“ผมเกิดกรุงเทพฯ สอบเอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2528 แต่พอได้เรียนไป มันไม่ใช่ชีวิตผมเลย ระหว่างนั้นก็ได้ไปรู้จักกับพี่คนหนึ่งที่เขาทำงานหัตถกรรมส่งขายที่ไนท์บาซาร์ เห็นแล้วชอบ และพบว่าเราพอมีทักษะด้านงานฝีมือ ก็เลยไปเรียนรู้กับเขา จนไม่ได้ไปเรียนหนังสือเลย ทำให้สุดท้ายโดนรีไทร์
อาจเป็นค่านิยมในยุคนั้นด้วยแหละ ถ้าคุณเรียนหนังสือเก่ง ก็ต้องไปเรียนหมอ เรียนวิศวะ อะไรแบบนี้ คือตอนแรกผมก็เดินตามไปโดยไม่ได้คิดว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร จนมาเจอเรื่องงานฝีมือที่ทำให้ผมค้นพบว่าจริงๆ เราชอบงานหัตถกรรมและการสร้างสรรค์ จากนั้นผมก็เอ็นทรานซ์กลับเข้ามาใหม่ โดยเรียนสื่อสารมวลชนที่เดิม ระหว่างนั้นก็ทำสมุดทำมือจากเศษหนังและกระดาษส่งขาย ก็เอาไปฝากตามร้านอย่างสบันงา หรือแผงขายของที่ระลึกตามไนท์บาซาร์
พอเรียนจบ ผมก็ยังคงทำงานคร้าฟต์ฝากขายอยู่อีกสักพัก เคยมีความคิดว่าอยากเปิดร้านของตัวเองที่ไนท์บาซาร์ เพราะตอนนั้นไนท์บาซาร์นี่บูมเรื่องงานสินค้าทำมือมาก แต่ไม่นานจากนั้นคือราวปี 2539-2540 ก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างซบเซา ซึ่งก็พอดีกับที่ว่าตอนผมเรียนแมสคอม ผมได้ทักษะใหม่ติดตัวมาคือการแปลหนังสือ ผมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอได้ทักษะการแปลและการเรียบเรียงมาจากที่มหาวิทยาลัย ก็เลยทดลองแปลงานเสนอสำนักพิมพ์ กลายเป็นว่าช่วงที่ร้างลาจากงานทำมือไป ผมก็ทำงานคร้าฟต์อีกประเภท นั่นคือการแปลวรรณกรรม จากที่คิดว่าทำเล่นๆ หาเงินไปก่อน ก็กลายมาเป็นอาชีพที่ทำต่อเนื่องมา 20 ปี
ช่วง 20 ปีที่แปลหนังสือเลี้ยงชีพ ผมย้ายบ้านไปอยู่กับแฟนที่อุตรดิตถ์ โดยแฟนทำงานที่วิทยาลัยของจังหวัด จนมาในช่วง 5 ปีหลังที่อยู่ที่นี่ ผมอยากกลับมาสานฝันที่เคยวาดไว้สมัยก่อน นั่นคือการทำงานหัตถกรรม ก็เลยเริ่มลงมือด้วยการซื้อหนังมาทำเครื่องประดับจากแพทเทิร์นง่ายๆ ก่อน พอรื้อฟื้นทักษะจนอยู่มือ ก็เลยลองสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำกำไลหรือเครื่องประดับรูปทรงดอกไม้ โดยผมตั้งชื่อให้มันว่า ‘บุปผากำไล’ การได้ทำงานนี้นั่นแหละที่ทำให้ผมคิดว่าเราไม่ควรทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เลยลงกรุงเทพฯ เอางานไปเสนอ TCDC เขาก็ให้ผมไปวางขายใน creative market ปรากฏว่าขายดีมากๆ ก็เลยเริ่มทำแบรนด์มาตั้งแต่นั้น จากนั้นก็ขึ้นเชียงใหม่ไปขายตามตลาดนัดที่ขายงานคร้าฟต์ต่างๆ จริงใจมาร์เก็ตเอย หรืองาน NAP เอย โดยเราก็ปักหลักทำสตูดิโอที่อุตรดิตถ์นั่นแหละ
ความที่พื้นเพแฟนเป็นคนลำปาง แล้วคุณตาของเขามีที่ดินอยู่ริมน้ำวังแถวกาดกองต้า เลยคุยกันกับแฟนเราควรจะมีหน้าร้านไว้ขายงานแล้วนะ จะได้ไม่ต้องเร่ไปขายตามที่ต่างๆ ครั้นจะเปิดที่อุตรดิตถ์ก็คงไม่น่าจะมีคนซื้อเท่าไหร่ เลยตัดสินใจขอคุณตาเอาที่ดินตรงนี้มารีโนเวทและเปิดเป็นร้าน papacraft เราเปิดปี 2561 ตอนนี้ก็ 4 ปีแล้ว โดยช่วงโควิดก็กระทบพอสมควร แต่เรามีขายออนไลน์ และขณะเดียวกันเราก็ยังแปลหนังสืออยู่ ก็เลยผ่านพ้นมาได้
พอทำธุรกิจนี้อยู่ลำปางไปได้สักพัก ก็เริ่มรู้จักเครือข่ายคนทำงานคร้าฟต์มากขึ้น มีนักศึกษามีฝีมือหลายคนมาขอฝึกงาน หรือฝากผลงานมาขายที่ร้าน หลายคนฝีมือดีมากเลยนะ ก็เลยคิดว่า เออ ที่ผ่านมาลำปางมันไม่มีพื้นที่แบบนี้เท่าไหร่ คือถึงแม้ลำปางจะเป็นเมืองของคนทำเซรามิก แต่ภาพรวมก็ยังถูกนำเสนอด้วยมุมมองแบบราชการอยู่ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เห็น เมืองมันแทบไม่มีพื้นที่ให้คนทำงานคร้าฟต์รุ่นใหม่เลย จนปีที่ผ่านมา มีโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ลำปางเข้ามา อาจารย์ที่รับผิดชอบโครงการก็เข้ามาคุยกับผมว่าจะร่วมส่งเสริมเมืองได้ยังไง ผมก็เลยคิดถึงการสร้างพื้นที่ดังกล่าว
กาดกองคร้าฟต์ ณ กองต้า จึงเกิดขึ้น โดยผมไปขอพื้นที่ซอยหนึ่งของถนนคนเดินกาดกองต้า จัดบูธที่ขายเฉพาะผลงานของผู้ประกอบการด้านหัตถกรรมรุ่นใหม่ มีตั้งแต่เครื่องหนัง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน สิ่งทอ เทียนหอม ไปจนถึงอาหารและขนมแบบโฮมเมดที่ทำโดยคนลำปาง รวมถึงมีการแสดงดนตรีโฟลค์ด้วย ก็มีการจัดรูปแบบร้านให้สอดคล้องเป็นธีมเดียวกัน ผมเห็นว่าเอกลักษณ์ของกาดกองต้าคือเขาจะไม่จัดโซนนิ่ง ทุกอย่างขายรวมกันหมดบนถนนสายเดียว แต่ปัญหาก็คือถ้าคุณขายงานบางอย่างที่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อจัดแสดงให้โดดเด่น การกองทุกอย่างรวมกันแบบนี้มันก็จะไปกลบผลงานของคุณ กาดกองคร้าฟต์เลยถูกตั้งขึ้นเพื่อให้มีโซนแยกออกมาสำหรับแสดงงานคร้าฟต์โดยเฉพาะด้วย
ตอนเปิดแรกๆ ก็มวยวัดประมาณหนึ่ง ตั้งแต่ดีลให้เกิดภาพที่ผมคิดไว้ การคัดเลือกของมาขาย คือมีคนอยากมาขายกับเราเยอะครับ แต่บางทีของเขามันไม่ได้คอนเซปต์ เขาไปรับของจากโรงงานมาขาย เราก็บอกไม่ได้ เราอยากให้พื้นที่นี้มันเป็นที่แสดงงานของคนที่ทำงานด้วยตัวเองก่อน เพราะพวกเขาแทบไม่มีพื้นที่นี้เลย ไหนจะปัญหานั่นนี่อีกเยอะแยะ ผมมองว่าการมีพื้นที่เริ่มต้นเล็กๆ แบบนี้มันไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการงานคร้าฟต์เขาเข้าถึงคนซื้อนะ แต่มันยังจุดประกายให้คนอื่นตระหนักถึงคุณค่าตรงนี้ และช่วยส่งเสริมคร้าฟต์แมนลำปางให้มีช่องทางในการขายมากขึ้น
ส่วนภาพไกลๆ ผมอยากเปิดโรงเรียนการช่างที่นี่น่ะครับ ที่ลำปางเราก็มีสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่แล้ว แต่ในอีกมุม สำหรับคนทั่วไปที่สนใจและอยากเรียนรู้เรื่องการออกแบบหรือหัตถกรรมบ้าง เขาไม่มีที่เรียนเลย ก็คิดว่าถ้ามีโรงเรียนการช่างที่ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใครก็ตามก็สามารถเข้าเรียนได้ คงดีไม่น้อย คือผมอาจจะสอนใครไม่ค่อยได้หรอก เพราะผมก็เรียนรู้แบบ self learning มา แต่ลูกชายผมเขาเรียนผ่านระบบจากสถาบัน เวลาเขาสอนทีมงานหรือนักศึกษาฝึกงานจะเป็นขั้นเป็นตอนเข้าใจง่ายกว่า แล้วพอเห็นลูกชายผมสอนคนอื่น ผมก็พบเลยนะ ว่าถ้ามีครูที่สอนเป็นเนี่ย มันทำให้คนเรียนพัฒนาได้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่อยากเปิดโรงเรียนช่างเนี่ย ผมไม่ได้มองว่ามันต้องเป็นของ papacraft ของผม หรือของลูกชายอะไรเลย แค่คิดว่าเมืองที่ดีมันควรจะมีสิ่งนี้สำหรับทุกคน มันไม่ใช่แค่สร้างอาชีพให้กับคนที่มาเรียน กระทั่งคนที่เรียนศิลปะหรือการออกแบบมา ก็มาสอนที่นี่ได้ มาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งทักษะฝีมือไปจนถึงมุมมองวิธีคิด คุณไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อจบไปเป็นช่างฝีมือก็ได้ คุณอาจทำเป็นงานอดิเรก ทำเพื่อฝึกสมาธิ ฝึกฝนวิธีคิด กระบวนการทำงาน อะไรก็ว่าไป จริงอยู่ ผลลัพธ์ของงานออกแบบและหัตถกรรมคือการได้มาซึ่งสิ่งของ แต่กระบวนการระหว่างนั้น มันก็ทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกเยอะ”
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล
เจ้าของ papacraft นักแปล และผู้ก่อตั้ง กาดกองคร้าฟต์ ณ กองต้า
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…