หัวหินดึงศักยภาพสำคัญของเมืองตากอากาศมาเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมด้วย 5 ทุนคือ ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนสังคม และทุนเศรษฐกิจ

“แปลงต้นทุนเป็นต้นไม้แห่งการเรียนรู้”

               บุคลิกของหัวหินคือเมืองราชินีตากอากาศ ซึ่งดร.ศิวัช บุญเกิด หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาเทศบาลเมืองหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” จำกัดความ “หัวหิน” ว่าเป็นเมืองตากอากาศ ไม่ใช่เมืองชายทะเล นัยว่าถอดคำมาจากดีเอ็นเอของเมืองที่เป็นวัง เจ้า หาด ตากอากาศ เป็นการชวนคืนสู่รากเหง้า คืนสู่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากดีเอ็นเอที่ส่งให้บุคลิกเมืองมีความผู้ดี สงบนิ่ง มาพักผ่อนสบายใจ รู้สึกปลอดภัย อยู่ในสังคมที่อารยะ

               ในฐานะรองปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดเมืองพัทยา) ผู้สวมหมวกหัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ดร.ศิวัชนำทีมนักวิจัยและข้าราชการเทศบาลเมืองหัวหินดึงศักยภาพสำคัญของเมืองตากอากาศหัวหินมาเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมด้วย 5 ทุนคือ ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนสังคม และทุนเศรษฐกิจ อันนำมาซึ่งหลักสูตรท้องถิ่นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และการฉีดวัคซีนทางสังคมที่ทำให้หัวหินล้มแล้วลุกไว

ปัจจัยสำคัญในกระบวนการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นคืออะไร?

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือคนที่เป็นเจ้าของ ต้องเข้าใจศักยภาพของตัวเอง สำหรับผมคือ 5 ทุนสำคัญ ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนสังคม และทุนเศรษฐกิจ ที่ต้องไปสืบไปพบ ซึ่งทุนมนุษย์อย่างปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของภูมิปัญญา รายละเอียดต่างๆ เช่น ความสามารถในการตัดต่อกิ่งไม้ ทำขนม ครูทางดนตรี ครูร่ายรำ ครูร้องเพลง ที่หัวหินมีเยอะมาก อย่างที่ศูนย์นาฏศิลป์หัวหิน ครูคณิตศาสตร์ที่ชอบรำ เขามีความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จากรวมกลุ่มกันไปรำถวายสักการะหน้าวังไกลกังวล ตอนนี้ใหญ่โตมีเครือข่าย 4-500 คนทั่วประจวบคีรีขันธ์ บางปีมีคนไปรำที่อุทยานราชภักดิ์ 4-500 คน บางปีเป็นพันคน แล้วได้รางวัลของกระทรวงวัฒนธรรมเยอะแยะ ออกสื่อหลายช่อง สิ่งนี้เกิดจากเราเข้าใจทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม แล้วเรานำคนเหล่านี้มาทำกิจกรรม ซึ่งก็คือทุนวัฒนธรรม เป็น soft power ที่เพิ่มคุณค่าต่อได้ การที่คนชอบนาฏศิลป์มารวมกัน เราไม่ปล่อยให้นาฏศิลป์เป็นแค่นาฏศิลป์ นางรำของศูนย์นาฏศิลป์หัวหินเป็นนางรำไร้ถัง เขารำไปรำมาที่บ้านถังขยะหาย เพราะเราใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะเข้าไป และใส่เรื่องความเกื้อกูล มันลดความเหลื่อมล้ำได้ดีด้วย อันนี้สำคัญมาก มีตั้งแต่คนขับรถสองแถว แม่ค้าส้มตำ คนขายสลัด เจ้าของธุรกิจร้อยล้านพันล้าน ไปรำกันอยู่ พวกที่มีเยอะก็บริจาคเยอะ มีน้อยก็ใส่น้อย มันลงตัวมาก ไปเห็นแล้ว โอ้โห ภูมิใจ มันเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม เปิดโอกาส เปิดความเข้าใจ ผมทำโมเดลนี้ตอนจบปริญญาเอกไทยศึกษา มานุษยวิทยาการเมือง เลยเข้าใจโครงสร้าง วิธีคิด ที่ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาได้หลายศูนย์เรียนรู้เลยครับ เราพบว่าทุนมนุษย์ ทุนธรรมชาติ ทุนเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม เช่น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อาสาสมัครสิ่งแวดล้อม มีคนที่เก่ง คนที่เสียสละอยู่นะ แต่เวลาเรามองในเชิงสังคม มองไม่เห็นเขา มองเห็นแต่อสม. แต่มองไม่เห็นรายละเอียดของอสม. เวลาเราลงพื้นที่เครื่องมือนี้ไปสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนในกลุ่มเอง เรียนรู้กันเองแล้วก็เอาคนในกลุ่มไปเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ก็เกิดทักษะที่จะอยู่ร่วมกัน เห็นอกเห็นใจกัน อันนี้ผมถอดบทเรียนมาจากประเพณีลอยกระทง ประเพณีไม่ใช่แค่ไปเดินเวียนแล้วกลับมาลอยกระทงที่บ้านนะ ไม่ใช่แค่การจัดงาน แต่จิตวิญญาณอยู่ที่การจัดคนให้เข้าใกล้ธรรมชาติ ตัดผม ตัดเล็บ เอาเงินใส่กระทงนิดหน่อย ไปขอขมาแม่น้ำเจ้าแม่คงคา ที่จริงแล้วเราเอาคนไปดมแม่น้ำสายชีวิตของตัวเองที่มันเน่ามันเสียให้รู้ว่า แม่น้ำสายชีวิตของเรามาจากอะไร แล้วเอาไปปรับปรุงตัวเองที่บ้าน ซึ่งก็คือกำลังคืนชีวิตสายน้ำผ่านกลไกทางวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่กลไกกำกับทางสังคม ซึ่งผมถอดเอามาใช้กับศูนย์นาฏศิลป์อย่างละเอียดละมุน

หัวหินเองมีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดีมากอยู่แล้วด้วย

หาดทรายหัวหิน ดูก็เหมือนกับที่อื่น แต่แตกต่างกับที่อื่น คุณลองไปเดินดู ทรายละเอียดมาก ขาวมาก ที่เห็นเงาวับๆ คือเกล็ดกำมะถันกับเกล็ดฟอสฟอรัส ซึ่งมีคุณลักษณะ ถ้าเราถอดรองเท้าเดิน มันไปกระตุ้นต่อมประสาท ทำให้ระบบสูบฉีด ที่เราเห็น มันไม่ใช่แค่หาดทราย สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เรากำลังคืนตรงนี้ให้กับชุมชน กำลังทำ Learning Space คุณไปเรียนรู้กับทรายที่นี่ก็ได้ แล้วคุณไปนั่งที่ชายหาดหัวหิน ไม่เหนียวตัว เหตุผลก็คือ ที่หัวหินเป็นการปะทะพอดีระหว่างลมทะเลกับลมบกประมาณหนึ่งกิโลเมตร ลมบกพัดเข้ามา ลมทะเลพัดไปอีกทาง เหมือนหน้าจั่วเรือนไทย ฉะนั้นตัวไม่เหนียว ถึงบอกว่าเป็นเมืองราชินีตากอากาศ

