระยะทางถือว่าเดินถึง ทำเป็นเส้นทางได้ ถ้ามองระยะทางอาจจะยาว แต่ระหว่างทางมีจุดแวะ จุดชมวิว ชมสวน ชมวัด เราดีไซน์เส้นทางไว้ ประชาสัมพันธ์เส้นทางผ่านทางเพจของสำนักงานเขตเอง คณะกรรมการชุมชนมีการจัดประชุมทุกเดือนเราก็แจ้งในที่ประชุมว่ามีอย่างนี้ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ หรือมีการจัดงาน เทศกาลถนนคนเดิน เราก็ประชาสัมพันธ์ไปล่วงหน้า
เรามีเส้นทางเดินยาวๆ ครึ่งวัน หนึ่งวัน คือนักท่องเที่ยวมา จะมีปักหมุดสถานที่สำคัญ บางคนรู้ข้อมูลจะไปตรงจุดนั้นๆ เลย พอไปถึงจุดนั้น ได้ฟังเรื่องราว เขาอาจจะไปจุดต่อไปได้ กับอีกที อาจจะเดินไม่ไหว ก็มีเส้นทางจักรยานหลักหนึ่งเส้นจากย่านกะดีจีน ขี่เข้ามาจากถนนพญาไม้ ใกล้ๆ สะพานพระปกเกล้า หรือบางทีข้ามเรือมาจากท่าดินแดง ปั่นจากท่าดินแดงเข้ามาทางถนนสมเด็จเจ้าพระยา ซอยโรงเกลือ ปั่นมาเรื่อยๆ เข้าถนนเจริญนคร คือในพื้นที่เขตเราปักหมุดแหล่งสถานที่สำคัญ คนก็ดีไซน์เส้นทางมาได้ ส่วนตัวอยากแนะนำเส้นถนนสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากเขตคลองสานเป็นสถานนิวาสเดิมของสมเด็จย่า มีอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ สวนสมเด็จย่า เป็นกึ่งสวนสาธารณะ เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย มีความร่มรื่น ใกล้เคียงก็จะมีวัด มัสยิด ศาลเจ้า เรียกว่าครบถ้วน และมีร้านอาหาร คาเฟ่เป็นจุดเช็คอินเพิ่มเข้ามา
ในส่วนของภาคราชการ แนวทางพัฒนาชุมชนคือต้องสอบถามคนในพื้นที่ก่อน เพราะเขาอยู่ของเขาอาจจะมีความสะดวกสบายอยู่แล้ว การจะเอานักท่องเที่ยวเข้าไปเลยหรือดำเนินการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมีผลกระทบต่อเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเขตเองก็รับนโยบายการจัดถนนคนเดินกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน เราก็ไปเลือกจุดตรงใกล้เคียงสวนสมเด็จย่าทำเป็นถนนคนเดินตรอกดิลกจันทร์ มีร้านค้ามา 130 กว่าร้าน คนมาขายก็ชุมชนดำเนินการ เขตประสานงาน พูดคุยรูปแบบการจัดงาน การมีส่วนร่วมของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร้านค้าส่วนนึงก็คนที่อยู่ในชุมชน เขาอาจมีร้านอยู่แล้ว หรือมีฝีมือที่จะทำอาหาร ทำของใช้ อีกส่วนคือพื้นที่ข้างเคียง มาขอล็อกค้าขายเพิ่มเติม อย่างมีอยู่เจ้านึง ปกติขายอย่างอื่น แต่พองานนี้ เขาทำผัดไทยขาย ซึ่งพอจบงานไป ผัดไทยเจ้านี้ก็หากินไม่ได้ละ หรืออย่างเช่นตอนนี้ที่มีการพัฒนาพื้นที่เอกชนข้างโรงเกลือซึ่งเดิมเจ้าของที่ปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้าง คืออย่างที่บอก เขตมีระเบียบราชการอยู่ พอมีภาคประชาสังคมเข้ามาดำเนินการ พูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ เจ้าของที่ยินยอม เราก็สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ ซึ่งพอพื้นที่ได้จัดกิจกรรมกันแล้ว คนในชุมชนเองก็มาพูดคุยว่า อยากได้ดนตรีในสวน ฉายหนังกลางแปลง ก็ลองคุยกันดูว่าควรจะนำหนังเรื่องอะไรมาฉาย หรือจะมีผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างมั้ยก่อนดำเนินกิจกรรม ก็ต้องมีการพูดคุยกันก่อนว่าคนในพื้นที่โอเคมั้ย ควรจะจัดช่วงไหน กี่วัน พอฟังเสียงประชาชนก็เข้ากับนโยบาย อย่างน้อยจัดแล้วคนก็จะมา”
ยศธน ต้นโพธิ์ทอง
นักพัฒนาสังคมชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตคลองสาน
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…