เราจะค้าขายกันอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน หรือจะขายของไปด้วยและหาวิธีทำมาหากินอย่างยั่งยืนในอนาคตไปด้วย ก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นคุณไปคิดต่อแล้ว

Start
446 views
16 mins read

“ปู่ผมทำนาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างสถานีรถไฟโคกเสม็ดชุน หรือชุมทางหาดใหญ่อย่างทุกวันนี้ ตอนผมเป็นนักเรียน เมืองหาดใหญ่ยังมีถนนหน้าสถานีรถไฟแค่ 3 สาย ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อด้วยซ้ำ เราเลยเรียกกันว่าถนนสาย 1 สาย 2 และสาย 3 บ้านเรือนสมัยนั้นเป็นเรือนไม้อยู่ห่างๆ กัน พ้นจากถนน 3 สายนี้ไปก็เป็นทุ่งนาแล้ว

สมัยก่อนรถไฟที่วิ่งผ่านสถานีหาดใหญ่ส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับขนปศุสัตว์ไปขายที่มาเลเซีย ข้ามอุโมงค์เลยพื้นที่ที่ตอนนี้คือถนนศรีภูวนาถไป เคยเป็นด่านกักสัตว์เพื่อให้สัตวแพทย์ตรวจก่อนส่งออก เพื่อนร่วมชั้นของผมที่โรงเรียนมอชาย (หาดใหญ่วิทยาลัย) หารายได้เสริมในช่วงวันหยุดด้วยการรับจ้างเลี้ยงควาย เขามีฝีมือถึงขนาดสามารถจูงควายเข้าแถวเรียงหนึ่งต่อกัน 5-6 ตัวเดินไปไกลๆ ยังได้เลยนะ

พอมีรถไฟ เมืองก็ขยายตัว มีคนต่างถิ่นมาจับจองพื้นที่กันมาก ก่อนปี พ.ศ. 2500 มีโรงหนังเฉลิมยนต์ ตามด้วยโรงหนังอื่นๆ ผุดขึ้นอีกหลายแห่ง มีโรงแรมมาเปิดอยู่ 2-3 โรง แต่ยังไม่ใช่โรงแรมใหญ่มาก ส่วนตลาดกิมหยงยังเป็นตลาดสดที่ขายผักเป็นหลักอยู่


จนราวปี 2509-2510 ที่เริ่มมีการนำสินค้าจากปาดังเบซาร์ในมาเลเซียเข้ามาขาย เพราะตอนแรกเราส่งปศุสัตว์ไปขายเขาใช่ไหม พอเที่ยวกลับเข้าไทย ก็มีพ่อค้าเห็นว่าที่ปาดังมีสินค้าหลายอย่างที่ไม่มีในหาดใหญ่ ก็เริ่มจากแอปเปิ้ลและผลไม้อื่นๆ ตามด้วยขนม อุปกรณ์เก็บยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ผมจำได้ดีเลยว่าเวลารถไฟที่วิ่งมาจากมาเลเซียจะเข้าสถานีหาดใหญ่ รถจะต้องจอดชั่วคราวเพื่อรอให้นายสถานีสับรางก่อนเข้าเทียบชานชาลา ช่วงเวลานั้นคนบนรถไฟจะถีบสินค้าที่ขนมาจากมาเลเซียลงจากรถ และก็มีคนมาขนไปจนหมด พอรถเข้าสถานี เจ้าหน้าที่ก็จะไม่พบว่ามีสินค้าที่ต้องเสียภาษี จุดเริ่มต้นของตลาดสินค้าหนีภาษีในหาดใหญ่มาจากตรงนี้

พอมีสินค้า ก็ต้องมีตลาด นั่นแหละที่ทำให้ตลาดกิมหยงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเฟื่องฟู ที่นี่กลายมาเป็นตลาดใหม่ที่เต็มไปด้วยสินค้าราคาถูกจากมาเลเซีย ดึงดูดให้คนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาซื้อ รวมถึงสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ในเมืองแห่งนี้


ช่วง 2516-2517 สมัยที่คุณเคร่ง สุวรรณวงศ์ เป็นนายกเทศมนตรี หาดใหญ่เริ่มบูมในเชิงการท่องเที่ยว มีการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรม มีโรงแรมขนาดใหญ่มาเปิด โดยเฉพาะโรงแรมเจบีช่วงปี 2523 เมืองคึกคักในระดับที่ตลาดสดเปิด 24 ชั่วโมง ผู้คนในทุกจังหวัดทางภาคใต้และมาเลเซียมาซื้อเสื้อผ้า ของใช้ และพักผ่อนกันที่หาดใหญ่


ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในตัวเมืองใกล้สถานีรถไฟอย่างเดียว อย่างลุ่มน้ำอู่ตะเภา คนทางลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจากพัทลุง หรือสทิงพระก็นั่งเรือมาถึงคลองอู่ตะเภานำปลาเค็ม ข้าวสาร หรืออาหารต่างๆ มาขายคนหาดใหญ่ พอจะนั่งเรือกลับพวกเขาก็ซื้อปุ๋ย เครื่องตัดยาง ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนที่นี่ขนมาจากปาดังเบซาร์กลับไปด้วย นี่แหละที่สะท้อนภาพของเมืองแห่งการค้าที่มันเฟื่องฟูมากๆ

ผมอยู่หาดใหญ่จนถึงปี 2509 ไปเรียนต่อธรรมศาสตร์และเข้ารับราชการทหาร กลับมาอยู่บ้าน 2 ปี ไปประจำการที่ปัตตานีช่วงปี 2519 และย้ายไปนครศรีธรรมราชในช่วงคอมมิวนิสต์ปี 2520 ก่อนจะย้ายไปอยู่โรงเรียนนายร้อย จปร. แม้จะย้ายไปหลายที่ แต่ระหว่างนั้นผมก็ไปๆ กลับๆ หาดใหญ่ตลอด พอมีครอบครัวและมีลูกก็พาเขากลับมาเยี่ยมญาติที่นี่ ผมรับราชการจนถึงยศพันเอก และลาออกมาในปี พ.ศ. 2547 กลับมาทำธุรกิจที่บ้าน เป็นร้านอาหารร้านแรกที่เอากาแฟสดมาขาย แต่ตอนนี้อายุมาก เลิกทำไปแล้ว

 
อย่างที่บอกหาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี ตอนหนุ่มๆ นี่เห็นชัด เมืองเจริญมาก ทุกอย่างมารวมศูนย์กันที่นี่ การค้า การศึกษา การท่องเที่ยว และความบันเทิง เอาเข้าจริง ผมมองว่าหาดใหญ่ตอนนี้เลยจุดพีคมาแล้ว และก็เป็นธรรมชาติของกราฟที่มันต้องค่อยๆ มุดลง


อย่างไรก็ตามที่บอกว่ากราฟมันมุดลง ไม่ได้หมายความว่าเมืองมันจะตายลงนะ จริงอยู่ที่โควิดมาทำให้เศรษฐกิจเมืองฟุบหนัก แต่พอมีการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งเมืองมันก็ฟื้นตัว แต่คุณจะไปหวังให้มันเหมือนในอดีตคงไม่ใช่อีกแล้ว

ตอนนี้มันถึงเวลาที่เราต้องทบทวนว่าเรามีต้นทุนอะไรที่ยั่งยืนกว่าแต่ก่อน ซึ่งแน่นอน การศึกษาเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องคือการที่เรามีศูนย์การแพทย์ที่ดีที่สุดในภาคใต้ นี่ก็เป็นแต้มต่อที่สำคัญมากๆ สองสิ่งนี้มีศักยภาพพอที่จะทำให้หาดใหญ่ยังคงสถานะศูนย์กลางของภาคใต้ได้อยู่นะ

ซึ่งผมมองว่าเรายังไปได้อีก เรามีสถาบันการศึกษาที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาและมีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมาเราเน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อจบออกมาเข้าสู่ตลาดงานหรือโรงงานอย่างเดียว ผมเชื่อว่าเราสร้างคนมาผลิตนวัตกรรมของตัวเองได้ เราสร้าง provider ที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับเมือง ซึ่งมันก็ไปสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางสุขภาพและการแพทย์ของเราได้อีก แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้จริงจังกับสิ่งนี้เสียที


คนหาดใหญ่ไม่ควรค้าขายอย่างเดียวเหมือนเดิมแล้ว และการจะไปพึ่งการท่องเที่ยวจากมาเลเซียหรือจีน ผมก็เห็นว่ามันไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริง เรามีศักยภาพจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้ ผมคิดว่าภาครัฐหลายหน่วยงานก็ตระหนักในเรื่องนี้

นั่นล่ะครับ เราจะค้าขายกันอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน หรือจะขายของไปด้วยและหาวิธีทำมาหากินอย่างยั่งยืนในอนาคตไปด้วย ปีนี้ผมอายุ 72 ปี และเห็นเมืองของเราเป็นอย่างนี้นะ ก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นคุณไปคิดต่อแล้ว” 

พ.อ.(พิเศษ) ธรรมรัตน์ บุญศรีรัตน์
ผู้จัดการป่าช้าต้นโพธิ์ และอดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย