หัวหิน เมืองแห่งการเรียนรู้ สู่เมืองแห่งความสุข
ชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาเทศบาลเมืองหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยหัวหน้าชุดโครงการ ดร.ศิวัช บุญเกิด มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัญจา ชูช่วย เป็นหัวหน้าโครงการย่อย “การพัฒนาเทศบาลเมืองหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย” และอาจารย์อภินันท์ สิริรัตนจิตต์ หัวหน้าโครงการย่อย “การออกแบบและพัฒนานวัตกรรม พื้นที่การเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน” คือหนึ่งในเครื่องมือและกระบวนการสำคัญในการพัฒนาเทศบาลเมืองหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ ภาคีเครือข่าย และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน โดยเฉพาะชุมชนต้นแบบพูลสุขที่นำทุนในมิติต่างๆ มาเชื่อมโยงเพื่อสร้างพื้นที่และนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน โดยมีเจ้าภาพหลักของโครงการวิจัยฯ คือเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นพพร วุฒิกุล มาบอกเล่าถึงการนำพาหัวหิน เมืองแห่งการเรียนรู้ บรรลุวิสัยทัศน์ “หัวหินเมืองแห่งความสุข”
อัตลักษณ์ความเป็นหัวหินคืออะไร?
หัวหินเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว ในอดีตเราเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลแห่งที่สองของประเทศไทย ที่แรกคือเกาะสีชัง การเดินทางไปเกาะสีชังก็ต้องนั่งเรือไป หัวหินเริ่มบูมตอนที่รถไฟมาถึง เห็นภาพการเคลื่อนย้ายคน เคลื่อนย้ายสิ่งของ ซึ่งสะดวกกว่าการไปเกาะเที่ยวทะเล ประกอบกับในสมัยก่อน รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดหัวหินมาก ทรงสร้างวังไกลกังวลเป็นที่ประทับฤดูร้อน ทำให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็มาซื้อที่กัน คนมีฐานะก็มาซื้อที่ดินติดหาด ซึ่งผมว่าเป็นความโชคดีของหัวหินที่มีความเจริญเข้ามาก่อนจะมีการจัดผังเมือง ทำให้หัวหินไม่มีถนนเลียบหาด นี่คือความคลาสสิก ถ้ามีถนนเลียบหาด ก็เป็นหาดทั่วๆ ไป ซึ่งหลายคนอาจมองว่าการมีถนนเลียบหาดดี แต่ผมมองว่าไม่มีดีกว่า จะเห็นว่าการพัฒนามีสองด้าน หนึ่งคืออะไรที่คงอยู่ต้องคงอยู่ อนุรักษ์ไว้ เช่นชายหาดหัวหินเราได้ชื่อว่า ราชินีแห่งความสงบ เหมือนเป็นเมืองทะเลที่อยู่ในเมืองแต่มีความสงบแบบอยู่ในเกาะ ท่านลองไปดู ท่านมาวันนี้ ถ้ากลับมาอีกเมื่อไหร่ก็จะได้บรรยากาศเก่าๆ ซึ่งนี่คือเสน่ห์ของหัวหิน ที่มีการถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน อัตลักษณ์ก็คือชายหาดสำคัญที่สุด จะมีห้าง มีสวนน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสกายวอล์ก หรืออะไรก็แล้วแต่ คนบางทีมาหัวหิน ไม่ได้ลงหาดหรอก แต่ถ้าข่าวออกไปว่าหาดหัวหินเน่า คนก็ไม่มา ต้องเข้าใจประเด็นนี้ก่อน อย่างผมเอง บางทีก็ไม่เคยลงหาดเลย ผมก็เชื่อว่าคนที่มาหัวหินหลายๆ คนก็ไม่ได้ลงหาด แต่ถ้าหาดเน่า ทำไมเขาถึงไม่มา คือมันเป็นเรื่องของจิตใจ ความละเอียดอ่อน
อัตลักษณ์ที่เพิ่มเติมจากชายหาดคือสถาปัตยกรรม ถ้าลงมาจากสถานีรถไฟก็จะเห็นแล้ว พลับพลาที่ประทับ อาคารสถานีรถไฟ มีโรงแรมรถไฟ (ปัจจุบันคือเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน) ป้ายสถานีรถไฟ ตลาดฉัตรไชยที่มีหลังคาโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 7 โค้ง เป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ตอนนี้เรามีแผนทำสกายวอล์กชมวิวเมืองชมทะเลตรงเขาหินเหล็กไฟ กำลังศึกษาออกแบบโดยกรมโยธาธิการ เพราะฉะนั้นการพัฒนาต้องมองถึงสิ่งที่ต้องรักษาไว้กับสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม ผมเองก็เพิ่งนึกคำพูดออก ในอดีตใช้คำว่า “หัวหินไม่ไกลจากกรุงเทพฯ” แต่ใช้คำว่า “ไม่ไกล” ไม่ได้นะ ใช้คำว่า “ไม่ใกล้และไม่ไกล” สะท้อนสถานที่ตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสม คือระยะทางประมาณ 180-250 กิโลเมตร เอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางนะ เอาหัวหินเสาร์อาทิตย์เป็นตัวตั้ง คือคนเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมงแล้วแต่รถติดไม่ติด ทำให้เป็นระยะทางที่มีเสน่ห์ ไม่ใกล้ไม่ไกล ใกล้เกินไปก็ขาดเสน่ห์ เออ ถึงละ ไกลเกินไปก็เดินทางไม่ไหว พอมาแล้วก็เห็นจุดแข็งทางธรรมชาติ น้ำทะเลที่ใส หาดทรายที่ขาวละเอียด มีที่ออกกำลังกายตามธรรมชาติตลอดแนวความยาวของเรา 22 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วก็เรื่องของอากาศ เมื่อมีความกว้างไม่เยอะ ทะเลของเราอยู่ตลอดแนวเทศบาลฯ แคบๆ เหมือนเป็นห้องๆ หนึ่งที่มีหน้าต่างทั้งสองด้าน อิทธิพลลมบกลมทะเล อากาศถ่ายเทในเขตเทศบาลฯ ดีมากๆ
หัวหินมีต้นทุนในภาคเอกชนที่เข้มแข็งมาก
ใช่ครับ สถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สวนน้ำ ตลาดในหัวหินมีตลาดสดฉัตรไชย ตลาดโต้รุ่งที่เป็นของเทศบาลฯ ตลาดซิเคด้า ตลาดแทมมารีน ตลาดบ้านคุณพ่อ ตลาดตาลเดี่ยว ตลาดแพไม้ แค่ตลาดก็มีหลากหลายมาก ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ เที่ยววันเดียวไม่หมด ตลาดนัดก็มีแทบทุกวัน กระจายตามเขตเทศบาลฯ มีโรงพยาบาล คุณไม่สบายไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีหมอดีๆ รักษา มีสนามกอล์ฟ เราได้รางวัล Golf Destination ของทวีปเอเชีย-ออสเตรเลียรวมกัน ประจำปี 2014 นี่คือสิ่งที่หัวหินเป็นเมืองแห่งความพร้อม
เทศบาลเมืองหัวหินทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างไร?
เราศึกษาชุมชนพูลสุข มองสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชน ทำให้เขาเห็นว่าเขามีของดีอยู่ ให้เขาเกิดความรักในตัวเอง รักในท้องถิ่นตัวเอง เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในชุมชน ทำให้เขาเกิดการตื่นรู้ และความภาคภูมิใจ ชุมชนพูลสุขเนี่ยถ้าเดินทางจากสถานีรถไฟมาที่ชายหาดหัวหิน เที่ยวไปในชุมชนพูลสุขที่มีเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน มีคนที่ทำพัดใบตาล ทำอาหารการกิน ตะโก้เสวย มีศูนย์การเรียนรู้หัวหินถิ่นมนต์ขลัง ซึ่งเป็นกลุ่มคนเก่าๆ ที่ทำเรื่องประเพณีการทำบุญทางทะเล การละเล่นพื้นบ้านอย่างผีอึ่งอ่าง ผีพุ่งไต้ ซึ่งประวัติการละเล่นผีพุ่งไต้คืออยู่ในช่วงตรุษสงกรานต์ ตั้งแต่ในอดีตที่ยังเป็นถนนดิน ถนนลูกรัง ไฟฟ้าก็ไม่มี การที่คนมารวมตัวกัน เล่นสงกรานต์กัน มาเล่นการละเล่น เช่น ผีพุ่งไต้ ผีอึ่งอ่าง มอญซ่อนผ้า พอถึงเวลาเย็นจะกลับบ้าน ก็อันตราย บางคนเป็นผู้หญิง บ้านห่างกัน ก็เกิดการเดินไปส่งกัน ทีนี้การเดินไปส่งกันก็ต้องมีไฟ สมัยก่อนไฟฟ้าคือไต้ ก็จุดไต้ถือเดินกันไป เวลาเล่นคือเดินจับมือกันเป็นมัดข้าวต้ม แล้วก็มีคนอยู่หัวกับคนอยู่ท้ายถือไต้ เดินไปเดินมาก็หนุ่มจีบสาวสาวจีบหนุ่ม ร้องเพลงเกี้ยวกัน ก็เป็นที่มาของผีพุ่งไต้ที่เล่นกันมานาน แล้วก็หายไป บางทีกลับมาฟื้นฟูก็ไม่ยั่งยืน ถึงยุคนี้ผมต้องการฟื้นฟูผีพุ่งไต้ให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็ตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงว่า อยากให้คนมาวิ่งผีพุ่งไต้กันทั้งเมือง เราเป็นเมืองแห่งบ้านของพ่อ ก็อยากให้คนใส่เสื้อเหลืองมาวิ่งกัน จากชุมชน เราเข้าไปสถานศึกษา เป็นหลักสูตรท้องถิ่นหัวหินศึกษาให้แก่นักเรียน เพื่อให้เขาสืบทอด สร้างความยั่งยืน ตอนนี้เรานำร่องนักเรียนโรงเรียนละ 30 คน 7 โรงเรียนสังกัดเทศบาลฯ แต่ละปีก็มาร่วมกิจกรรมวิ่งผีพุ่งไต้กันในวันสงกรานต์ จากโรงเรียน สู่ชุมชน จากชุมชน สู่นักท่องเที่ยว จากคนที่เริ่มมาเที่ยว ปีนี้เห็นวิ่งกัน พอปีหน้ามาก็อาจจะมาวิ่งได้ ซึ่งเราก็เห็นว่าเขาใส่เสื้อสีเหลืองวิ่งกันละ จะร้องเพลงได้ไม่ได้ไม่เป็นไร คุณเข้าไปร่วมวิ่งได้ เป็นอีกหนึ่งวันที่ทำให้คนมาเที่ยวหัวหินมาวิ่งผีพุ่งไต้กันทั้งเมือง
เทศบาลเมืองหัวหินเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ต้องเข้าหาประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานที่รู้ปัญหามากที่สุด แล้วก็เป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน แล้วท้องถิ่นเองไม่ดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว ต้องดูว่าทำยังไงให้คนมีเงินในกระเป๋าด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำร่วมกัน เช่นเดียวกับเครื่องมือขับเคลื่อนหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องทำทุกอย่างประกอบกัน ขับเคลื่อนพลเมือง ให้คนเกิดความภาคภูมิใจ เอาจุดแข็งของเขาออกมาเป็นพลังให้ได้ ส่วนของข้าราชการ ก็ต้องทำให้คนในเทศบาลฯ สามารถปรับตัว แอ็กทีฟขึ้น ขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตามนโยบายของผมเอง เครือข่ายต้องไปด้วยกันหมด ร่วมรับรู้ รับประโยชน์ รับผิดชอบ ทำให้เมืองเราเดินต่อไปได้ อย่างเราทำงานสงกรานต์ ทุกฝ่ายร่วมกัน มีศูนย์การเรียนรู้นาฏศิลป์หัวหิน ศูนย์การเรียนรู้หัวหินถิ่นมนต์ขลังเข้ามาร่วม ทำให้เกิดการสร้างประเพณีเก่าๆ ที่ที่อื่นไม่เหมือนเรา การละเล่นต่างๆ มาลงสู่ชายหาด คนที่มาได้เที่ยวชมธรรมชาติ เล่นน้ำสงกรานต์ ได้สืบสานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชายหาด เราต้องสร้างอัตลักษณ์การละเล่นของหัวหินให้คนได้เห็นว่าที่อื่นไม่เหมือนเรา ถ้าอยากมาเที่ยวสไตล์นี้ต้องมาที่หัวหิน
หัวหินผ่านสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร?
เดือนมกราคม 2563 ต้องเรียนว่าตอนนั้นไม่มีใครรู้จักโควิด-19 แมสก์ก็ขาด แอลกอฮอล์ก็ขาด เราผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง ก็ต้องชมดร.ศิวัช บุญเกิด เขายังอยู่ในเหตุการณ์ เป็นรองปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดเมืองพัทยา) ทำงานกัน 4 วัน ได้ชุดความรู้เพื่ออยู่คู่กับโรคโควิด-19 คือนวัตกรรมวัคซีนทางสังคม HDC Hygiene Distancing Clean เราคุยกันในทีมเทศบาลฯ เชิญกรมอนามัยท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัดประจวบฯ ว่าโรคโควิด-19 คืออะไร เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ มีคนเป็นพาหะ ทำยังไงให้คนอยู่คู่กันได้ หนึ่ง ต้องมีเครื่องป้องกัน มีวัคซีนทางสังคม สวมแมสก์ เว้นระยะห่าง มีแอลกอฮอล์เจลไว้สำหรับล้างมือ แมสก์ก็ทำเอง แอลกอฮอล์เจลก็ทำเอง ทำให้เราหยุดการแพร่ระบาดได้ ถ้าไม่ได้ความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยเราตั้งชุดความรู้ให้ มีการจัดอบรม 4 ชุด ชุดละ 100 คน ที่โรงพยาบาลหัวหิน เทศบาลฯ จัดให้กับภาคประชาชน ภาคราชการ ภาคสถานประกอบการ มาสร้างชุดนวัตกรรม เอาชุดความรู้มาป้อนให้เขามีส่วนร่วมในการปกป้องบ้านเมืองเป็นพลเมืองร่วมกัน นี่คือการต่อยอดในการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ต่อยอดทำในสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเราไม่รู้หรอก แต่เรามีเครือข่ายที่พร้อมจะต่อสู้ไปกับเรา พร้อมจะโชว์ของดีของบ้านเมืองเราให้คนที่อื่นได้เห็น นี่คือสิ่งที่เรากำลังสร้างให้กับเมือง เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
เทศบาลฯ มีส่วนในการเยียวยาและฟื้นฟูคนในเมืองอย่างไร?
หัวหินเป็นที่แรกของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวจากจีนมาในพื้นที่เรา ติดโควิด แล้วตรวจพบเจอที่นี่ หัวหินเป็นจุดเริ่มต้นที่จะดูแลตั้งแต่เกิดเหตุ ตอนนั้นเรารวบรวมเงินของเทศบาลฯ ผมก็นำร่องเข้าไป ได้เงินมาก้อนแรกแปดหมื่นกว่าบาท มาทำอาหารแจกให้คนที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็แจกไปได้ตลอดเพราะมีคนเติมเข้ามาเรื่อยๆ โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเทศบาลฯ บุคลากรของเทศบาลฯ ก็มาช่วยกันทำอาหาร ไม่ได้จ้าง ก็ดูแลคนมาได้ยาวนานหลายเดือน แล้วตอนนั้นวัคซีนก็ขาด เราทำไง ต้องเปิดเมือง 1 ตุลาคม สุดท้ายเราก็ช่วยขับเคลื่อน จัดวัคซีนท้องถิ่น 50 ล้านบาท มาถึง ณ ปัจจุบัน ผมเชื่อว่า การทำให้คนขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกันได้ ให้เขาเข้าใจสถานการณ์จริงๆ ว่าตอนนี้เป็นยังไง ลดช่องว่าง สร้างความรู้ให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน เกิดการยอมรับ เพื่อให้ก้าวต่อไปในสภาพที่มันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เราต้องอยู่ของเราให้ได้ ถ้าเรายอมแพ้ ท้อแท้ จะอยู่กับมันไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ เชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกัน สิ่งยากๆ จะผ่านไปได้ แล้วเราจะได้คนที่มีความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง เข้าใจ ร่วมเดินทางไปได้ คนสำคัญที่สุดนะ
มองอนาคตหัวหินไว้อย่างไร?
คือจริงๆ แล้ว หัวหินมีจุดแข็ง มีทุนต่างๆ อยู่ อยากให้มองเมืองในประเทศไทย 77 จังหวัด มองแต่ละเมืองให้ออกเป็นประเภทของเมืองให้ได้ก่อน เช่นทีมฟุตบอลมีกองหน้า กองกลาง กองหลัง หัวหินถือว่าเป็นเมืองกองหน้า มีบุคลิกพร้อมจะทำประตูได้ในทุกสภาพ เพราะเรามีที่ตั้งดี อากาศดี ธรรมชาติสวยงาม มีประวัติความเป็นมา มีสถาปัตยกรรม อาหารทะเล อาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านทำกินกัน เช่น แกงส้มพริกนก แกงคั่วมะละกอไข่แมงดา ห่อหมกปิ้งงบ หอยเสียบมะละกอ แล้วก็อาหารเสวย เพราะเราเป็นเมืองที่อยู่กับในหลวงมาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ 7-9 ก็จะมีอาหารที่ขึ้นโต๊ะเสวยหลากหลาย มีทั้งผัดไทย หมูปิ้ง ลอดช่องลุงดำ ตะโก้เสวย ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเจือ เรามีสถานพยาบาล สนามกอล์ฟ เลนจักรยาน สปาระดับโลก มีโรงแรมตั้งแต่ห้าหกดาว เรามีความพร้อมเป็นเมืองศูนย์หน้า ทำให้ผมเกิดแนวคิดว่า หลังจากที่เกิดโควิด มีการปิดบ้านปิดเมือง หยุดการเคลื่อนไหวของคน ทำยังไงให้หัวหินจะเจอโรคอะไรก็แล้วแต่ ให้คนหัวหินอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้หัวหินเป็นห้องทำงานของชาวโลก เพราะตอนนี้ทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ ระบบการสื่อสารสะดวกรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ แล้วนับวันการสื่อสารยิ่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เมืองศูนย์หน้าอย่างหัวหินตอบโจทย์ให้คนมาอยู่แล้วรู้สึกถึงความสะดวกสบาย ปลอดภัยทั้งสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้อนรับทุกคนทุกเพศทุกวัย เมืองอารยสถาปัตย์ แล้วก็เป็นเมืองที่ทันสมัย เพราะฉะนั้นอย่างถนนแนบเคหาสน์ ทำโครงการถนนว้าว ผิวจราจรต้องดี เส้นจราจรชัดเจน ไฟแสงสว่างนี่กำลังติดไฟแอลอีดีอยู่ กล้องวงจรปิดต้องมี ถังขยะหายไป สุนัขจรจัดต้องไม่มี ตอนนี้กำลังไล่จับสุนัขจรจัด ซึ่งเรามีศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน โครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นี่คือการทำให้หัวหินเป็นเมืองศูนย์หน้าที่มีความพร้อม เกิดการมีส่วนร่วมของคน และรองรับโครงการของภาครัฐ ทั้งทางบก น้ำ เรือ อากาศ รถไฟทางคู่ก็จะเสร็จปีหน้า เรือเฟอร์รี่หัวหิน-พัทยาที่หยุดไปเพราะมีโควิด สนามบินก็มีโครงการขยาย มอเตอร์เวย์ก็มีโครงการของภาครัฐอยู่ โครงการพวกนี้มาทำให้หัวหินเจริญ ทางเราก็ต้องทำยังไงจะรองรับให้ได้โดยไม่เสียเมือง ทำให้หัวหินเป็นห้องทำงานโลก ซึ่งสุดท้ายก็จะเข้ามาสู่มอตโต้หัวหินเมืองแห่งความสุข ทุกคนต้องมีความสุข
นพพร วุฒิกุล
นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…