/

 “อนาคตของคนรุ่นใหม่กับการอยู่อาศัยในเมือง คือถ้าไม่มีกิจการ หรือเป็นลูกจ้างรัฐ ทำงานราชการ ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่างานที่มั่นคงและทำให้เราอยู่กับเมืองได้จริงๆ คืออะไร” 

Start
162 views
16 mins read

“ผมขอพูดถึงแวดวงการอ่านของขอนแก่นก่อนนะ จริง ๆ ขอนแก่นมีกลุ่มนักอ่านอยู่ค่อนข้างหลากหลาย แล้วก็เยอะด้วย ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่แถวหลัง มข. แถวย่านกังสดาล มีกิจกรรมพวกบุ๊กคลับอะไรอยู่บ้าง มีร้านหนังสือ และก็พวกคาเฟ่ ร้านอาหารที่มีส่วนของชั้นหนังสือให้ซื้อให้อ่าน ถือว่าบรรยากาศการอ่านโดยรวมน่าสนใจทีเดียว แต่อาจจะไม่ได้คึกคักเท่ากรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่  ที่นี่มีงานสัปดาห์หนังสือ จัดปีละ 2 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มาลง แล้วก็พวกผู้ค้าที่ตระเวนตามงานหนังสือ ส่วนร้านหนังสืออิสระที่ได้มีโอกาสเข้าไปก็มีน้อยมาก เท่าที่เห็นมีร้านแมวผี ซึ่งเป็นร้านมือสอง ส่วนร้านหนังสืออิสระเล็ก ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง อย่าง Wild dog ที่ผมทำ แล้วก็มี สมจริง กับอับดุล และร้านหนังสือออนไลน์อีกหนึ่งร้านที่ไม่มีหน้าร้าน กลุ่มผู้อ่านขอนแก่น Range อายุค่อนข้างกว้าง เห็นมีตั้งแต่เด็ก ม.ต้น ไปจนถึงผู้สูงอายุ อันนี้เท่าที่เห็นจากงานหนังสือนะ แต่ถ้าเป็นกับร้านผมจะค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม คงเป็นเพราะแนวหนังสือด้วยแหละ หลายคนที่มาร้านก็คือมาครั้งเดียวแล้วไม่ได้มาอีกเลย วานก่อนมีเด็กมัธยมมาดูหนังสือพวกการเมือง ผมก็แนะนำไป 2-3 เล่ม นี่ก็กำลังรอดูผลงานอยู่ว่าน้องจะกลับมาไหม  

ส่วนแวดวงงานสร้างสรรค์ จริงๆ ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีอีเว้นท์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาช่วงปลายปี อากาศไม่ร้อนบรรยากาศดี ก็จะเริ่มมีงานคอนเสิร์ต งานดนตรี มีศิลปินที่มีชื่อเสียงมาเล่น อีกงานที่อยากพูดถึง คือ นิทรรศการศิลปะตามแกลเลอรี่ต่าง ๆ ซึ่งที่ขอนแก่นมีแกลเลอรี่อยู่เยอะจนน่าแปลกใจเหมือนกัน ที่แน่ๆ คือ เยอะกว่าร้านหนังสือ แกลเลอรี่ดังๆ ก็มี ใหม่อีหลี หอศิลป์ต้นตาล KULTX Collaborative Space หอศิลป์ มข. The Wall Gallery หรือเป็นการรวมกลุ่มของศิลปินก็มีอย่าง Society เป็นกลุ่มศิลปินทำกิจกรรมนิทรรศการศิลปะจัด 2 เดือนครั้ง ถ้าเป็นงานฟิลประมาณเทศกาลศิลปะแต่ก็ไม่เชิงขนาดนั้น เรียกว่าเป็น Project หรือปฏิบัติการทางศิลปะก็จะมีงานอย่าง ขอนแก่น Manifesto ซึ่งจัดกันมา 2- 3 ครั้งเห็นจะได้ หรืองานเขตงานธารทิพย์ ที่จัดโดย MAS Collective House อันนี้เป็นงานระลึกถึง ถนอม ชาภักดี และอติเทพ จันทร์เทศ ไปจัดงานศิลปะกันในป่าละเมาะ แนว ๆ Conceptual คนที่สนใจจริง ๆ วงก็จะค่อนข้างแคบหน่อย ถ้าเป็นงาน Mass แบบคนทั่วไปไปเลยก็มีงานของ CEA งานอีสาน Creative ซึ่งก็จะเป็นอีกกลุ่มไปเลยทำกับธุรกิจสร้างสรรค์ และนักออกแบบ เรามองว่ามันเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ที่พยายามสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับย่านศรีจันทร์กับตัวเมือง เน้นอีเว้นท์ที่มันแตะกับโซเซียลมีเดียได้ง่าย และฮิตเป็นกระแส มีการจัดแสดงแสงไฟ แต่ก็ยังไม่ได้มาเชื่อมกับกลุ่มหนังสืออิสระ ศิลปิน หรือแวดวงที่เราคุยไปตอนแรก ผมมองว่างานสร้างสรรค์ในหลาย ๆ ส่วนมันก็ยังต้องการการมาเชื่อมต่อกันอยู่พอสมควร รวมไปถึงการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจ การมองเห็นความสำคัญ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะยังไง หรือมาถึงเมื่อไหร่ อันนี้ยังไม่พูดถึงการเชื่อมกับวิถีชีวิตของคนทั่วไปเลยนะ อย่างร้านต่างๆ อาม่าอาแปะเปิดร้านขายของชำกลางวัน กลางคืนเขาปิด เขาจะได้อะไรจากงานแสงสีที่จัดกันอยู่ มันน่าชวนกันมาคิด มาถอดบทเรียน และหาลู่ทางกันว่าจะทำยังไง เพราะในมุมหนึ่ง ผมก็มองว่าขอนแก่นแม้ไม่มีงานแสดงศิลปะระดับชาติอย่างกรุงเทพฯ หรือโคราช แต่ก็ไม่เคยแห้งแล้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เราจะจัดสรรให้พลังเหล่านี้มาเจอกัน และเติมเต็มกันได้อย่างไร เรื่องนี้น่าสนใจ

จริง ๆ ขอนแก่น ก็มีอีกหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง และเกี่ยวกับเมือง เช่น เสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การแก้ไขปัญหากลุ่มคนจนเมือง คนไร้บ้าน เรื่องการก่อสร้างโครงการของรัฐตามบึงต่างๆ ซึ่งส่วนตัวก็ยังมีคำถามเรื่องการมีส่วนร่วม หรือ เรื่องการย้าย บขส. ออกไป และมันกระทบกับการเดินทางของคนจำนวนมาก พอย้ายออกไปเรื่องรถเข้าเมืองที่จะพามาโรงพยาบาล หรือเรียนหนังสือ ก็มีไม่พอหาได้ลำบาก บริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพก็ยังขาดแคลน ที่เคยมีวิ่งก็ปิดไปแล้ว อันนี้แค่ตัวอย่างนะ

ผมคิดว่าเมืองขอนแก่นยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะเลย อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ คือ อนาคตของคนรุ่นใหม่กับการอยู่อาศัยในเมือง ลองคิดออกจากตัวเราเองนะ คือถ้าไม่มีกิจการ หรือเป็นลูกจ้างรัฐ ทำงานราชการ ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่างานที่มั่นคงและทำให้เราอยู่กับเมืองได้จริงๆ คืออะไร  เพราะขอนแก่นไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่ที่แบบว่ารองรับแรงงานจำนวนมาก เราไม่ได้มีนิคมอุตสาหกรรม มันไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น เท่าที่สังเกตในตัวเมือง ถ้ามาสาย Creative หน่อย น้องใกล้จะจบ หรือเพิ่งจบใหม่ๆ เขาจะต้องใช้เวลาในตอนกลางคืนไปเล่นดนตรี เป็นบาร์เทนเดอร์ แล้วกลางวันหลายคนก็ไปเป็นบาริสต้า ทำงาน Call Center บ้าง รับจ้างชั่วคราวว่ากันไปตามเรื่อง ยิ่งพอหลังโควิด งานก็หายาก และงานที่มีเงินเดือน Support กับการอยู่ได้อย่างพอดี ก็หายากอยู่เหมือนกัน แล้วสถานการณ์แบบนี้แหละที่ทำให้เราเสีย Active People ไปเยอะ เพราะเมืองยังขาดช่องทางในการเติบโต ขาดโอกาส ขาดการร่วมออกแบบให้โอบรับคนที่หลากหลายแบบนี้ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่จะอยู่ให้ได้ต้องกระเสือกกระสน และดิ้นรนน่าจะมากกว่าคนรุ่นผม หรือคนรุ่นก่อนด้วยซ้ำไปมั้ง  ผมมองว่าหากว่าโอกาสมีมากกว่านี้ ทุกคนไม่ต้องขวนขวายดิ้นรนกันอย่างนี้ ขอนแก่นจะน่าสนใจขึ้นอีกมาก จากที่น่าสนใจอยู่แล้วตอนนี้ ก็จะยิ่งน่าสนใจขึ้นๆ ไปอีก”

บุรินทร์ฑร ตันตระกูล
เจ้าของร้าน Wild Dog Bookshop

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย