ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าคณะประสานงานโปรแกรม CIAP ภาคเหนือ
“ส่วนดีนอกจากงานวิจัยจะเข้าไปช่วยงานเทศบาลได้แล้วก็คือ เราสามารถเปรียบเทียบงานพัฒนาเมืองในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ว่ามีความท้าทายอะไร และผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่”
การทำงานโดยใช้โปรแกรม CIAP ในปีนี้ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ เรื่องหนึ่งคือ บริบท และโจทย์ของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน แต่จากประสบการณ์การทำงานวิจัยพัฒนาเมืองของ บพท. และคณะทำงาน เราพบว่ามีเครื่องมือ และนวัตกรรมอยู่ชุดหนึ่งที่น่าจะเวิร์คกับเมืองของเราได้ โดยหัวใจอยู่ที่โจทย์วิจัยที่ต้องมาจากท้องถิ่น มาจากวิสัยทัศน์ แผนงาน และความสนใจของเขาเอง แล้วเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ เอานักวิจัย วิชาการเข้าไปร่วมงาน ส่วนดีนอกจากงานวิจัยจะเข้าไปช่วยงานเทศบาลได้แล้วก็คือ เราสามารถเปรียบเทียบงานพัฒนาเมืองในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ว่ามีความท้าทายอะร และผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่
ในงานโปรแกรมฯ อาจารย์มีส่วนช่วยสนับสนุนเมืองในภาคเหนือ ได้แก่ เทศบาลนครลําปาง เทศบาลเมืองลําพูน เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลเมืองแพร่ ภาพรวมของเมืองทั้งหมดแบ่งเป็นกลุ่มง่าย ๆ ได้ว่า เทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองลำพูนจะเน้นไปที่การใช้วัฒนธรรมนำเรื่องการพัฒนาเมือง โดยกลุ่มเป้าหมายอาจเป็นผู้สูงอายุ หรือภาคประชาชน ชุมชน และเอกชนที่จะมีบทบาทเข้ามาช่วยตั้งแต่ระดับข้อมูลไปจนถึงปฏิบัติการ และเกิดผลลัพธ์ เช่นเดียวกับที่เทศบาลเมืองแพร่ที่เน้นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านเป้าหมายการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยี
สำหรับเมืองพิษณุโลก ท้องถิ่นและนักวิจัยให้ความสนใจกับการพัฒนาย่านชุมชนเก่าในเมือง โดยใช้การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยว ขยายผลจากพื้นที่ตลาดใต้ในเขตเทศบาล เมืองเชียงราย มุ่งเป้าไปที่การสร้างเมืองนวัตกรรมทางเกษตร และสร้างศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร พร้อมส่งเสริมความแข็งเรงของนิเวศเกษตรปลอดภัยให้เกิดขึ้นในเมือง และสุดท้ายคือเมืองนครสวรรค์ ที่สนใจการขับเคลื่อนเมืองให้เป็น E-Sport City และเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ในระดับภูมิภาค งานวิจัยก็จะเข้าไปเติมความเข้มแข็งของนิเวศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นใหม่ น่าสนใจ และท้าทายมาก