เคยมีคนดูถูกว่า ผมทำเรือฉลอมแบบนี้แล้วจะพอกินเหรอ จะรวยเหรอ ผมบอกชีวิตนี้ผมไม่ต้องการรวย มีข้าวพอกินทุกวันๆ พอใจละ

“ตอนผมเป็นเด็กอายุประมาณ 7 ขวบ ตอนเช้าหลวงปู่สุวรรณ วัดวิเวกสันติธรรม หัวหิน จะมาปลุก ไปหิ้วปิ่นโตหลวงปู่ออกบิณฑบาต แล้ววันหนึ่งผมไปเจอคุณตามุ้ย ประคำทอง ช่างต่อเรือฉลอมจิ๋ว ท่านนั่งทำเรือฉลอมอยู่ ราคาเรือฉลอมจิ๋วของท่านลำละตั้ง 700 บาท สมัยนั้นข้าวสารถังละ 20 บาทนะ ตอนนั้นก็ดูๆ ไม่ได้สนใจอะไร พอโตขึ้น ผมทำงานเป็นพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาหัวหิน 20 ปี แล้วตอนคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่มนุษย์ ทีนี้ใครอายุมาก ความรู้น้อย เงินเดือนเยอะ ให้พิจารณาตัวก่อน ผมก็เกษียณออกมาก่อนเลย ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จะทำอาชีพอะไร เพื่อนที่ทำงานด้วยกันก็บอกว่าทำเรือของตามุ้ยสิ เราก็ทำไม่เป็น ความรู้เรื่องช่างไม่มี วันๆ ดูแต่ตัวเลข จับแต่ปากกา แต่ก็ลองทำดู มันทำไม่ได้จนจะล้มเลิกละ คุณเห็นทะเลมั้ย มันทั้งกว้างใหญ่ไพศาล จู่ๆ มีเรือมาเกยที่หาดทรายหน้าร้านเพื่อนของผม ก็ดำขึ้นมา เขาบอก “พี่ ได้เรือตามุ้ยมา” ผมดีใจมาก ขอเพื่อนมาทำแบบ กลับมาบ้านก็จุดธูป บอกว่าถ้าญาณวิถีของตามุ้ยยังมีอยู่ ยังรักที่จะให้เรือฉลอมจำลองนี้อยู่คู่คนหัวหิน ก็ขอให้ผมทำได้ แล้วผมก็แกะแบบ ก็ทำได้! ท่านไม่อยากให้มันหายไปจากหัวหิน ประวัติศาสตร์จะไม่มีคนเล่าถ้าไม่มีคนสานต่อ แล้วผมก็เรียนรู้เกี่ยวกับเรือฉลอม การเป็นมาเป็นไปของหัวหิน วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหมดที่คนรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดผ่านเรือฉลอมนี้ มีประวัติเยอะ เป็นเรือขนส่งสินค้าด้วย พอได้ปลาเอามาทำปลาเค็ม ขึ้นรถไฟไปขายที่กรุงเทพฯ เป็นอาชีพของชาวหัวหิน

               เรือฉลอมจิ๋วทุกลำผมใช้ไม้สัก วิธีเริ่มต้นทำคือเอาไม้สักแผ่นเดียว ใช้เครื่องมือผ่าให้บางเพื่อให้ลายไม้เกิดขึ้น ไม่ใช้เลื่อยเพราะจะไปกินเนื้อไม้แล้วลายจะไม่ต่อกัน พอเป็นแผ่นแล้วก็ประกอบเป็นตัวเรือ เราทำสัดส่วน 9 ชิ้น เขียนกำกับไว้ 9 แผ่น หน้า A หน้า B เรือลำนี้ไม่มีตะปูเลยซักตัว เราใช้ไม้ไผ่สีสุกมาเหลาขนาดเท่าดอกสว่านตอกลงไปแล้วใช้กาวยึดเอาไว้ สาเหตุที่ไม่ใช้ตะปูเพราะพอลูกค้าได้หัตถกรรมของเราไปแล้ว ไปอยู่ในความชื้นหรืออะไร ตะปูจะเป็นสนิม หัตถกรรมก็จะไม่สวย แล้วหัตถกรรมของผมเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 ในแง่สัญลักษณ์เลข 9 ที่เราใส่ลงไปตามหลักเลขศาสตร์ 9 แผ่น 2 ด้าน 18 แผ่น ใช้ไม้ต่อเรือทั้งหมด 27 แผ่น ความยาวหัวเรือท้ายเรือลำลึก 36 เซนติเมตร ทุกเลขบวกกันได้ 9 หมด

               ผมต่อเรือฉลอมจิ๋วมาสามสิบปี ได้รับประกาศนียบัตรหัตถกรรมแรงบันดาลใจคำสอนของพ่อ ได้รับตำแหน่งครูช่างของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศเมื่อปี 2558 และที่ภูมิใจที่สุดคือ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แปรพระราชฐานมาวังไกลกังวล ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เอาเรือฉลอมผมเข้าไปทูลเกล้าถวายพระองค์ท่าน พระองค์ท่านรับสั่งมาว่า “ให้ไปบอกเขาด้วยว่า อนุรักษ์ไว้ อย่าทิ้ง” ผมจำได้ว่าตื่นเช้ามา รถตู้ 2 คันของศูนย์วัฒนธรรมฯ มาที่หน้าบ้าน หัวหน้าศูนย์ฯ มาบอกว่า “ดีใจด้วยนะ หัตถกรรมของคุณเข้าไปในวังแล้ว พระองค์ตรัสฝากมา” ดังนั้นผมก็ทำอาชีพอื่นไม่ได้

               ตอนนี้ผมก็เปิดสอนฟรีให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ คุณมาแต่ตัว อุปกรณ์เรามีให้หมด มีข้อแม้ว่าคุณกินข้าวมาหรือยัง ถ้าคุณไม่กินข้าว เราเอาข้าวให้กินอิ่มก่อน เราทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ใครอยากรู้อยากเรียน เข้ามาได้เลย ผมก็ดูทักษะ รักที่จะมา ผมก็สอน อย่างแรก คุณทำบ้านเลขที่ก่อน ฉลุเลขไปติดบ้าน ช่วยเหลือไปรษณีย์ เคอร์รี่ได้ด้วย พอได้ปุ๊บ ก็สอนต่อเรือ สอนทำอย่างอื่น แต่บางคนเขาก็ไม่ได้ไปต่อเรือ เขาไปทำอย่างอื่น เขารู้จักการใช้เครื่องมือ รู้จักไม้ การแกะ งานเหลือเฟือเลย อย่างเขาไปทำป้ายชื่อ ฉลุตัวอักษร ใช้เครื่องมือที่เราทำมาเอง โดยที่ตลาดไม่มีขาย สั่งลาซาด้าก็ไม่ได้ ผมประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมา อย่างสว่านจิ๋ว ถ้าไม้หนา ใช้สว่านใหญ่เจาะไปมันก็ทะลุ สว่านหักบ่อยผมก็มีตัวลับสว่านให้ใช้งานได้ต่อ เราทำเรือฉลอมทั้งวัน มีสมาธิ จดจ่อ บางคนมาแป๊บๆ ขอเครื่องมือไป ก็ไปเลย ไม่กลับมา แต่อย่าไปคิดเครียด เราสนุกกับคนที่เข้ามา อย่างน้อยได้เล่าให้เขาฟังเรื่องหัวหิน เรื่องเรือฉลอม

               งานของผมเน้นไปทางพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือเศรษฐกิจพอเพียง เราเห็นค่าของไม้ที่ทิ้งอยู่ตามกองขยะ ลูกศิษย์ที่ผมสอนเป็นโรคจิตทุกคน ทีแรกเขาผ่านกองขยะเขาไม่สนใจ ตอนนี้เห็นไม้โผล่จากกองขยะเขาวิ่งเข้าหาเลย เขารู้คุณค่า ถ้าผมไปซื้อไม้ท่อนนึงมันตั้งหลายตังค์ แล้วไม้สักเป็นไม้มงคลของไทย คุณสมบัติคือมอดไม่กิน แมลงไม่กิน ปลวกไม่กิน ไม่ยึดไม่หด พอเป็นไม้มงคล เหมือนใครได้เรือของเราไป มีความเป็นมงคลแก่บ้าน เป็นหัตถกรรมที่รับประกันตลอดชีวิต ถ้ามีเศษหยากไย่ ขี้จิ้งจก ขี้ฝุ่น เขาก็มาให้ผมทำความสะอาด พ่นแลกเกอร์ใหม่ เปลี่ยนใบเรือให้ใหม่ ลูกค้าก็พอใจ ผมขายอยู่ที่บ้านนี่ กับหน้าเพจ คนที่มาซื้อเรือผมมีหลายขั้นตอน ไม่ได้ได้ง่ายๆ เพราะเขาเสียสตางค์แล้วต้องให้เขาได้เต็มอิ่ม เขาอยากได้อะไรก็ทำให้ บางออเดอร์สามปียังไม่ได้ทำเลยเพราะเราทำพิเศษอย่างไม้ต้องหาให้ตรงกับความต้องการเขา หรืออยากได้อะไรที่เราไม่เคยทำก็ต้องทำให้ได้ หาทางหารูปแบบ มันมีกูเกิลให้หาได้

               เคยมีคนดูถูกว่า ผมทำเรือฉลอมแบบนี้แล้วจะพอกินเหรอ จะรวยเหรอ ผมบอกชีวิตนี้ผมไม่ต้องการรวย มีข้าวพอกินทุกวันๆ พอใจละ เรานั่งทำงานตรงนี้ทุกวัน ทำสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ท่านมอบให้เป็นคำพูดประโยคสั้นๆ ว่า “ให้อนุรักษ์ไว้ อย่าทิ้ง” เราทำสามวันได้หนึ่งลำ พันห้าร้อยบาท หักค่าอุปกรณ์ก็เหลือไม่เท่าไหร่ แต่เราพอใจ และเผื่อถ่ายทอดให้คนที่สมัครใจ มีจิตวิญญาณที่อยากมาทำ บอกคนที่มาเรียนว่า เรามาทำเรือฉลอม ยุงกัดขาเราไม่รู้เรื่องเพราะมีสมาธิ มุ่งมั่น พอทำเสร็จเราก็ภูมิใจ แต่ยุงกัดแดงเต็มขาเลย ตอนนี้ก็เหมือนให้งานเป็นครูบาอาจารย์ สอนให้เราปฏิบัติ ทำยังไงไม้แผ่นเดียวให้ออกมาทีละแผ่น พอทีละแผ่นเราทำยังไงให้ไม้สนิทกันไม่ให้มีรูโหว่ขึ้นมา ให้มันเกิดความเนียน ลูกค้าฝรั่งที่ชอบงาน เขาบอกว่างานของเราทุกชิ้นเป็นมาสเตอร์พีซ ไม่เหมือนกันเลยสักลำ รูปแบบเหมือนกัน แต่ลายไม้ไม่เหมือนกัน ไม่ได้ทำจากเครื่องจักร งานมันมีจิตวิญญาณของคนทำอยู่ในนี้”

ธนเดช บุญนุ่มผ่อง (ลุงเปีย)

ช่างต่อเรือฉลอมจิ๋ว

ครูช่างศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) ประจำปี พ.ศ. 2558

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

7 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago