“เนื่องจากเราสอนวิชาเกี่ยวกับการออกแบบสิ่งทอ เราเห็นว่าราชบุรีเป็นคล้ายชั้นเรียนเรื่องการทอผ้าอันยอดเยี่ยม โดยที่ไม่ต้องพานักศึกษาเดินทางไปดูงานที่ไหนไกล”

Start
380 views
7 mins read

“ความที่ชาวบ้านคูบัวส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานชาวไทยวนที่ถูกกวาดต้อนจากเชียงแสนมาที่เมืองราชบุรีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ศิลปวัฒนธรรมไทยวนจึงยังคงมีการสืบสานต่อกันที่นี่ หลายบ้านยังคงพูดคำเมือง อาศัยในบ้านเรือนยกสูง นุ่งผ้าซิ่น และที่สำคัญคือยังคงทอผ้าซิ่นตีนจกแบบดั้งเดิมอยู่

เนื่องจากเราสอนวิชาเกี่ยวกับการออกแบบสิ่งทอที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเห็นว่าราชบุรีคือเมืองที่เป็นคล้ายชั้นเรียนเรื่องการทอผ้าอันยอดเยี่ยมโดยที่ไม่ต้องพานักศึกษาเดินทางไปดูงานที่ไหนไกล เพราะที่นี่มีครบตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของแบรนด์ Pasaya โรงงานทอผ้าขาวม้าขนาดกลางที่มีอยู่หลายแห่ง และที่สำคัญคือแหล่งผลิตผ้าซิ่นตีนจกในระดับครัวเรือนอย่างที่เห็นในบ้านคูบัวแห่งนี้  

โจทย์หนึ่งของงานวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่เรารับผิดชอบในโครงการย่อยที่ 2 คือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะหัตถศิลป์ (Art & Craft LAB) ร่วมกับนักเรียนและประชาชนในเขตราชบุรี ก่อนจะต่อยอดไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของเมือง โดยเราก็ได้ชวนนักศึกษาที่มัณฑนศิลป์ ซึ่งมีองค์ความรู้ด้านการออกแบบอยู่แล้วแต่ไม่มีความรู้เชิงเทคนิคการทอ ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้เทคนิคดังกล่าว รวมถึงร่วมกันกับช่างทอพื้นบ้าน หาวิธีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผืนผ้าให้มีความร่วมสมัย เพื่อเป็นต้นแบบของสินค้าชุมชน รวมถึงของที่ระลึกใหม่ๆ ให้กับเมือง

ควบคู่ไปกับการทำกระบวนการเรียนรู้ และชวนนักเรียนในโรงเรียนเขตเทศบาลมาประกวดแนวคิดการออกแบบเมือง เนื่องจากงบ บพท. ที่ได้มาจำกัด เรายังได้ของบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบที่หวังให้เป็นตัวจุดประกายแรงบันดาลใจให้แก่คนราชบุรีในการสร้างมูลค่าจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ โดยเราได้งบจากโครงการ U2T ออกแบบชุดเฟอร์นิเจอร์และหมอนที่สะท้อนลวดลายของผ้าทอพื้นถิ่นในบริบทร่วมสมัย

ส่วนนักวิจัยท่านอื่น ก็ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย เช่น นาฬิกาแขวนผนังที่นำเสนอลวดลายอัตลักษณ์ของเมือง บอร์ดเกมและตัวหมากที่ผลิตจากเครื่องปริ้นท์สามมิติซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเกร็ดความรู้ของเมือง ของตบแต่งบ้านที่สะท้อนอัตลักษณ์ของหนังใหญ่วัดขนอน หรือหุ่นจำลองกระดาษที่เป็นแลนด์มาร์คของเมือง เป็นต้น”

รองศาสตราจารย์ ประภากร สุคนธมณี
อาจารย์ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย