เป็นที่รู้กันว่าถ้านึกถึงมะพร้าวคุณภาพดี คนนครจะนึกถึงเมืองปากพูนแห่งนี้

Start
554 views
14 mins read

“ความที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลปากพูนเป็นดินตะกอนที่เกิดจากการทับถมของทะเล ดินที่นี่จึงมีความเค็มเป็นที่โปรดปรานของต้นมะพร้าว พืชดั้งเดิมในพื้นที่ นั่นทำให้วิถีชีวิตของชาวปากพูนเกี่ยวข้องกับสวนมะพร้าวจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นที่รู้กันว่าถ้านึกถึงมะพร้าวคุณภาพดี คนนครก็จะนึกถึงเมืองปากพูน

ชาวปากพูนมีภูมิปัญญาในการสร้างรายได้จากมะพร้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูกมะพร้าวขายเป็นลูก น้ำมะพร้าว กะทิ น้ำตาลมะพร้าว ไปจนถึงเอาก้านมาทำเครื่องจักสาน สถานะของการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในสวนมะพร้าวแห่งต่างๆ ในตำบลปากพูนจึงมีความชัดเจนมาก ทางทีมวิจัยจึงเห็นว่าหากเรานำงานวิชาการเข้าไปเสริมและสร้างเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ในสวนมะพร้าวแห่งต่างๆ ขึ้น ก็น่าจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจในชุมชนได้มาก เราจึงทำโครงการ ‘พร้าวผูกเกลอ’ ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการย่อยที่ 2 ของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน


หลังจากที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจวิถีการผลิตมะพร้าวและประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการและสวนมะพร้าวในแง่มุมต่างๆ เราก็ได้คัดเลือกสวนมะพร้าว 5 สวนที่ต่างมีวิถีและเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวเฉพาะตัวและเหมาะแก่การเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ โดยทีมวิจัยก็เข้าไปส่งเสริมด้านการแปรรูป การรวมกลุ่ม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงการออกแบบ การตลาด ไปจนถึงการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ ดังนี้

สวนแห่งแรกคือสวนมะพร้าวบ้านพ่อเชื่อง ที่หมู่ 4 แต่เดิมสวนแห่งนี้ประสบปัญหาที่ว่ามะพร้าวที่มีดั้งเดิมในสวนมีลำต้นที่สูงเกินไป จนมีความเสี่ยงต่อการเก็บเกี่ยว ทางเจ้าของสวนจึงไปปรึกษาศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และได้รับการสนับสนุนให้ทดลองบุกเบิกการปลูกมะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 ในพื้นที่ดู มะพร้าวสายพันธุ์ชุมพร 2 มีลำต้นเตี้ยสะดวกแก่การเก็บ และออกผลในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพวกมันก็ออกผลในสวนของพ่อเชื่องอย่างดีเยี่ยม

ทั้งนี้ สวนมะพร้าวบ้านพ่อเชื่องยังเป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนให้สวนเพื่อนบ้านหันมาปลูกชุมพร 2 เหมือนกัน นำมาสู่กลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับจากการขายกล้าต้นมะพร้าวผลละ 5-6 บาท ไปเป็นผลละ 50 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สวนบ้านพ่อเชื่องจึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในการเพาะพันธุ์ต้นกล้ามะพร้าว

สวนแห่งที่สองและสามคือสวนมะพร้าวบ้านเอกาพันธ์ และสวนมะพร้าวบ้านสวนพอเพียง ทั้งสองแห่งอยู่ในหมู่ 2 ปัญหาเดิมของสวนสองแห่งนี้คือที่ดินส่วนใหญ่ที่เคยเป็นบ่อกุ้งร้าง ซึ่งทำให้ดินมีความทรุดโทรม ทางเจ้าของสวนจึงมีการปลูกพืชสวนครัวผสมผสานเพื่อปรับหน้าดิน และเลี้ยงปศุสัตว์อย่างวัวเนื้อและปลา เกิดเป็นสวนผสมผสานที่สร้างรายได้หลายทาง

สวนที่สี่คือสวนมะพร้าวลุงแดง โดดเด่นด้านการนำมะพร้าวมาแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งแต่เดิมเขาจะทำน้ำตาลมะพร้าวส่งขายโรงต้มเหล้า และร้านอาหารต่างๆ จนเมื่อทางเทศบาลมาให้แนวทางในการปรับน้ำตาลที่ได้จากสวนเหล่านี้ให้รับประทานง่ายขึ้น ทางลูกสาวของลุงแดงจึงคิดไอเดียแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวให้มีรูปทรงแบบลูกเต๋าขนาดเล็กสำหรับใช้ผสมกาแฟ เกิดเป็นสินค้าที่ขายดี ขณะเดียวกันทางทีมวิจัยของเราก็เข้าไปสนับสนุนให้ทำน้ำตาลมะพร้าวคาราเมล ในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายขึ้นเสริมเข้าไป ซึ่งเรากำลังผลักดันให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อยู่

และสวนที่ห้าคือสวนปันสุข เป็นอีกสวนที่ปลูกพืชผสมผสาน หากโดดเด่นที่เจ้าของสวนได้ปลูกไม้ดอกไว้เยอะ จนดึงดูดให้ผึ้งเข้ามาทำรัง เจ้าของสวนจึงตัดสินใจทำคอนโดผึ้งภายในสวน เพื่อจะได้เก็บน้ำผึ้งจากรังมาจัดจำหน่าย รวมถึงยังใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยประหยัดพลังงานด้วย

จะเห็นได้ว่าสวนมะพร้าวทั้ง 5 แห่งล้วนมีความท้าทายและแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะตัวที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถนำไปถอดบทเรียนเพื่อประยุกต์กับพื้นที่ของตัวเอง ในขณะเดียวกัน หน้าที่ของโครงการไม่เพียงหาวิธีหนุนเสริมเทคโนโลยี การตลาด และสร้างแนวทางการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง แต่ยังรวมถึงการสร้างแผนที่และเส้นทางการเรียนรู้ และการผูกสัมพันธ์ผู้ประกอบการในแต่ละส่วนเพื่อให้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และภูมิปัญญาของตนเองเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสวนมะพร้าวในตำบลปากพูน ดังคำที่ว่า ‘พร้าวผูกเกลอ’ หรือมะพร้าวที่สานมิตรภาพในชุมชน ต่อไป”  

ดร.จิตติมา ดำรงวัฒนะ

อาจารย์สาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชและนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย