“ย่านตลาดใต้ พิษณุโลก เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ ย่านเก่าในเมืองต่างจังหวัดทั่วประเทศที่กำลังเผชิญปรากฏการณ์ Gentrification หรือภาวะที่คนรุ่นใหม่ทยอยกันย้ายออกไปทำมาหากินนอกเมือง พื้นที่จึงเหลือแต่คนชรากับธุรกิจเดิมๆ ที่ขาดการสานต่อ และนั่นทำให้ย่านค่อยๆ ตายลง
ผมมีโอกาสร่วมกับทีมของอาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ, ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล และ ผศ.ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล ทำวิจัยโครงการย่านสร้างสรรค์ที่ตลาดใต้ พิษณุโลก โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกสว. เมื่อปี 2562 โดยเราต่างเห็นว่าถ้ามีการฟื้นฟูตลาดใต้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้เมืองพิษณุโลกได้และประกอบกับที่ทางบริษัท พิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด มีโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำน่านตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานสุพรรณกัลยาไปจนถึงค่ายนเรศวร ในชื่อ ‘ริมน่านสามสี’ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนแห่งใหม่ ซึ่งตลาดใต้ก็อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เราจึงขับเคลื่อนงานวิจัยนี้ร่วมกัน
โจทย์ของพวกเราคือ ถ้าทั้งตลาดใต้และพื้นที่ริมน้ำน่านได้รับการฟื้นฟู มีพื้นที่สีเขียวให้ได้พักผ่อน มีแหล่งการเรียนรู้และจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามา หรือมีแหล่งช้อปปิ้งหรือซื้อสินค้าแหล่งใหม่ นั่นจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากที่มาแค่ไหว้พระพุทธชินราช หรือเยือนพระราชวังจันทน์ แล้วก็ขับรถไปจังหวัดอื่นต่อ ให้พวกเขาเลือกที่จะพักค้างแรมที่พิษณุโลกต่ออีกหนึ่งคืน นั่นหมายถึงเศรษฐกิจที่จะกระจายสู่ผู้คนในเมือง
ในอีกทางหนึ่ง การฟื้นฟูนี้จะยังประโยชน์ให้คนในเมืองด้วย เพราะเราจะมีที่พักผ่อนหรือทำกิจกรรมแห่งใหม่ใจกลางเมือง รวมถึงช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว หรือสร้างธุรกิจใหม่ๆ ปลุกย่านให้กลับมามีชีวิตชีวา
ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ บทบาทของผมคือการสำรวจกายภาพของย่าน ทำข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ทะเบียนอาคาร และพิกัดทางภูมิศาสตร์ จากนั้นก็พูดคุยกับชาวบ้านในตลาดใต้ในการหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ ในโครงการแรก ผมได้ทำแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ตามจุดต่างๆ ของย่านไว้เป็นตัวอย่าง โดยแบบที่ว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการปรับปรุงไปตามนี้ เพียงแต่ทำให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นไปได้ว่า ถ้าเราปรับปรุงที่สาธารณะในย่าน มันจะออกมาเป็นแบบใดได้บ้าง และจะช่วยสร้างประโยชน์ให้คนในย่านได้อย่างไร
โครงการย่านสร้างสรรค์สิ้นสุดพอดีกับช่วงที่โควิด-19 ระบาดครั้งใหม่ เราหยุดพักไประยะหนึ่ง ก็พอดีกับที่ทาง บพท. เขามาให้ทุนสานต่อในกรอบของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งก็ตรงกับลักษณะเฉพาะของตลาดใต้ที่เป็นย่านเก่าอันเปี่ยมด้วยเรื่องราว และเราก็เห็นตรงกันว่า ก่อนจะมีการพัฒนากายภาพย่าน ผู้คนในย่านจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวและคุณค่าในชุมชนของตัวเองก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย ‘ย่านเก่าเล่าเรื่อง’ ที่สโคปไปที่ย่านตลาดใต้และตลาดเจริญผลซึ่งอยู่ติดกัน
ในโครงการวิจัยนี้ ผมร่วมกับอาจารย์อุดมพร ขับเคลื่อนโครงการย่อยที่หนึ่ง ‘ประวัติศาสตร์สร้างย่านเพื่อการเรียนรู้สำหรับเทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก’ โดยอาจารย์อุดมพรรับผิดชอบด้านการค้นคว้าประวัติของย่าน ผมกับทีมงานก็ทำเรื่องสถาปัตยกรรม และหาวิธีเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์กับพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมของย่านออกมาเป็นชุดการเรียนรู้ให้คนในชุมชนและผู้ที่สนใจ
จากการค้นคว้า เราพบความเป็นไปได้ว่าตลาดใต้คือตลาดแห่งแรกของเมืองพิษณุโลก โดยมีหลักฐานย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ 3 จากบันทึกการจ่ายอากรเรือนค้าขายริมน้ำน่าน รวมถึงภาพวาดแผนที่ของพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ที่ระบุพิกัดตลาดใต้ว่าเป็นตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2444 หรือราว 120 กว่าปีมาแล้ว
แม้ไม่มีหลักฐานทางภาพถ่าย แต่จากเอกสาร ก็พอทำให้เราเห็นภาพว่าแต่ก่อนตลาดใต้เป็นเรือนไม้ที่ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ริมน้ำน่าน มีระเบียงไม้ยื่นออกไปทางแม่น้ำ กระทั่งเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2500 เผาผลาญเรือนไม้เหล่านี้จนหมดสิ้น ก่อนจะมีการฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ด้วยการสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนตามเทศบัญญัติของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น พร้อมมีการตัดถนนและวางผังเมืองใหม่ มีการสร้างหอนาฬิกาไว้เป็นแลนด์มาร์ค มีการตัดถนนทุกสายทางฝั่งตะวันออกให้วิ่งเข้าหาหอนาฬิกา และมีการขยายถนนฝั่งริมน้ำน่าน
จากการสำรวจอาคารในย่านตลาดใต้และตลาดเจริญผลทั้งหมด 303 อาคาร เราพบว่าอาคารทุกหลังถูกสร้างหลังยุค 2500 ทั้งหมดเป็นอาคาร คสล. และเป็นอาคารโมเดิร์นชุดแรกในเมืองพิษณุโลกซึ่งยังคงถูกใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้
เช่นนั้นแล้ว จะกล่าวได้ว่าย่านตลาดใต้คือย่านที่ยังคงเต็มไปด้วยบรรยากาศของยุค 2500 ผ่านสถาปัตยกรรม ผมมักบอกผู้มาเยือนเสมอว่าให้สังเกตอาคารที่อยู่ตามมุมถนนที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาคารบนถนนพุทธบูชาฝั่งริมแม่น้ำน่าน ที่ถ้าใครขับรถเลียบแม่น้ำเข้าย่านตลาดใต้ จะเห็นอาคารหลังนี้ก่อนใครเพื่อน
อาคารหลังนี้มีการสลักตัวอักษรปี 2500 ไว้ด้านบนเป็นการระบุปีที่ก่อสร้าง และมีลายดอกเหมยประดับอยู่แผงคอนกรีตด้านหน้า โดยลายดอกเหมยเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตระกูลของเจ้าของอาคาร ทั้งนี้ในตลาดใต้ มีการสำรวจพบตรารูปแบบนี้ 4 ลาย ได้แก่ เทพพนม บัวหงาย ดอกบัวตูม และดอกเหมย ทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงตระกูลต่างๆ ผู้เป็นเจ้าของอาคาร
ขณะที่หลายอาคารในย่านก็มีการนำสัญลักษณ์ของความเป็นจีนซึ่งมากับพื้นเพของผู้ประกอบการที่นี่ มาผสานกับความเป็นไทย จนเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการนำลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาแบบจีนมาผสมกับลายไทย หรือการใช้เส้นโค้งมาประดับที่แผงหน้าอาคาร รวมไปถึงอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงปี 2540 ยังมีการพบเห็นการนำเสาคอริเทียนที่เป็นอิทธิพลตะวันตกมาใช้ เพื่อสะท้อนถึงความทันสมัยอีกด้วย
การมาชมตึกรามบ้านช่องในตลาดใต้ถือได้ว่าเป็นความรื่นรมย์ที่เพิ่มเติมเข้ามาจากการจับจ่ายใช้สอยหรือหาของอร่อยๆ กินในย่าน เพราะอาคารหลายๆ หลังก็ยังคงถูกใช้เป็นร้านค้าดั้งเดิมที่มีการสานต่อมาหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งแน่นอน ร้านรวงเหล่านั้นก็บรรจุเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากมาย โดยทีมวิจัยของเราก็ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้จัดแสดงที่นิทรรศการภายในโรงงิ้วตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ
สำหรับผม ตลาดใต้ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์อันดีเยี่ยม เพียงแต่ที่ผ่านมา ผู้คนให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างเรื่องพระนเรศวรอย่างเดียว ผมจึงมองว่าถ้าเราพัฒนาย่านเหล่านี้ที่ประวัติศาสตร์ยังคงมีชีวิตอยู่คู่กับชุมชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมจุดแข็งของเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างพิษณุโลกของเราได้อีกมาก”
รองศาสตราจารย์ ศุภกิจ ยิ้มสรวล
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้พิษณุโลก
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…