/

ศักยภาพที่มากไปกว่าตลาด
ทอดน่องชมตลาด และสนทนากับ
ธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าโครงการ “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก

Start
175 views
56 mins read

WeCitizens นัดหมาย อาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มาพบกันที่ตลาดใต้ พิษณุโลก ตอน 9 โมงเช้า แต่ทันทีที่เราบอกเวลา อาจารย์ก็รีบตอบกลับมาว่า 9 โมงเช้าตลาดก็เริ่มวายแล้ว นั่นหมายถึงเราจะพลาดอะไรดีๆ ไปเยอะ

“ตลาดใต้เป็นตลาดเช้าครับ และเช้าของที่นี่คือตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นด้วยซ้ำ” อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าว

และนั่นทำให้เราเลื่อนเวลามาพบอาจารย์เป็น 7 โมงเช้า ซึ่งเอาเข้าจริง นั่นเป็นเวลาสายพอสมควรแล้วสำหรับตลาดแห่งนี้

โครงการ “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก คือโครงการวิจัยที่อาจารย์ธนวัฒน์ ได้รับงบวิจัยจาก บพท. มาขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้ขึ้นภายในตลาดใต้ พิษณุโลก ตลาดที่คนพิษณุโลกเห็นตรงกันว่า ไม่เพียงเป็นตลาดเช้าที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง แต่ยังเป็นตลาดเดียวที่เหมือนกาลเวลาหยุดหมุน หลายสิ่งหลายอย่างที่หมุนเวียนอยู่ในย่านเก่าแก่แห่งนี้ ไม่อาจพบได้จากที่ไหนในเมือง ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่วิถีชีวิตในตลาดหรืออาหาร แต่ยังรวมถึงสถาปัตยกรรม เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ของย่านที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง

“ผมไม่ใช่คนพิษณุโลก แต่ย้ายมาสอนหนังสือที่นี่เมื่อราวปี 2541 นี่ก็ยี่สิบกว่าปีได้แล้ว ตลาดใต้เป็นตลาดแห่งแรกที่ผมได้มาเดินตอนมาอยู่เมืองนี้ แรกๆ ผมก็เดินซื้อของในฐานะที่เป็นตลาด แต่พอมาบ่อยๆ เข้า ก็พบว่าที่นี่ไม่ใช่แค่ตลาดแบบที่หลายคนเข้าใจ” อาจารย์ธนวัฒน์ เล่า

ขยายความโดยสังเขป ไม่เพียงตลาดใต้และย่านใกล้เคียงที่อยู่ริมแม่น้ำน่าน จะปรากฏหลักฐานของการโยกย้ายมาตั้งรกรากของชาวจีนเมื่อกว่าสองศตวรรษก่อน จนเกิดเป็นชุมชนที่มีชาวจีนมากที่สุดในหัวเมืองฝ่ายเหนือ และชาวจีนเหล่านั้นก็ผสานเข้ากับวิถีท้องถิ่นจนเกิดเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งร่วมบุกเบิกเมืองพิษณุโลกส่งต่อมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภายหลังอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2500 ย่านตลาดใต้ก็เป็นย่านแรกๆ ที่ได้รับการฟื้นฟู และมีการสร้างอาคารคอนกรีตรูปแบบสมัยใหม่ ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วเมือง กลายมาเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่าจนถึงทุกวัน

ย่านแห่งนี้จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง กระนั้น ในอีกแง่มุม ด้วยทำเลที่อยู่ระหว่างแม่น้ำน่านกับสถานีรถไฟ ติดกับหอนาฬิกา และไม่ไกลจากแลนด์มาร์คของเมืองอย่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) และพระราชวังจันทน์ อาจารย์ธนวัฒน์จึงมองว่าตลาดใต้แห่งนี้เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญทางด้านการเรียนรู้เมืองพิษณุโลก รวมถึงการขับเคลื่อนให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สอดรับไปกับแลนด์มาร์คแห่งอื่นๆ ของเมือง

และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไม เมื่อได้รับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อนเมืองพิษณุโลกในกรอบของเมืองแห่งการเรียนรู้ อาจารย์ธนวัฒน์จึงเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่นำร่อง

เจ็ดนาฬิกาตรง อาจารย์ธนวัฒน์มารอเราอยู่หน้าศาลเจ้าปุงเถ่ากง-ม่า ศาลเจ้าเก่าแก่ในตลาด เขาสวมกางเกงขาสั้นและเสื้อยืดสีขาวสกรีนโลโก้ ‘ตลาดใต้ พิษณุโลก’ ซึ่งทีมวิจัยของเขาออกแบบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของโครงการ (รวมถึงนำไปทำผ้ากันเปื้อน แจกพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ประหนึ่งยูนิฟอร์มที่ทำให้ผู้คนจดจำ) เรากล่าวทักทาย ก่อนที่อาจารย์จะเล่าคร่าวๆ ถึงมื้ออาหารที่รอเราอยู่ “เอาล่ะ เริ่มเดินกันเลยดีกว่า” อาจารย์ว่า

และใช่ พร้อมกับที่อาจารย์พาเราไปรู้จักพ่อค้าแม่ค้าในตลาด และตระเวนชิมอาหารอร่อยๆ เราก็กดอัดเทป บันทึกเสียงสนทนาว่าด้วยความเป็นมาและเป็นไปของโครงการวิจัย รวมถึงมุมมองที่อาจารย์มีต่อศักยภาพที่เป็นมากกว่าตลาดเก่าแก่คู่เมืองแห่งนี้

เราได้เขียนเกริ่นในบทความนี้ไปแล้วถึงศักยภาพของตลาดใต้ ที่ทำให้อาจารย์เลือกพื้นที่แห่งนี้ทำโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ไปแล้ว แต่ก็อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าเสริมอีกหน่อยครับว่า ตลาดใต้แห่งนี้มีดียังไง
ผมมองว่านี่เป็นตลาดและย่านที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลกมากๆ ขณะเดียวกันด้วยกายภาพและทำเลของมัน ก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองได้ ก่อนที่ บพท. จะเข้ามา ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรก็เข้ามาทำโครงการวิจัยในตลาดใต้แห่งนี้บ้างแล้ว อาจารย์อรวรรณ (ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร) หนึ่งในทีมวิจัยของเรา ก็เคยพานักศึกษามาทำโครงการด้านการสื่อสารในพื้นที่ จนได้รางวัลจากธนาคาร SCB รวมถึงอีกโครงการประกวดของ Singha Corporation ที่ผมเข้ามาช่วยอาจารย์ด้วย ก็ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ

ส่วนผมในฐานะอาจารย์ภาควิชาการท่องเที่ยว ก็เคยชวนให้นักศึกษาลงมาเก็บข้อมูลเพื่อประเมินศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองอยู่หลายครั้ง และก่อนที่ บพท. จะเข้ามา ผมยังได้รับทุนจาก สกสว. มาทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ร่วมกับอาจารย์อรวรรณ ดังนั้น เราจึงมีเครือข่ายที่เข้มแข็งกับผู้คนในตลาด และกล่าวได้ว่าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เหมือนเป็นดอกผลจากหลายโครงการที่เราริเริ่มไว้ในตลาดใต้แห่งนี้ 

แล้วทำไมอาจารย์จึงเลือกกำหนดทิศทางให้ตลาดแห่งนี้เป็น “ย่านเก่าเล่าเรื่อง” ครับ
กลับมาที่ศักยภาพของพื้นที่ อย่างที่บอกว่าตลาดแห่งนี้เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง ถ้าดูจากแผนที่ของกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ที่ทรงเขียนไว้เมื่อคราวที่เสด็จเมืองพิษณุโลก ปี พ.ศ. 2444 จะเห็นได้ว่ามีการตั้งตลาดอยู่บริเวณนี้อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าตลาดใต้น่าจะมีอายุไม่น้อยไปกว่า 120 ปี ตลาดแห่งนี้จึงมีความเก่าแก่พอที่จะบรรจุเรื่องเล่าเรื่องด้วยตัวมันเอง รวมถึงเล่าเรื่องของเมืองได้

ทีนี้ผมก็ใช้กระบวนการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้อย่าง BSMCL Model มาจับ (Boundary, Stories, Map, Co-Learning และ Live-Library) พร้อมกับสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้คนในตลาด เพราะไม่มีใครจะเล่าเรื่องย่านได้ดีไปกว่าคนในย่านหรือพ่อค้าแม่ค้าที่ส่งต่อกิจการจากรุ่นแล้ว ผมมองว่าผู้ประกอบการและผู้คนในย่านนี่แหละ คือทุนที่สำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้

พูดถึงโมเดล BSMCL ตัวอักษรแรกนี่คือ Boundary ที่แปลว่าขอบเขต ผมสังเกตว่าขอบเขตของพื้นที่นี่ไม่ใช่แค่ตลาดใต้ แต่ยังเลยมาถึงวงเวียนหอนาฬิกาและตลาดที่อยู่ใกล้ๆ ด้วย
ใช่ครับ ขอบเขตนี้เกิดจากที่ทีมวิจัยของเราลงไปเก็บข้อมูลกับคนในพื้นที่ ตอนแรกเราก็กำหนดแค่ภายในตลาดใต้ แต่คนในตลาดบอกว่า ไม่ได้ อาจารย์จะเอาแค่นี้ไม่ได้ ต้องครอบคลุมไปถึงตลาดเจริญผลที่อยู่ติดกับหอนาฬิกา เพราะแต่ไหนแต่ไร ผู้คนสองตลาดนี้ก็ไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว และพัฒนาการของย่านการค้าของเมืองก็เกิดจากตลาดสองแห่งนี้พร้อมกัน ที่สำคัญคนตลาดใต้เขาก็ไม่ได้คิดว่าเขาอยู่แค่ตลาดใต้ แต่เป็นย่านนี้ทั้งย่าน เราก็เลยวางขอบเขตพื้นที่วิจัยมาถึงตลาดเจริญผลด้วย
 
และตัวอักษรตัวที่สองอย่าง S หรือ Stories ล่ะครับ อาจารย์วางทิศทางไว้อย่างไร
Stories คือเรื่องเล่าของผู้คนในย่านที่เราไปสัมภาษณ์และเรียบเรียงมา นี่คือคอนเทนต์หลักของงานวิจัย ทั้งนี้ S: Stories เป็นทั้งเนื้อหางานวิจัย และสื่อที่เราใช้เผยแพร่ให้คนส่วนใหญ่รับรู้ด้วย โดยเรามีทั้งเพจเฟซบุ๊คที่รวบรวมบทสัมภาษณ์และความคิดเห็นของผู้คนในตลาด ผ่านเพจ ‘ตลาดใต้ พิษณุโลก’ (www.facebook.com/profile.php?id=100068896173400) วิดีโอสัมภาษณ์ใน YouTube (www.youtube.com/@user-or6qd5xg2d) และ E-book ซึ่งภายหลังงานวิจัยนี้จบลงแล้ว เพจเฟซบุ๊ค ตลาดใต้ พิษณุโลก ของเราก็ยังแอคทีฟอยู่ เพราะมันกลายเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนในตลาดไปแล้ว ใครจะมาเดินตลาดใต้ อยากรู้ว่ามีอะไรอร่อยกินบ้าง หรือควรไปเช็คอินที่ไหน เขาก็เข้าไปหาข้อมูลจากเพจนี้ หรือพ่อค้าแม่ค้าในตลาด เขาอยากฝากข่าวสาร เขาก็มาฝากที่เราเพื่ออัพเดตลงในเพจด้วย ซึ่งผมก็ดีใจมากนะที่ยังช่วยเป็นสื่อกลางให้เขาอยู่จนทุกวันนี้

แม้ว่าอาจารย์จะมีเครือข่ายผู้ประกอบการในตลาดจากการทำงานวิจัยโครงการก่อนๆ มา แต่พอจะให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดมาให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการนั่งเล่าเรื่องของพวกเขาให้เราฟังเนี่ย อาจารย์ได้เจออุปสรรคอะไรบ้างไหมครับ
เจอครับ แรกๆ เขาก็ไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่ ยิ่งเฉพาะพอเราวางกิจกรรมอย่างจิบชาชวนคุย ที่มีลักษณะแบบเวทีเสวนาด้วยเนี่ย เขาไม่เอาด้วยเลย เพราะอย่างที่บอกว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเขาตั้งใจจะมาขายของ ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรในอำเภออื่น ที่เดินทางมาที่นี่เพื่อเอาผลผลิตมาขาย ตอนแรกๆ เขาก็ไม่ได้เห็นว่างานวิจัยเราจะช่วยให้เขาขายได้ดีมากขึ้นเท่าไหร่ และเขาก็มีวิถีชีวิตที่ชัดเจน อย่างมาตั้งร้านตอนตี 4-5 ขายของจนถึงราวๆ 9 โมงเช้า ก็เก็บแผง และแยกย้ายกันไป เขาก็เลยไม่อยากร่วมประชุมกับเรา

แล้วอาจารย์ทำยังไง
ก็ต้องสร้างความร่วมมือ ทำให้เขาเปิดใจ วิธีนี้อยู่นอกแผน แต่ก็ได้ผลมากทีเดียว ผมนำเงินเบี้ยเลี้ยงนักวิจัยมาผลิตเสื้อยืดสกรีนลายโลโก้ตลาดใต้ที่เราออกแบบกัน แจกพ่อค้าแม่ค้า ทำให้เขาเห็นว่างานวิจัยนี้มันช่วยทำแบรนด์ให้ตลาดที่พวกเขาขายของอยู่ได้นะ พ่อค้าแม่ค้าก็ชอบกันมาก แต่ความที่เรามีงบจำกัด หลายคนก็ไม่ได้เสื้อยืด ก็เลยหาทางออกด้วยการทำผ้ากันเปื้อน เพราะคุณขายของในตลาด ก็ต้องมีผ้ากันเปื้อน เลยสกรีนโลโก้ลงผ้ากันเปื้อนแล้วแจก พวกเขาก็ชอบกัน เลยนำมาใส่ เหมือนมีวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ร่วม และก็เริ่มเปิดใจกับเรามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความที่พ่อค้าแม่ค้าเขามีวิถีการค้าขายเป็นเวลาดังที่บอก วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลของเรา จึงต้องทำไปพร้อมกับที่พวกเขาขายของด้วยเลย ก็ไปชวนเขาคุยตอนที่เขาขายของนี่แหละ ก็นัดเขาก่อน ตั้งกล้องวิดีโอ หาจังหวะที่ลูกค้าเริ่มซา จับพวกเขามานั่งสัมภาษณ์ (หัวเราะ) แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือกับเราดีหมดเลยนะ

แต่พอขึ้นชื่อว่าเป็นงานวิจัย อาจารย์อธิบายผลลัพธ์กับเขาว่ายังไง เวลาไปขอเขาสัมภาษณ์ครับ
ก็ดีที่เราตั้งเพจเฟซบุ๊คขึ้นมา เลยสื่อสารง่ายมากว่าที่เราคุยกันเนี่ย จะถูกนำไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ตลาดด้วย พอเขารู้ว่าอยู่ในสื่อ สิ่งนี้ก็ช่วยโปรโมทธุรกิจเขาได้เยอะนะ ส่วนในมุมนักวิจัย ผมพบว่า..เออนี่แหละคืองานวิจัยที่เป็น edible research หรืองานวิจัยที่กินได้ มันไม่ใช่แค่การถอดข้อมูลเพื่อไปใช้ในวิชาการ แต่เป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง

จากขอบเขต (B: Boundary) และเรื่องเล่า (S: Stories) มาถึงตัวที่สามคือ M: Map หรือแผนที่ อาจารย์สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับคนในตลาดยังไง
แน่นอน พอเรามีขอบเขตที่แน่ชัด แผนที่มันก็ไม่ได้พ้นไปกว่าขอบเขตที่เรากำหนด เพียงแต่เราร่วมมือกับชาวชุมชนในการให้พวกเขากำหนดแลนด์มาร์ค หรือจุดต่างๆ ในแผนที่เองทั้งหมด แน่นอน เรามีศาลเจ้าพ่อปุงเถ่ากง-ม่า ศาลเจ้าพ่อเสือ และศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมถึงพื้นที่ภายในตลาดสดยืนพื้นอยู่แล้ว แต่จุดอื่นๆ นี่เกิดจากการที่ชาวบ้านมาร่วมวางกับเราหมด ร้านเก่าแก่คู่ตลาดอยู่ตรงไหน โรงหนังเก่าที่ถูกทุบทิ้งไปแล้วอยู่ตรงไหน ท่าเรือเก่าอยู่ตรงไหน ร้านไหนที่ต้องแวะกิน เป็นต้น สินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในตลาดทั้งหมดก็จะอยู่ในแผนที่นี้ และเราก็นำแผนที่ และข้อมูลจากงานวิจัยมาจัดทำเป็นนิทรรศการ จัดแสดงอยู่ภายในโรงงิ้วเก่าที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ ใครมาเดินตลาด และอยากรู้อะไร ก็แวะไปดูที่นั่นได้

แล้วที่นี้ พอมีแผนที่ มันไม่ใช่แค่บอกว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่ยังทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมทั้งหมดของตลาด และเห็นถึงความเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบของเมือง อย่างด้านข้างของตลาดใต้ ฝั่งแม่น้ำน่าน มีพื้นที่ของตลาดไนท์บาซาร์ ซึ่งเมื่อก่อนเคยเฟื่องฟู แต่ตอนนี้ตลาดซบเซาลงไป ปัจจุบันเทศบาลก็พยายามฟื้นฟูตลาดแห่งนี้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณมารีโนเวทพื้นที่ เราก็นำแผนที่ไปให้เทศบาลดูว่าเราสามารถเชื่อมร้อยโครงการฟื้นฟูนี้เข้ากับตลาดใต้อย่างไรได้บ้าง เขาก็รับเรื่องไป หรืออย่างที่เทศบาลทำถนนคนเดินเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ภายในตลาดใต้ ก็เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันนี้ด้วย แม้ว่าทางทีมวิจัยเราไม่ได้ทำตลาดนี้ในปัจจุบันแล้วก็ตาม

มาถึงตัว C: Co-Learning Space และตัว L: Live-Library เข้าใจว่าอาจารย์วางสองตัวนี้ให้สอดรับกับการทำโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ในตลาดใต้ด้วย เลยอยากให้ขยายความหน่อยครับ  
จากที่คุยกับชาวตลาดใต้ และหลายคนเห็นตรงกันว่าพื้นที่โรงงิ้วเก่าที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้า เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมได้เยอะ อย่างทุกวันนี้เราใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการและแผนที่ แต่ก่อนหน้านี้ เราวางแผนจะทำเป็น Co-Learning Space ให้ผู้คนมาเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน ก็ทำคล้ายๆ กับถนนคนเดินเสาร์-อาทิตย์ที่ตอนนี้มีอยู่นั่นแหละ ใช้โรงงิ้วเป็นที่จัดเวิร์คช็อป ชวนศิลปินมาทำงานศิลปะ ชวนเด็กนักเรียนมาเรียนเขียนลวดลายหน้ากากงิ้วกัน นี่เป็นโครงการแรก ซึ่งเราก็เตรียมอุปกรณ์ไว้หมดแล้ว เพียงแต่พอได้กำหนดการ ก็เจอโควิด-19 ระบาดรอบใหม่เสียก่อน กิจกรรมก็เลยพักไป แต่เราก็คิดว่าพื้นที่ตรงนี้มันมีศักยภาพเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้จริง และทำอะไรได้อีกเยอะ

ส่วนตัว L: Live-Library หรือห้องสมุดมีชีวิต อันนี้เรามองว่าตลาดใต้มันมีลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้คนที่ไม่ได้มาเดินเองได้รู้ เลยทำแชนแนล YouTube ขึ้น และใส่ Stories ที่เราได้ไว้ในคลิปวิดีโอ มีฟุตเทจสัมภาษณ์คนในตลาด มีรายการที่พาไปรู้จักร้านรวงต่างๆ ในตลาดมากขึ้น เป็นต้น   

นอกจากนี้ หลังจากเราได้โมเดลเพื่อสร้างกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้แล้ว เรายังนำข้อมูลที่มีทั้งหมดคืนกลับไปให้เทศบาลนครพิษณุโลก ผ่านการทำ e-book สรุปงานวิจัยให้เข้าใจง่าย รวมถึงบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่าน อาหารการกิน และสถาปัตยกรรม ก็เอาไปให้เขาดูว่าพื้นที่ตลาดใต้แค่นี้ มีเรื่องน่าสนใจที่พร้อมนำไปต่อยอดได้มากเลยนะ

อาจารย์ได้ทำข้อเสนอให้เทศบาลไหมว่าเขาควรต่อยอดยังไง
ผมคิดว่าโมเดลนี้มันไปพัฒนาต่อในย่านอื่นๆ ของเมืองได้ ให้คนในพื้นที่มาเล่าเรื่องของพวกเขา รวมถึงทำให้พวกเขาสามารถเล่าเรื่องของตัวเองให้ได้ สิ่งนี้จะเป็นทั้งฐานข้อมูล เป็นสื่อที่จะดึงดูดให้คนอื่นมาเรียนรู้ในพื้นที่ รวมถึงเป็นรูปธรรมที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่

ก่อนหน้าจะทำโครงการนี้ ผมไม่ได้คิดจะเสนอแค่ตลาดใต้แห่งเดียว พิษณุโลกมีย่านเรียนรู้หลายย่านมาก อย่างตลาดใต้เป็นชุมชนชาวจีนใช่ไหม ตรงบ้านแขกก็มีชุมชนชาวมุสลิมอยู่ แถวโรงเรียนเซนต์นิโกลาสก็เป็นย่านชาวคริสต์ ส่วนแถววัดตาปะขาวหายเป็นย่านที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผา เป็น creative economy ได้อีก หรือพิพิธภัณฑ์จ่าทวีก็มีโรงหล่อพระเก่าแก่ เป็นต้น พิษณุโลกเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ และเราทำเส้นทางเชื่อมเมือง ผ่านการใช้ประตูโบราณของเมืองเป็นตัวเดินเรื่องได้ เพราะเรามีหมด ทั้งประตูทวาย ประตูผี ประตูมอญ ประตูจีน แล้วก็เชื่อมเข้าไปจบที่พระราชวังจันทน์ได้

พอคนในย่านตระหนักรู้ และสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ อย่างที่บอก ความภาคภูมิใจที่พวกเขามีนี่แหละ จะทำให้เขาอยากมีส่วนในการแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง ผมย้ำกับเทศบาลเสมอว่าทำไมการเสนอเมืองพิษณุโลก ให้ไปอยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO จึงสำคัญ มันไม่ใช่แค่ทำให้คนในเมืองได้รู้ แต่ยังทำให้พวกเขาได้รักเมืองของเขา แถมยังได้องค์ความรู้ใหม่ๆ จากเมืองเครือข่ายระดับโลกอีก

แล้วเทศบาลว่ายังไงครับ
เขาก็รับฟังนะ แต่ก็ยังไม่ได้มีแอคชั่นอะไรมาก จนกระทั่งทีมพวกคุณมาติดต่อสัมภาษณ์คนพิษณุโลกนี่แหละ ทางเทศบาลเขาก็โทรหาผมเมื่อเช้าเลยว่า เราน่าจะเอาเมืองพิษณุโลกเข้ายูเนสโกด้วย ซึ่งนั่นล่ะ บางทีเราก็อาจต้องอาศัยเสียงจากคนภายนอก มาพูดหรือชี้ให้เขาเห็นว่าเมืองเรามีศักยภาพนะ

นอกจากการส่งข้อมูลคืนกลับให้เมือง เรายังทำคลิปวิดีโอ ‘ตลาดใต้ อิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มท้อง’ ลงในยูทูป (www.youtube.com/watch?v=4xQOF3to3lU) เป็นเหมือนการสรุปให้เห็นมิติต่างๆ ของย่าน อันนี้ไม่ได้อยู่ในงานวิจัย แต่ผมคิดว่าถ้ามีวิดีโอที่บอกภาพรวมและศักยภาพของย่านมาสักชิ้น จะทำให้ทุกคนเข้าใจตลาดแห่งนี้ไม่น้อย ซึ่งก็พอดีกับที่พิษณุโลกจัดงานปั่นจักรยานระดับโลก เลอแทปไทยแลนด์ บาย ตูร์เดอฟรองซ์  (L’Etape Thailand by Tour De France) ทางผู้จัด เขาก็นำวิดีโอตัวนี้ไปฉายด้วย ก็เป็นเรื่องน่ายินดีอีกเรื่อง ที่ผลพวงจากงานวิจัยได้ถูกนำมาสร้างประโยชน์ต่อ และทำให้ผู้คนจากทั่วโลกได้รู้จักตลาดใต้แห่งนี้

ถึงโครงการของอาจารย์สร้างผลกระทบในเชิงบวกให้ย่าน ทั้งการมีสื่อออนไลน์ มีนิทรรศการถาวรในโรงงิ้ว รวมไปถึงมีส่วนทำให้เกิดถนนคนเดินเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ แต่ท้ายที่สุดตลาดใต้ก็ยังเป็นตลาดเช้าที่มีความคึกคักแค่ช่วงเวลาเดียว พอมาที่นี่ในเวลาอื่น ก็จะค่อนข้างเงียบเหงา เพราะเจ้าของส่วนใหญ่เลือกจะย้ายไปอยู่ที่อื่น อาจารย์มีความคิดที่จะฟื้นคืนชีวิตชีวาให้กับที่นี่ยังไงครับ
ตอบตามตรง มันอยู่เหนือขอบเขตของพวกเราครับ อย่างไรก็ตาม ด้วยสื่อสาธารณะที่เราทำทั้งเฟซบุ๊คและยูทูป มันก็ช่วยสร้างความรับรู้ให้คนส่วนหนึ่งได้เห็นว่าย่านนี้มันยังมีชีวิตของมันอยู่นะ ขณะเดียวกัน ในช่วงหลังๆ มานี้ ผมก็พบคนรุ่นใหม่กลับมาบ้านเกิดเพื่อเริ่มธุรกิจของเขาเอง อย่างที่คุณไต๋ (ยอดพล อุทัยพัฒน์) กลับมารีโนเวทตึกเก่าในย่านเป็นร้านอาหาร (ร้านบ้านก๋ง) และคาเฟ่ (Brown) ตรงหัวมุมริมถนนพุทธบูชา ก็มีร้านกาแฟ Finally Coffee Co. หรือที่ร้านซุ่นฮะฮวดมาเปิดเป็นร้านติ่มซำ ก็สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของย่าน หรืออย่างคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือที่เพิ่งเปิดใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ พวกเขาก็มีมุมมองในการขับเคลื่อนย่านนี้ให้สอดรับไปกับยุคสมัย ผมว่าต่อไป ตลาดใต้จะเป็นย่านที่เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ อีกเยอะ แต่ที่น่าดีใจที่สุดคือ ถึงหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่บรรยากาศแบบตลาดเช้าดั้งเดิมของย่านก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

มีเหตุการณ์ไหนหรือช่วงเวลาใดที่ทำให้อาจารย์ตระหนักว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่กับตลาดใต้แห่งนี้ คือสิ่งที่คิดว่าถูกต้องหรือเรามาถูกทางบ้างแล้วไหมครับ    
ตอนที่คนในตลาดมาให้กำลังใจ บอกว่าสู้ๆ นะอาจารย์ แล้วเราจะไปด้วยกัน แค่นี้เลยครับ เพราะกว่าจะถึงจุดนี้ได้ ผมถอดใจไปหลายรอบเหมือนกัน แต่พอเราทำงานหนักและสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ พ่อค้าแม่ค้าเขาก็เปิดใจ หลายคนเอาขนมมาให้ผมกินโดยไม่คิดเงินบ่อยๆ เขาเห็นว่าเราเหนื่อยและอยากช่วยเหลือ การมาเดินที่นี่ มันให้อารมณ์เหมือนได้กลับบ้านเลย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย