/

เปิดลายแทงสำรวจบ้านเก่า
ถนนยมจินดา

Start
196 views
15 mins read

หากผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านไม่บอก เราก็อาจไม่รู้ว่าอันที่จริงลำคลองน้อยๆ ที่ตึกแถวในย่านพากันหันหลังให้ในย่านยมจินดา แต่เดิมคือทางสัญจร และเส้นเลือดหลักในการค้าของเมืองระยอง

นั่นคือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เมื่อความเจริญยังไม่ชักพาให้รถราวิ่งบนท้องถนน แม่น้ำจึงเป็นทางคมนาคมหลักที่เชื่อมพ่อค้าจากที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาคล่องเรือจากอ่าวไทยสู่ปากแม่น้ำระยอง มาทอดสมอทำการค้าในย่านแห่งนี้


กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2443 ถนนยมจินดา ถนนสายแรกระยะทางราว 700 เมตรของระยอง ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลของเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย (เกตุ ยมจินดา) ก็ถูกตัดขึ้น ถนนสายที่แล่นผ่านใจกลางเมืองและวางตัวขนานกับแม่น้ำระยองสายนี้ เปลี่ยนภูมิทัศน์เมืองระยองไปอย่างน่าสนใจ จากทิวบ้านที่หันหน้าเข้าหาแม่น้ำ ก็ถูกเคลื่อนย้าย (ทั้งวิธีการดีดและงัดบ้าน) กลับหลังหันเข้าหาถนน จากแม่น้ำสายสำคัญ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคลองหลังบ้าน และจุดเริ่มต้นของถนนยมจินดาในฐานะถนนสายประวัติศาสตร์ของเมืองก็เริ่มต้นขึ้น

หากระยองเป็นเมืองที่มีรายได้ต่อหัวหรือ GDP สูงที่สุดในประเทศในปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ถนนยมจินดาก็เป็นถนนที่เต็มไปด้วยคหบดีที่ร่ำรวยในระดับที่ว่าเป็นศูนย์กลาง GDP ของเมือง อาคารพาณิชย์ที่เรียงรายตลอดสองข้างทางอัดแน่นไปด้วยร้านค้า ธนาคาร ร้านทอง อู่ต่อเรือ โรงภาพยนตร์ โรงสี ไปจนถึงโรงฝิ่น รวมถึงบ้านพักอาศัยของทั้งชาวระยองและชาวจีนที่มาตั้งรกราก ก่อนจะเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนหลากตระกูลในระยอง ณ ปัจจุบัน

แน่นอนที่ว่าเมื่อกระแสของเวลา ความเจริญจึงกระจายตัวไปทั่วเมือง ความรุ่งเรืองของยมจินดาจึงเหลือเพียงความทรงจำที่บอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น กระนั้นหลักฐานแห่งอดีตก็ยังคงหลงเหลืออยู่ผ่านสถาปัตยกรรมอันงดงาม ตระหง่านเป็นมรดกสำคัญของเมืองมากกว่าศตวรรษ

หลักฐานที่ไม่เพียงบ่งชี้ถึงความรุ่งโรจน์ในอดีต แต่ยังเป็น ‘ต้นทุน’ สำคัญของการพัฒนาระยองในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของระยองในอนาคต และเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วน

บ้านเจ้าเมือง ต้นตระกูลยมจินดา
บ้านไม้สีฟ้าริมแม่น้ำระยองหลังนี้เคยเป็นที่พักและที่ทำการของของพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ต้นตระกูลยมจินดา และนักพัฒนาผู้ริเริ่มให้มีการตัดถนนสายแรกสายนี้ ปัจจุบันทายาทตระกูลยมจินดา เปิดบ้านหลังนี้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่จัดแสดงสารพัดข้าวของเครื่องใช้ในยุคเก่าก่อน รวมถึงเป็นร้านอาหารต้นตำรับระยอง

บ้านบุญศิริ 

บ้านบุญศิริถูกสร้างขึ้นพร้อมบ้านเจ้าเมืองเมื่อปี 2474 เป็นบ้านคอนกรีตสูงสองชั้นที่ถือว่าทันสมัยที่สุดเมื่อศตวรรษที่แล้ว เนื่องจากนำรูปแบบก่อสร้างมาจากบ้านในกรุงเทพฯ บ้านหลังนี้เดิมเป็นของทายาทเกตุ ยมจินดา เจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ซึ่งสมรสกับ พูน บุญศิริ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองระยอง และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านบุญศิริ’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับบ้านเจ้าเมือง


ตึกกี่พ้ง (หลานเอกคอฟฟี่เฮาส์)
ตึกกี่พ้งเป็นอาคารสไตล์ตะวันตกรูปแบบชิโน-โปรตุกีสหลักแรกของเมืองระยอง สร้างขึ้นเมื่อปี 2456 โดย กี่พ้ง แซ่ตั๋น เศรษฐีจากภาคใต้ที่มาทำธุรกิจในระยอง สมัยก่อนเคยเป็นร้านจำหน่ายพริกไทยและเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองจีน ต่อมาทายาทได้อนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้อย่างดี และต่อยอดเป็น ‘หลานเอกคอฟฟี่เฮาส์’ หนึ่งในคาเฟ่ระดับแลนด์มาร์คของเมือง

บ้านมาลีวณิชย์
บ้านมาลีวณิชย์เป็นมาสเตอร์พีชของการสร้างอาคารไม้แบบโบราณ ทั้งการกั้นผนังด้วยไม้ฝาแบบบานเกล็ด และเป็นประตูแบบบานเฟี้ยม อันเป็นลักษณะดั้งเดิมของร้านค้าชาวจีนมาตั้งแต่อดีต หากยังมีความโมเดิร์นด้วยการใช้กระเบื้องโมเสกจากอิตาลีปูพื้น ซึ่งปัจจุบันยังคงเก็บรักษาพื้นเดิมไว้อยู่ ปัจจุบันบ้านนี้เป็นร้านขายหนังสือและหมอน


พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง (บ้านสัตย์อุดม)
ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องเก่าก่อนผ่านรูปถ่ายและโบราณวัตถุของเมืองระยอง บ้านหลังนี้เคยเป็นของขุนศรีอุทัยเขตร์ ขุนนางผู้เป็นเจ้าของโรงสี โรงหนัง และอู่ต่อเรือ บ้านไม้สองชั้นหลังนี้มีจุดเด่นคือช่องลมที่มีลวดลายฉลุแบบจีนไว้ ซึ่งยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์

ศาลเจ้าแม่ทับทิม
ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนจะมีถนนยมจินดา (พ.ศ. 2421) ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือศาลตุ้ยบ้วยเนี่ย เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่ทับทิมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่กราบไหว้ของชาวระยอง อาคารศาลเจ้าหันออกสู่แม่น้ำระยอง ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่าแม่น้ำระยองเคยเป็นชีพจรหลักของเมือง ปัจจุบันไม่เพียงศาลเจ้าจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านและในระยอง แต่ยังเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ที่เชื่อมกิจกรรมอันสร้างสรรค์ของคนระยองทุกรุ่นเข้าด้วยกัน ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายตลอดปี   

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย