“เราคิดว่าการสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมเพื่อรู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน และรู้จักเมืองที่พวกเขาอยู่ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ช่วยให้เมืองเมืองนั้นมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพราะแม้เราจะรู้กันดีว่าหาดใหญ่เป็นเมืองการค้าและศูนย์กลางการศึกษาของภาคใต้ แต่เมื่อเราและทีมงานเมืองแห่งการเรียนรู้ มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้คนในชุมชนเลียบคลองเตยย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่ กลับพบว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีงานอดิเรก บางส่วนเป็นผู้ประกอบการที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน บางส่วนเป็นคนวัยเกษียณที่รับจ้างเฝ้าร้านให้ผู้ประกอบการอีกทอดหนึ่ง หากไม่ใช่การพักผ่อน คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ว่าจะทำอะไรในเวลาว่าง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะหาดใหญ่ไม่มีพื้นที่สาธารณะที่เพียงพอ หรือถ้ามีก็กลับใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งมองในมุมที่เราเป็นทั้งแม่และอาจารย์ (อาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ – ผู้เรียบเรียง) เราก็พบว่าสนามเด็กเล่นที่เมืองมีหลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นสนามเด็กเล่นหลายแห่งถูกทิ้งร้าง ไม่นับรวมพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ ของวัยรุ่นและวัยอื่นๆ เมื่อพื้นที่ไม่พร้อม กิจกรรมจึงไม่มี ความคิดสร้างสรรค์ก็เลยไม่เกิด
เราเป็นหนึ่งในทีมงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเข้ามาร่วมกับโครงการคลองเตยลิงก์ ปี พ.ศ. 2564 บทบาทของเราคือการพูดคุยกับตัวแทนชุมชน 200 คนจาก 10 ชุมชนที่อยู่เลียบคลองเตย เกี่ยวกับประวัติชุมชน วิถีชีวิตของคนในชุมชน อาหารขึ้นชื่อ ไปจนถึงความคาดหวังต่อโครงการและการพัฒนาจากภาครัฐ จากนั้นเราก็ออกแบบกิจกรรมที่เชื่อมชุมชนแต่ละแห่งเข้าด้วยกันด้วยภูมิปัญญาของคนในชุมชนเพื่อคนในชุมชน
กล่าวคือ พอเรารู้จักแล้วว่าชุมชนไหนเด่นในเรื่องอะไร เราก็ดึงผู้เชี่ยวชาญจากชุมชนนั้นๆ หรือจากสถานศึกษาในชุมชนมาเป็นวิทยากร แล้วก็ชวนเด็กและเยาวชนตั้งแต่ ป.1 ถึงม.ต้น มาร่วมเวิร์คช็อปและทำกิจกรรมร่วมกันในทุกสัปดาห์
กิจกรรมก็มีตั้งแต่เดินสำรวจชุมชนไปพร้อมกับเรียนรู้บทเรียนทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ก่อนจะให้เด็กๆ นำใบไม้มาฝนสีทำงานศิลปะกัน กิจกรรมเรียนรู้และแสดงมโนราห์ ก่อนจะถอดองค์ความรู้ด้วยการให้น้องๆ นำวัสดุที่มีมาสร้างสรรค์เป็นชุดโนราห์ DIY ของตัวเอง กิจกรรมเรียนรู้หมากรุกจีน หรือที่ได้รับเสียงตอบรับดีเป็นพิเศษ คือกิจกรรมเชิดสิงโต ซึ่งเราได้คณะเชิดสิงโตจากศาลเจ้าเซี่ยงตึ๊งมาสอน รวมถึงชวนน้องๆ ขึ้นศาลเจ้าไปชมห้องเก็บหัวสิงโตด้วย
เราออกแบบกิจกรรมโดยเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเองเป็นหลัก อย่างเชิดสิงโตเนี่ย ไม่เพียงเด็กๆ จะได้ฟังประวัติการเชิดสิงโตในหาดใหญ่ พวกเขายังได้เชิดสิงโต และมีการทดลองเอาวัสดุมาประกอบเป็นชุดเชิงสิงโต DIY แบบที่ทำในกิจกรรมมโนราห์ด้วย โดยหลังจบกิจกรรมก็มีการถอดบทเรียน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงที่มา ความหมาย และความสำคัญของภูมิปัญญาต่างๆ ในพื้นที่
ด้วยเวลาอันจำกัด เรามีความเสียดายเล็กน้อยที่ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ไม่ได้จัด เพราะถึงแม้อย่างที่บอกว่าในภาพรวม คนหาดใหญ่ดูเหมือนไม่มีงานอดิเรกกัน แต่ก็มีบางชุมชนที่เขาทำกิจกรรมกันเองและแทบไม่เห็นในปัจจุบันแล้ว เช่น ชุมชนกิมหยงสันติสุข ที่แม้คนส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้า แต่กลุ่มผู้สูงวัยของที่นี่ยังมีการรวมตัวกันเล่นกีฬาวู้ดบอล (Woodball) ในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักมาก เป็นต้น
และเพราะได้ทำกิจกรรมตรงนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำกับเราว่าพื้นที่สาธารณะคือสิ่งสำคัญ เพราะนี่จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนที่มีความสนใจเดียวกันมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน และเมื่อมีการเคลื่อนไหว มันก็จะดึงดูดให้คนที่มาเห็นและเกิดความสนใจมาเข้าร่วม พื้นที่ในเมืองมีการใช้งาน ผู้คนก็จะมีความผูกพันกับเมือง และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มีส่วนในการพัฒนาพื้นที่
และสุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาหาปากท้องและเศรษฐกิจของเมือง อย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือถ้าสวนสาธารณะมีที่นั่งที่พร้อม และมีสนามเด็กเล่นที่ใช้ได้จริง พ่อแม่ก็จะพาลูกไปเล่น ผู้ปกครองได้พักผ่อนในสวน ลูกได้เล่นสนุก อย่างน้อยๆ พ่อค้าแถวนั้นก็ได้ขายลูกชิ้นทอดและเครื่องดื่มแล้ว เห็นไหมคะ เมื่อพื้นที่พร้อม ผู้คนก็ได้ผ่อนคลาย ความคิดดีๆ ก็จะตามมา และแน่นอน กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังเกิดขึ้นตามมา”
ปิยวรรณ ขอจิตเมตต์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
และนักวิจัยจากโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้หาดใหญ่