รศ. ดร.ชนิษฎา ชูสุข คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ หัวหน้าคณะประสานงานโปรแกรม CIAP ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
การทำงานร่วมกับโปรแกรมฯ ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ อาจารย์เข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี เทศบาลเมืองปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยส่วนตัวมีความคุ้นเคยกับพื้นที่อยู่แล้ว และบางแห่งเคยทำงานร่วมกันมาก่อนมากว่า 20 ปี เราจึงเห็นว่าแต่ละเมืองมีมุมมองกับงานวิจัย และการพัฒนาเมืองอย่างไร แต่ละเมืองมีศักยภาพ หรือเด่นเรื่องใด และผู้นำเมืองโดย นายกฯ เทศบาลแต่ละแห่งต่างเลือกเฟ้นเอาประเด็นเมืองที่น่าสนใจมาร่วมขับเคลื่อน เพราะคาดหวังว่าอยากให้เมืองของตนพัฒนาไปไกลกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ที่พนัสนิคมจะโดดเด่นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศในฐานะ “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ในปี พ.ศ.2566 กลุ่มเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 20,000 คน จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกันประชากรในเมืองมีแนวโน้มจะลดลง เป็นเมืองหด ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง โจทย์วิจัยจึงตั้งขึ้นมาว่าจะทำอย่างไร ทั้งกระตุ้นศักยภาพเมืองให้สามารถดึงดูดผู้คน ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีกิจกรรมในเมืองมากขึ้น ผ่านการยกระดับย่านเก่า ย่านการค้า ย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อหวังดึงดูดคนรุ่นใหม่ และเรียกคนกลับเข้าเมือง
สำหรับเมืองปากเกร็ด ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาการบริหารจัดการเมืองได้มุ่งเน้นศักยภาพและความพร้อมในการจัดการน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี จนพื้นที่ทั้ง 66 ชุมชนของเทศบาล คือรูปธรรมและต้นแบบการจัดการปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในปีนี้โปรแกรมฯ ได้เข้าไปพัฒนาโจทย์กับทางเทศบาล และเห็นร่วมกันว่าระบบการจัดการน้ำท่วมต้องได้รับการยกระดับและขยายผลด้วยกัน 2 ส่วน คือ การใช้ระบบข้อมูลเมือง (City Data Platform) และ LINE OA ผนวกเข้ากับการสร้างแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ การดูแลสร้างเสริมคุณภาพชีวิตระดับชุมชน
พื้นที่สามคือเมืองทุ่งสง ที่นี่เป็นอีกเมืองที่โดดเด่นเรื่องการจัดการอุทกภัย และเคยได้รับรางวัลพระปกเกล้า เมื่อปี พ.ศ.2565 (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติของชุมชนในเขตเทศบาลทั้ง 22 แห่ง การมุ่งเป้าเป็น “เมือง Resilient City ที่สามารถจัดการกับภัยพิบัติ” ของเทศบาลฯ จึงเป็นความท้าทายสำคัญและเป็นโจทย์วิจัยที่โปรแกรมเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เมืองสามารถจัดการกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าลงทุน