“พ่อผมเป็นทั้งคนขับรถม้าและคนฝึกม้า ตอนเด็กๆ เวลาพ่อผมไปขับรถม้าพานักท่องเที่ยวชมเมือง แกจะพาผมนั่งติดรถไปด้วย ผมขึ้นหลังม้าตั้งแต่อายุราว 5-6 ขวบ พออายุ 8 ขวบ พ่อก็ให้จับสายขับและฝึกควบคุมม้า จนผมอายุ 12 ปี จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 5 ธันวาคม พ่อออกไปทำธุระนอกบ้านพอดี ผมเลยถือโอกาสพานายบุญทอง ม้าที่พ่อให้ผมใช้ฝึกลากรถออกไปเข้าคิวรับลูกค้า
ความที่ผมนั่งรถม้ากับพ่อมาตลอด เลยจดจำเส้นทางได้แม่น ทริปแรกของผมจึงราบรื่น ผมได้รับค่าแรง 50 บาท สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 15 บาท ผมเอาไปอวดเพื่อนใหญ่เลย พอพ่อมารู้ทีหลัง แต่เห็นว่าผมทำได้ แกก็ไม่ว่าอะไร หลังจากนั้นพอมีเวลาว่าง อย่างวันหยุดหรือปิดเทอม ผมก็หาเวลาขับรถม้าตลอด โดยมีนายบุญทองเป็นม้าตัวแรกในชีวิต
ช่วงที่เรียนมัธยมต่อวิทยาลัยเทคนิค ผมมักจะหาเวลาขับรถม้าเสมอ แต่เป็นงานหาค่าขนม ไม่ได้จริงจังอะไร พอเรียนจบผมไปทำงานที่กรุงเทพฯ และย้ายไปเป็นครูอยู่จังหวัดตากอีกหลายปี จนมาปี พ.ศ. 2560 พ่อผมเกิดเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพาตครึ่งซีก ผมเลยต้องลาออกจากงานกลับมาดูแลพ่อที่ลำปาง ความที่มีทักษะอยู่แล้ว และพ่อก็มีรถม้าพร้อม ก็เลยเปลี่ยนอาชีพมาขับรถม้า ควบคู่ไปกับการเป็นช่างทำเกือกม้า และทำงานศิลปะขายตามที่ต่างๆ
ถึงจะมีทักษะการขับรถม้าอยู่แล้ว แต่การกลับบ้านครั้งนี้ทำให้ผมต้องเรียนรู้อะไรหลายๆ เรื่องใหม่ ทั้งการดูแลคนป่วย และการบริหารจัดการอาชีพอิสระใหม่นี้ ที่สำคัญคือเรียนรู้ม้าที่ต้องใช้เทียมรถขับ
ม้าแต่ละตัวมีบุคลิกเฉพาะนะครับ ม้ามีความฉลาดและมีความจำที่ดี แต่ก็มีลักษณะนิสัยที่เรียกร้องให้เราต้องทำความเข้าใจพอสมควร อย่างนายบุญทองม้าตัวแรกของผมเนี่ย เขาจะเป๊ะเรื่องเวลามากๆ ทุกวันพ่อจะพาเขาไปรับนักท่องเที่ยว และพาไปตามเส้นทางต่างๆ เขาจะรู้ได้เลยว่าจุดไหนที่เขาจะได้พัก จุดไหนที่เขาต้องเดินต่อ หรือกระทั่งพอตกเย็น ถึงเวลากลับบ้าน เขาก็จะเดินกลับบ้าน จำได้ว่าตอนเด็กๆ ที่ผมขับรถม้า แล้วตกเย็น ผมแวะเข้าห้องน้ำ ออกมาอีกทีนายบุญทองหายไปแล้ว เขาเดินกลับบ้านเอง ผมต้องโบกรถแถวนั้นเพื่อไล่ตาม (หัวเราะ)
พอพ่อเริ่มหายดีจนสามารถกลับมาขับรถม้าได้อีกครั้ง ความที่ชีวิตการเป็นสารถีของผมลงตัวแล้ว และรู้สึกสนุกกับมัน ก็เลยขับรถม้าต่อ จนปี 2563 เกิดโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย ก็ผลักดันให้ผมต้องเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง
คือแต่ไหนแต่ไร ผมเป็นคนชอบขวนขวายหาข้อมูลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานบริการอยู่แล้ว อย่างถ้าพานักท่องเที่ยวนั่งรถม้าชมเมือง ผมก็จะบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ตามจุดต่างๆ พร้อมไปกับอ่านบุคลิกของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านด้วย เช่น คนนี้ใช้กล้องถ่ายรูปโปร ก็คงชอบถ่ายรูปทิวทัศน์หรือสถาปัตยกรรมแน่ๆ ผมก็จะแนะนำมุมถ่ายรูปสวยๆ ให้เขา หรือถ้าคนนี้มาสายบุญ ก็จะพาไปไหว้พระขอพรวัดนั้นวัดนี้ หรือบางคนเขาสนใจเรื่องเครื่องแต่งกายพื้นเมือง ผมพาไปดูจิตรกรรมฝาผนังวัดประตูป่องเลย มีให้ดูครบ เป็นต้น
แต่ทีนี้พอโควิดมาเอานักท่องเที่ยวของเราไป ก็เลยมาคิดต่อว่าจะเอายังไง เพราะคนท้องถิ่นใครเขาอยากจะขึ้นรถม้าชมเมืองตัวเองกัน ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้เราก็ไม่ต่างอะไรจากแท็กซี่ที่ไม่มีผู้โดยสาร ก็เลยเปลี่ยนกิจกรรม หันมาเปิดบ้านตัวเองให้ผู้ปกครองพาลูกๆ หลานๆ มาเล่นและมาเรียนรู้เกี่ยวกับม้า พาไปนั่งรถม้าสำรวจเส้นทางอันซีน ให้เด็กๆ ได้ให้อาหารม้า ไปขี่ม้า เรียนรู้ว่าม้าใช้ชีวิตยังไง ซึ่งผมก็เพิ่งมาสังเกตว่าแม้คนลำปางจะคุ้นเคยกับรถม้า แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับม้าเท่าใด ผมก็เลยทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้นี้ขึ้นมา รวมถึงผมยังจัดการแสดงฟ้อนเจิง-ฟ้อนดาบสร้างความบันเทิง ซึ่งเป็นทักษะที่ผมได้มาจากตอนเป็นครูให้ลูกค้าชมด้วย
สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่ผมสะสมประสบการณ์จากการเป็นคนขับรถม้าด้วยครับ เพราะขณะที่เราบรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกค้าฟัง เราก็ฟังลูกค้าด้วยว่าเขาสนใจอะไร เขาเคยไปเที่ยวไหนมา แล้วที่ที่เขาไปมีการจัดการอย่างไร มันช่วยให้ผมเรียนรู้ได้เยอะ และสิ่งนี้ก็ได้ผลเมื่อเมืองต้องมาเผชิญกับวิกฤตที่ทำให้การขับรถม้าแบบเดิมๆ ไม่อาจอยู่รอดได้อีกต่อไป
พอโควิดซา เมืองก็เริ่มดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา แต่ผมก็ยังทำกิจกรรมนี้ต่อไปควบคู่ไปกับการขับรถม้าพาชมเมืองเช่นเดิม และความที่ผมแต่งตัวมีเอกลักษณ์ สังเกตไหม คนขับรถม้าส่วนใหญ่จะออกแนวคาวบอย แต่ผมว่าลำปางตอนกลางวันนี่ร้อนมากนะครับ ผมใส่เสื้อพื้นเมืองกับกางเกงสะดอดีกว่า เป็นคาวบอยเหมือนกัน แต่เป็นคาวบอยน้ำปู๋ สไตล์ลำปาง (ยิ้ม) ก็มีลูกค้าให้ความสนใจเยอะ พวกเขามาขอถ่ายรูป ผมก็ได้ทิปเพิ่มอีก
ตอนนี้ผมอายุสี่สิบกว่า คุณเชื่อไหมว่าผมเป็นสารถีที่อายุน้อยกว่าใครเขาเลย สิ่งที่ผมทำอยู่นี้ นอกจากเป็นอาชีพที่ผมรัก ผมก็อยากพิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าอาชีพคนขับรถม้ามันอยู่ได้นะ จริงอยู่ หลายคนอาจมองว่ามันไม่มั่นคงเท่ารับราชการหรือทำงานบริษัท แต่ก็อย่าลืมว่าคนขับรถม้าที่นี่หลายคนก็สร้างตัว สร้างครอบครัว และส่งลูกจบด็อกเตอร์มาไม่น้อย สิ่งสำคัญคือหลังจากนี้เราจะร่วมขับเคลื่อนอย่างไรให้อาชีพนี้สามารถการันตีรายได้ที่มั่นคง หน่วยงานต่างๆ หรือรัฐจะช่วยกันสร้างกระบวนการอย่างไรให้อาชีพคนขับรถม้าสามารถอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ
ทุกวันนี้ลำปางมีรถม้าราว 100 คัน แต่มีคนขับจริงๆ ราว 50-70 คน ลองเทียบดูสิว่าประเทศไทยเรามีประชากรทั้งหมดราว 70 ล้านคน อาชีพคนขับรถม้าคิดเป็นสัดส่วน 1 ในล้านคนเลยนะ นี่เป็นอาชีพที่ไม่ธรรมดา และทุกฝ่ายก็ต่างเห็นตรงกันว่าควรอนุรักษ์วิถีนี้ไว้ให้คู่เมืองลำปาง สิ่งนี้มีคุณค่ามากพอให้ผมต้องสู้ไปกับมันเพื่อวันข้างหน้า”
ว่าที่ ร.อ. สุพจน์ ใจรวมกูล
สารถีรุ่นใหม่ ช่างทำเกือกม้า และศิลปินอิสระ
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…