แต่ก็มีคนบอกว่าหัวหินหาทางเดินลงชายหาดยาก

เหตุผลก็คือ ในเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติเวลาใช้ต้องรอเวลาฟื้นตัว ป่าไม้ไม่ได้แปลว่าต้นไม้นะ แปลว่าสัตว์ป่า แม่น้ำ ลำธาร ฯลฯ ฉะนั้นการรักษาชายหาดคืออย่าปล่อยให้ชายหาดถูกเหยียบย่ำมาก ไม่ใช่หาดหัวหินเพื่อคนทั้งโลกนะ เข้าถึงได้ยากหน่อย ระบบนิเวศก็เซฟตัวมันเอง บางป่าไม้ปิดเพื่อปล่อยให้เวลาฟื้นตัว อันนี้คือหลักการทั่วไปที่เป็นสากล เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ระบบกลไกในมือที่มองไม่เห็นระบบเศรษฐกิจเหล่านี้พยุงไว้ แต่พอท้ายที่สุดห้องตามโรงแรมก็เต็ม เราเอาเงินที่เกิดจากส่วนต่างในความสามารถในการรักษาในการค้าขายของเขามาเติมส่วนอื่นๆ ของสังคมที่เสื่อมทรุด เราจัดพื้นที่สาธารณะโดยใช้กฎหมายเข้าไปกำกับ โรงแรมดูแลส่วนหน้าหาดของเขาให้สะอาด แต่เขาจะไปตั้งอะไรไม่ได้นะ หน้ามรสุมเขาก็จัดทีมลงไปทำความสะอาด ที่พัทยากับที่หัวหิน แถวตะวันออกกับตะวันตก เดี๋ยวตุลาคมจะกวาดรากไม้เศษไม้มาทิ้งไว้ที่นี่ แต่ช่วงสิงหาคมจะกวาดไปทางโน้น มันขึ้นอยู่กับการไหลเวียนของน้ำ มรสุม ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำให้เป็นอื่นไม่ได้ เหตุผลของความสกปรกนี้มันหล่อเลี้ยงชีวิตในระบบธรรมชาติ ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปลา ไลเคน เป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูลกัน สัตว์น้ำมาเติบโตตรงนี้ มีอาหาร ถ้าเราไปทำมันสะอาดมาก ระบบนิเวศชุดอื่นจะไป เราให้นักวาริชมาศึกษา มาดูนิเวศชายฝั่ง ทำงานกับมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เราเข้าใจว่าต่อไปสิ่งสำคัญที่สุดที่หัวหินต้องรักษาคือภาพของชายหาด เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว แค่รักษาไว้ ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ว่าเมืองพัฒนาไปขนาดไหน ต้นทุนยังอยู่ การพัฒนาคือการอยู่เฉยๆ ไม่ต้องพัฒนาแหละคือพัฒนาแล้ว เรามักมองการพัฒนาว่าตัวเราหรือสังคมไปทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาแบบนี้ใช้คนเป็นศูนย์กลาง แต่หัวหินไปไกลถึงขั้นว่าเราเอาระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง โดยวิธีคิดที่เราเกิดการเรียนรู้ พบคุณค่าที่แตกต่าง พอไปทำงานกับหน่วยงานระดับโลกอย่าง GECOM ไปทำงานกับโครงการก๊าซเรือนกระจก เราก็มุ่งไปสู่ Low Carbon City อย่างน้อยเราต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม

หัวหินคือบ้านของพ่อด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีผลต่อคนหัวหินมาก เราเอาศาสตร์พระราชามาใช้ เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เช่นเราจัดการขยะที่วิธีคิดของคน แบบแผนในการบริโภค แบบแผนในการผลิต แบบแผนในการบริการ สามเรื่องนี้เป็นที่มาของขยะ เราก็ลงไปคุยทีละคน บอกว่า คุณจะผลิตยังไงให้ลดขยะ คุณจะบริการยังไงให้ไม่มีขยะ คุณจะบริโภคยังไงให้ไม่มีขยะ อย่างเช่นนางรำไร้ถัง ขยะเมืองก็ลด เริ่มจะไม่มีถัง มันค่อยๆ เป็นผล จากนั้นเราเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสู่วิถีชีวิต แต่ว่าเราคุยละเอียดกับประชาชน พอเพียงเท่ากับว่ามีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน พอประมาณ เรารู้ศักยภาพ รู้ตัวเรา รู้ทรัพยากรเรา ทำให้คนมีสติ แล้วก็ละมุนในการตัดสินใจ ในการเลือกหรือไม่เลือกโดยเหตุผลอะไร แล้วความขัดแย้งหลายเรื่องลดลง ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องพอเพียง หลอกให้เราหนีจากระบบทุนนิยมแล้วไปแอบกินกันหรือเปล่า แต่พอเอาเข้าจริง มันลึกซึ้งมาก เรามีสติทุกครั้งในการตัดสินใจผ่านเกณฑ์สามเรื่อง มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน พอประมาณ

               อีกสิ่งหนึ่ง ปลูกป่าในใจคน คืออย่างเช่นเรื่องจัดการขยะ เราไปคุยอธิบายให้เขาเข้าใจ เหมือนเราจะรักษาต้นไม้ เราต้องทำให้คนรักป่า ทำให้คนเข้าใจว่าป่าสัมพันธ์กับชีวิตเขายังไง สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนยังไง ป่านำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียังไง เรื่องขยะเราก็ทำแบบนี้ ขยะสร้างปัญหาให้เรายังไง ไปสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวยังไง สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจยังไง เราค่อยๆ ทยอยคุยในโรงเรียน ที่นั่นที่นี่ ไม่ได้ทำใหญ่เลย แต่ได้ผล ทำที่หน่วยย่อยที่สุดของเมืองคือคน หน่วยย่อยบวกหน่วยย่อยก็กลายเป็นชุมชน ชุมชนบวกชุมชนก็กลายเป็นเมือง ท้ายที่สุดคือสอนให้คนพึ่งตนเอง

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลอย่างไร?

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้วย เราคุยเป็นเมืองแรก อาจจะเป็นที่แรกของโลกก็ว่าได้ ผมไปรีวิวงานที่เกี่ยวกับเรื่องระบาดวิทยา เรื่องวัคซีน ไปพบงานชิ้นหนึ่งที่เป็นการปะทะสังสรรค์ระหว่างสองนักเคมีชาวฝรั่งเศส อองตวน เบชองป์ (Antoine Béchamp, 1816-1908) กับหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur, 1822-1895) คนคิดวัคซีนที่เป็นเชื้อเป็นเชื้อตายขึ้นมาเพื่อทำให้เซลล์เข้าไปเรียนรู้แล้วจัดการ แต่อองตวน เบชองป์ บอกว่ามันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถาวร ที่จริงแล้ว ร่างกายของเราเป็นเรือนของโรค เพราะฉะนั้นเราต้องทำร่างกายของเราให้แข็งแรง แล้วร่างกายจะไปจัดการกับโรคเอง เราก็เอาหลักนี้มาทำเป็นหลักสูตร HDC Hygiene Distancing Clean การเรียนรู้สุขลักษณะในการใช้ชีวิตที่ดี และเอาหลักสูตรนี้เข้าโรงเรียนประถม มัธยมของเราเลย เราเรียกว่า วัคซีนทางสังคม ไม่ได้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ฉีดเข้าไปในหัว ไปตรงวิธีคิด โรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นกี่ครั้งก็ตามแต่ วัคซีนทางสังคมจะอยู่ในหัว ไม่อยู่ในร่างกาย เป็น Social Vaccine Hua Hin Resurrection หัวหินล้มแล้วลุกไว เชื่อมั้ยว่านายกเทศมนตรีประกาศไปว่าขอให้คนรู้จักป้องกันตัว ให้เข้าใจว่าโรคเปลี่ยนยังไง ระบาดยังไง หลังจากนั้นหกสัปดาห์นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ออกมาคุยแบบเดียวกัน อีกสองเดือนนายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมาคุย เราก็รู้ว่าวิธีคิดเราได้ สำนักนายกรัฐมนตรีเอาวิธีคิดชุดนี้ส่งยูเอ็นให้ไปถอดโมเดลเป็นวัคซีนทางสังคมใช้ได้ทั้งโลก อันนี้เกิดจากการเรียนรู้ในเชิงพื้นที่ทั้งนั้น เพราะท้ายที่สุด เราทำ Learning Space ให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้ในส่วนข้อมูล เรียกว่า Information Literacy เห็นคุณค่าของข้อมูล เข้าใจการนำใช้ข้อมูล รู้ว่าควรจะอยู่ตรงไหน ยังไง เอาไปใช้กับอะไร ข้อมูลต่อไปนี้ เราอยากได้อะไร มันหลั่งไหลมาจากชาวบ้านที่เข้าใจ ที่เขาจัดหมวดหมู่มาให้เราเป็นเมนูนโยบายเลย

โครงการวิจัยนี้ทำให้เกิดหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพพลเมืองในท้องถิ่น และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างไร?

เรายกเป็น Local Study ได้ 3 เรื่อง ที่เกิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเรียนรู้ เราก็เรียนรู้ หนึ่ง เราฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้าน “ผีพุ่งไต้” (ผู้เล่นจับมือกันตั้งแถว คนหัวแถวกับคนปลายแถวถือไต้จุดไฟไว้คนละอัน หัวหน้าคนหัวแถวร้องเพลงนำ ลูกแถวร้องรับและวิ่งตามกันเป็นแถวยาว โดยเล่นกันในช่วงค่ำของเทศกาลสงกรานต์ ถือว่าเป็นการขับไล่ผีสางความชั่วต่างๆ ให้หมดไปพร้อมกับปีเก่า ให้ปีใหม่มีแต่สิ่งดีๆ) เพิ่มมูลค่าเป็นแคมเปญใหญ่ด้านการท่องเที่ยว แล้วทำยังไง เราก็เอาผีพุ่งไต้ไปพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ให้เด็กนักเรียนในสังกัดเทศบาลฯ 7 โรงเรียนได้เรียน แล้วงานสงกรานต์ก็เอาเด็กมาเล่นผีพุ่งไต้ ปีแรกเอามาโรงเรียนละ 30 คน 210 คน ปีต่อไป 100 คน ก็ 700 คน พอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ผลิตคนเหล่านี้ไปฝากไว้ในสังคม ต่อไป เด็กเหล่านี้จะไปเป็นชุมชน เป็นผู้ใหญ่ในสังคม แล้วเราเอาเรื่องหัวหินเมืองบ้านพ่อที่เขารู้กันอยู่แล้ว ใส่เสื้อเหลืองมาวิ่งผีพุ่งไต้ชายหาด สิ่งนี้เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงเอาวัฒนธรรมเป็นฐาน ต่อไปนักท่องเที่ยวก็สามารถมาวิ่งได้ คุณอยากวิ่งผีพุ่งไต้สักครั้งหนึ่ง คุณมาเลยหัวหิน ท่านนายกฯ วางไว้เป็นกิมมิกหนึ่งของ Hua Hin Festival เพราะเรามีรากทางวัฒนธรรม มีการละเล่น มีวัฒนธรรมกับชายหาด มันชัดมากเลย

               หลักสูตรที่สองคือ หลักสูตร HDC เราเตรียมพร้อมให้สังคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เขารู้เท่าทัน อยู่ในโลกใบใหม่ที่มันถูก disrupt อยู่ อย่างลงตัว ไม่เสียเปรียบอะไรมากนัก ตัวที่สามคือ หลักสูตรของศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเราใช้หลักสูตรนาฏศิลป์เป็นเครื่องมือจัดการระบบสุขภาพ คุณจะได้เห็นคนอายุแปดสิบกว่าที่แข็งแรง ทะมัดทะแมงมาก เพราะกว่าจะรำออกไปแต่ละชุดนี่ ทั้งมัดกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เราส่งนักวิทยาศาสตร์การกีฬา มหิดล มาประกบกับพวกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ มาอธิบายเรื่องพลังงาน การส่งต่อของระบบประสาท นี่คือการทำงานในเชิงสหวิทยาการ เอาเรื่องบางเรื่องที่บางทีไม่สัมพันธ์กันมาร้อยรัดเข้าด้วยกัน

ผลที่ได้รับจากชุดโครงการวิจัยชิ้นนี้?

ชุมชนพูลสุขในฐานะที่เป็นชุมชนต้นแบบการเรียนรู้ เห็นผลสัมฤทธิ์มาก เกิดพื้นที่สาธารณะ Public Sphere ไม่ได้แปลว่าพื้นที่ที่เป็นถนนนะครับ แต่พื้นที่ที่เป็นโอกาสในเชิงสาธารณะ จะย้ายไปประชุมที่ไหนก็ตามแต่ มันมีต้นเชื้อที่เป็นพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นที่ชุมชนพูลสุข คนมีโอกาสสร้างตัวตนผ่านเวทีสาธารณะเหล่านี้เพื่อพรีเซนต์ว่าตัวเองมีอะไร มีประสบการณ์เรื่องอะไร ตัวทุกข์อะไรยังไงอยู่ คือทำให้วิถีชีวิตที่หลากหลายถูกยกขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้เห็นความหลากหลายของหัวหิน หัวหินไม่ใช่เมืองเชิงเดี่ยว หัวหินมีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรม อาหารการกิน การดำรงอยู่ ระบบเศรษฐกิจ มันซ้อนทับกันอยู่ เรากำลังบอกว่า การที่ทำให้เขามีที่ยืน มีตัวตน ทำให้คนเข้าใจกัน ฉะนั้นเราหมั่นที่จะสร้าง Public Sphere เรื่อยๆ ถ้าเราคิดในเชิงขมวดรวมว่าต้องไปสร้างก็จบเลย แต่เราคิดว่าเรื่องที่เราทำจะไปเป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกันอย่างไรบ้าง ก่อรูปออกมาเป็นวิธีการปฏิบัติชุดใหม่ก็ได้ แบบเดิมก็ได้ เราทำให้นักวิจัยเคารพความหลากหลาย มองจากคนข้างในออกมาข้างนอก ไปนั่งไปยืนเคียงข้างกับเขา เวลาเราตั้งใจฟัง ฟังให้ได้ยินเสียงเรียกร้องความต้องการ ความรู้สึกนั้นต้องมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจ มาจากการเคารพความหลากหลายของเราอย่างเพียงพอ เราฟังแบบไม่ตัดสินได้หรือเปล่า อันนี้สำคัญ สติ ฟังเชิงลึก เป็นสกิลของนักวิจัยที่เราได้จากงานครั้งนี้ ผมคิดว่างานวิจัยครั้งนี้คุ้ม มันสร้างตัวตนของผมใหม่ด้วยซ้ำ จากการถือดีกรี กับการถือปัญญา มันคนละเรื่องกันนะ มีความรู้ไม่ใช่มีปัญญา แยกกันชัดเลย

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago