“ในตัวผมมีสองบทบาทคือนักวิชาการที่เป็นอาจารย์สอนสถาปัตย์ฯ และทำงานสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับบทบาทที่เป็นคนในชุมชนกุฎีจีน คือผมเป็นเขย แต่งงานก็เข้าไปอยู่ในย่านจนทุกวันนี้ ลูกก็โตอยู่ในย่าน ซึ่งสองบทบาทนี้เกื้อหนุนกัน เห็นมุมมองตั้งแต่ระดับนโยบาย การช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ กรุงเทพมหานคร ที่เข้ามา ทำให้มองภาพรวมของชุมชนได้กว้างกว่าคนที่อยู่ในชุมชนเอง ขณะเดียวกัน ก็เห็นความต้องการของคนที่อยู่ในชุมชน รู้ว่าลิมิตของเขามีแค่ไหน เขาทำอะไรได้บ้าง ปัญหาอุปสรรค การเจริญเติบโตที่ทุกคนฝันเห็นก็เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร แล้วในฐานะที่ผมมีประโยชน์และบทบาทตรงนั้นจริงๆ เลยเป็นคนที่เชื่อมโยงระหว่างระดับต่างๆ ของการพัฒนา รู้ความต้องการหรือข้อจำกัดของแต่ละภาคส่วนได้พอสมควร
คำถามคือ แล้วผลลัพธ์ออกมาที่การพัฒนาชุมชนอย่างไร คือภาคีคนมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะ ในความเป็นจริง บอกให้กทม.มาทำอันนี้ กทม.ก็ทำไม่ได้ บอกให้มิสซังคาทอลิกมาทำอันนี้ก็ทำไม่ได้ ให้กทม.ไปคุยกับมิสซังคาทอลิกก็ไม่คุย เดี๋ยวกรมเจ้าท่าก็จะมายกท่าน้ำ อุตลุดไปหมด ฉะนั้น การขับเคลื่อนชุมชนในทุกภาคส่วนถึงไปได้ยากมากและช้ามาก อย่างที่บ้านที่ทำพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนขึ้นมาได้เร็วเพราะเราตัดสินใจทำด้วยทุนของเราเอง พิพิธภัณฑ์เป็นความฝันของพี่ตอง (นาวินี พงศ์ไทย พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน) เขาอยู่กับประวัติศาสตร์มายาวนาน รู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน มีของดีของสะสมหลายเจเนอเรชัน แล้วผมเป็นสถาปนิก สามีเขาเป็นวิศวกร มันก็ง่าย และเป็นความโชคดีจากเครือข่ายที่เรารู้จักกับทุกฝ่าย อย่างมิสซังคาทอลิกเรารู้จักอยู่แล้ว ก็เดินเข้าไปขอ อธิบาย แป๊บเดียวก็จบ เพราะเขารู้วัตถุประสงค์เรา และสิ่งที่เราทำไม่ใช่ธุรกิจการค้าอะไร เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นของมิสซังคาทอลิก เป็นธรณีสงฆ์ ให้เฉพาะอยู่อาศัยเท่านั้น จะขายต่อเช่าต่อด้วยเหตุผลทางธุรกิจไม่ได้ แต่ทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของชุมชนสามารถโตได้ เพราะมิสซังคาทอลิกก็เข้าใจว่าถ้าไม่ให้เศรษฐกิจโต คนในชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วก็จะเปลี่ยนไป สุดท้ายความเป็นคอมมิวนิตีของชาวคาทอลิกที่ยั่งยืนก็จะไม่เกิด
วัตถุประสงค์แฝงของการทำพิพิธภัณฑ์ คือลึกๆ แล้ว ก็เห็นว่าอนาคตของชุมชนมีโอกาสที่จะเสื่อมโทรมลง เพราะเป็นชุมชนปิด จริงๆ ชุมชนเขาเป็นเพื่อนกันหมดนะ เพียงแต่ไม่ได้เชื่อมต่อกันทางกายภาพ กุฎีจีนจะไปวัดกัลยาฯ ก็ลำบาก จะไปวัดประยุรฯ ก็ไม่ง่าย แต่พอมีทางเดินริมน้ำเข้ามา การเชื่อมต่อก็เกิด ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น เลยกลายเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายที่เรียกรวมๆ กันเป็นย่านกะดีจีน ทีนี้ สิ่งที่เราเป็นห่วงคือลูกหลานจะออกไปกันหมด ปัญหาหนึ่งของชุมชนที่เสื่อมลงไปเรื่อยๆ เพราะคนที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้รับความสะดวก รถก็เข้าไม่ถึง ฝนตกก็เข้าบ้านไม่ได้ แล้วเหตุผลความจำเป็นในการอยู่มันไม่มี ก็ไม่รู้จะอยู่ทำไม ก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไร สิ่งที่พยายามทำก็คือสร้างคุณค่าตรงนี้กลับมาที่ชุมชน ลดความเสื่อมโทรมทางกายภาพลง ฉะนั้น พอตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนขึ้นมา ช่วยได้เยอะ ทั้งกายภาพ ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความมีพิพิธภัณฑ์ ทำให้คนเข้ามา บ้านอื่นๆ ก็เริ่มขายของได้ เศรษฐกิจชุมชนก็ดีขึ้น ลูกหลานก็รู้สึกว่าเขามีศักยภาพในการอยู่ตรงนี้ต่อ มีเป้าหมายและมีความหวัง แล้วจริงๆ สิ่งที่คนไม่รู้แต่มีผลมากๆ คือการที่พิพิธภัณฑ์ทำรั้วโปร่งตลอดแนว มันน่าเดินมากเลย รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีต้นไม้เขียวๆ มองเข้าไปเห็นคนนั่งกินกาแฟข้างใน ถ้าคนที่เคยไปก่อนหน้านี้จะตรงข้ามเลย ต่างบ้านต่างแยกตัวกันอยู่ แต่ถ้าเราเปิดตรงนี้ อีกบ้านเขามองมา เขามีวิวที่สวย เขาจะเปิดมากขึ้น ความน่ากลัวจะลดลงไป ความรู้สึกว่าชุมชนก็น่าอยู่นะ ลูกหลานเราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากไปที่อื่นมากเพราะทนกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์แฝงนี้ ทำให้ชุมชนไม่ตาย ทีนี้ถามว่าอยู่ๆ เราจะตั้งอะไรขึ้นมาได้มั้ย ก็ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีฐานของมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีอยู่ในย่านเยอะมาก
ตอนสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้ามาสำรวจย่าน อาจารย์ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส เป็นกรรมการด้านศิลปวัฒนธรรมของสมาคมฯ ต้องการปักหมุดสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) ก็เข้าไปด้วย ซึ่งข้อดีของอาจารย์แดงคือเขาไม่ละเลยคนที่เป็นภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น เขาก็ไปตั้งที่ประชุมเครือข่ายถามว่าอะไรบ้างที่เป็นของมีค่า สิ่งที่ได้กลับมาเซอร์ไพรส์ตรงที่คนในชุมชนไม่ได้มาร์กว่าวัด เจดีย์ บ้านหลังนี้ ตามที่สมาคมสถาปนิกฯ คาดหวังที่จะมองเห็นตึกสวยๆ ทางกายภาพ แต่คนจะพูดว่า ตรงนี้เคยเป็นโรงย้อมคราม เป็นโรงนั้นโรงนี้ กลายเป็นว่าเป็นมรดกที่มองไม่เห็นอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหาร วัฒนธรรม บวกกับมรดกที่เราเห็นอยู่ เลยกลายเป็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม เป็นแรงผลักว่ามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาขยายต่อได้ เพียงแต่ไม่มีตัวกลางในการถ่ายทอด อย่างพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ผมว่าแค่ประมาณ 1 ใน 20 ของสิ่งที่มีอยู่ในย่าน แล้วเราก็เล่าอะไรที่กว้างไปกว่านั้นไม่ได้เพราะด้วยพิพิธภัณฑ์ของเราเล็ก ของที่เล่าก็มีข้อจำกัด ที่เท่านี้ผมก็เล่าได้เท่านี้ แต่จริงๆ มันสามารถมีแบบนี้ได้อีกเป็นสิบยี่สิบอัน ถ้าทุกคนสามารถเอาออกมาเล่าได้แบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้เริ่มหนึ่งก็จะไม่เห็นตัวอย่างของการต่อ ทีนี้ เราทำได้ เพราะมีทุน แต่ก็ใช้ต้นทุนต่ำสุด ให้อยู่ได้แบบไม่ต้องชักเนื้อ ชั้นล่างขายกาแฟ ขายของ เป็นค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าจ้างเด็กที่จะมาหล่อเลี้ยงได้ แต่ถ้าไม่มีต้นทุนในการลงทุนทำตรงนี้ ถามว่าใครจะลุกขึ้นมาทำ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น
ถ้าจะทำให้ชุมชนเป็น Learning City หรือ Learning Village อย่างแท้จริง ก็แปลว่า ทุกคนต้องรู้ ต้องเรียน ต้องเข้าใจ แล้วก็เรียนรู้แบบไม่มีขีดจำกัด เป็น Learning City บนความเป็นจริง ไม่ใช่ Learning แบบตำราหรือบนข้อมูลที่อยู่ออนไลน์ซึ่งจับต้องไม่ได้เพราะต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเข้าใจ ความเข้าใจไม่ได้ถูกส่งต่อ เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวเรา ไม่ได้ผสานเข้าไปอยู่ในเนื้อของการอยู่อาศัยของเราจริงๆ แต่การที่เรียนแล้วเอามาสานต่อได้เป็นเรื่องยาก จะไปต่อยังไง ถ้ายกตัวอย่างชุมชนที่ญี่ปุ่น เรามักชื่นชมว่าเขามีความเข้มแข็ง ทำไมเขาเก็บอนุรักษ์ไว้ได้ จริงๆ การเก็บอนุรักษ์อยู่บนพื้นฐานของการตกลงร่วมกัน และความเข้าใจของทุกระดับ ต้องเข้าใจตรงกัน และมีภาคีเครือข่ายที่เป็นคนดูแลหมู่บ้าน ซึ่งญี่ปุ่นเขาเข้มแข็ง เวลาคุยเขาคุยกันได้จริงจัง สามารถเชื่อมต่อระหว่างบนถึงล่างได้ มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา ทุกภาคส่วนต้องเห็นตรงกัน รัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย แล้วก็ต้องมาร่วมมือกันแบบญี่ปุ่นให้ได้ มีการพูดคุยควบคุมดูแลกัน ทำให้กระบวนการตรงนี้โปร่งใส และเป็นประโยชน์กับสังคม นโยบายของรัฐต้องเห็นคุณค่า เข้าใจในงบประมาณ มีความต่อเนื่อง ต้องมีองค์กรที่มาสร้างความยั่งยืนเพื่อให้นโยบายไม่หายไปไหนในกรณีที่มันเปลี่ยนผ่าน แตะอยู่กับชุมชนตลอด รวมทั้งงบประมาณในการพัฒนา ถ้าจะสร้าง Learning City เราต้องสร้างกลไกตรงนี้ออกมาให้ได้
แล้วทำยังไงให้ทุกภาคส่วนของชุมชนตั้งแต่คนแก่จนถึงเยาวชนสามารถมีพื้นที่ในการแชร์กัน ในการเล่า ในการเห็น เด็กคนนี้ไปช่วยขายกาแฟให้ลุงคนนี้ ได้ฟังลุงเล่าทุกวัน ความซึมซับและความรู้ตรงนี้จะไม่หายไปไหน คือการถ่ายทอดที่แท้จริงของชุมชน การส่งต่อความรู้ความเข้าใจในแต่ละเจเนอเรชัน แน่นอนมันเห็นคุณค่าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำประโยชน์ให้เขาได้ด้วย ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ค่อยๆ ซึมซับ อยู่กับมัน เขาถึงจะเห็นคุณค่า และส่งต่อเจเนอเรชันต่อๆ ไปได้ คือถามว่า ใครจะเป็นคนที่มองภาพการเชื่อมโยงตรงนี้แล้วเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อจะไกด์คนอื่นๆ ได้ ตอนนี้สังคมเรายังขาดคนที่เห็น แล้วก็บอกกับคนอื่นๆ แล้วคนนั้นก็ต้องมีพาวเวอร์พอที่จะไปแนะนำหรือสร้างกลไกในการสร้างความเชื่อมต่อตรงนี้ได้ ผมว่าโครงสร้างขององค์กรรัฐจะต้องคิดใหม่เพื่อให้แตกเป็นคนที่เห็นในภาพรวมตรงนี้ให้ได้ก่อน เพื่อที่จะไกด์ให้ชาวบ้านเข้าใจ มองเห็น และเดินตาม”
ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข
คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…