“โรงเรียนภัทราวดี หัวหินสอนวิธีคิดใหม่ เราให้มองต่างมุม เก่าเขาสอนมาให้มองมุมนี้ แล้วเด็กก็เริ่มเบื่อ เพราะสื่อเยอะ ความรู้เขาเยอะ เขารู้สึกว่าจะมาหลอกเขาทำไม อย่างเจอศาลพระภูมิต้องยกมือไหว้ ไหว้ทำไม แต่ถ้าเราอธิบายได้ จริงๆ ไม่ได้ไหว้อิฐไหว้ปูน แต่คือ respect คนเขาเห็นเราไหว้สวย รู้จักเคารพ ทีนี้คนไทยสอนให้ทำ แต่ไม่สอนว่าทำไม เช่น เราไม่เดินข้ามหนังสือ ไม่เดินข้ามชฎา แต่ถ้ารู้ว่าทำไม มันไม่ใช่แค่ชฎา หรือดินสอ กบลบ เป็นของมีค่าทั้งนั้น ฝรั่งสอนเรื่องทุกอย่างมีค่า แต่เราสอนเฉพาะอย่าง ไม่มีเหตุไม่มีผล เราเลยเอาคอนเซปต์สองโลกมารวมกัน ทุกคัลเจอร์มันดีทั้งนั้นแต่คนเลิก respect แล้วก็ไม่สอนกันเพราะรู้สึกมันเชย แต่ถ้ามองลึกๆ ก็อย่าไปสอนแค่นั้นสิ สอนให้เยอะขึ้น เพราะโลกเดี๋ยวนี้กว้าง แต่ก่อนผู้ใหญ่บอกตุ๊กแกกินตับ ก็คือไม่ให้ออกไปซนข้างนอก แค่นั้นเอง ถ้าพูดถึงเหตุและผลว่าทำไมไม่ให้ออกไป หรือไปเที่ยวกลางคืน ไปกินเหล้าเมา คือถ้าหนูดื่มแก้วนึง ไม่เป็นไรนะลูก แต่ถ้าหนูเมา ก็จะถูกลวนลามมั่ง เด็กของเราก็มี ขี่มอเตอร์ไซค์ ชนเปรี้ยง จากที่ชาญฉลาดกลายเป็นเด็กเอ๋อ มันก็มีตัวอย่าง ซึ่งเราบอกว่าทำให้สนุกยังไงได้โดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับความเป็นความตาย เพราะที่ฝันจะทำโน่นเป็นนี่ก็ทำไม่ได้ ก็คือทำร้ายตัวเอง พอไม่ทำร้ายตัวเองปั๊บ ทุกอย่างที่ไม่ทุจริต ทั้งหลายก็จะไม่ทำ
วิชาการเราก็มองอีกมุม ว่าทำไมต้องเรียนหนังสือ เราบอกนักเรียนว่า ถ้าหนูอ่านออกเขียนได้ หนูตั้งใจฟัง ใครพูดอะไร หรือใครจะโกงอะไรหนู ตั้งใจฟังหนูจะรู้เลย มันจะ “เอ๊ะ” ละ ที่เรามีความ “เอ๊ะ” เพราะเราตาดูหูฟัง มองลึกเข้าไป แต่ถ้าหนูไม่ตั้งใจฟัง ไม่ค่อยใส่ใจ ทุจริตอะไรจะเกิดขึ้นกับหนูง่ายมาก แต่การสอบเลื่อนชั้นของเราก็มีตามระดับเด็ก ถ้าเด็กที่เขาไปไหวเราสูงกว่าสแตนดาร์ดเยอะเลย ที่นี่สอบโอเน็ตได้ร้อยเต็มร้อยเยอะมากค่ะ แต่เราไม่บอกใคร เราจะบอก หนู คนที่ได้ร้อยเต็มร้อยมันไม่ปกตินะ คนเราต้องมีผิดบ้าง ครูเคยมีเพื่อนที่สอบได้ A พอได้ B ปั๊บ ฆ่าตัวตาย แล้วครูบอกว่าจะมีประโยชน์อะไรถ้าเธอฉลาดเฉลียวแล้วไม่สามารถรักษาชีวิตเธอได้ เพราะฉะนั้นถ้าเธอร้อยเต็มร้อยครูไม่ว่าอะไรนะ แต่วันหลังเอาซัก 90 ก็พอ 60 ชั้นก็แฮปปี้แล้ว เราจะบอกเด็กเสมอว่า ในชีวิต คือในการสอบ หนูท่องตำราได้ สมัยนี้ข้อสอบหลายอย่างไม่มีท่องแล้ว ต้องใช้ไหวพริบ เอาตัวรอด ทำไมต้องเรียนเลข เพราะเราจะคิดเร็วและคิดถูก ทำไมต้องเรียนภาษาเพราะเราจะต้องอ่าน เราเสิร์ชภาษาไทยภาษาอังกฤษ เราอยากทำอะไร อยากทำกับข้าวซักอันไม่รู้จะทำยังไงก็เปิดดู เดี๋ยวนี้ง่ายจะตาย เพียงแต่ต้องรู้ว่าเสิร์ชที่ไหน หรือมีคอนเน็กชันว่าจะต้องไปหาใคร
เรารับสมัครนักเรียน ใครเข้ามาก็ได้ ใช้ระบบ destiny พรหมลิขิต ถ้าเขามาถึงที่นี่ บอกว่าชอบ เรามองเขา คุยกับเขาแล้วเรามองว่าท่าจะไหว แต่บางทีมองแล้วไม่ไหว ทั้งพ่อทั้งแม่ทั้งลูก พ่อแม่บังคับมา ไม่ได้ ลูกต้องมาด้วยใจ แต่บางทีมาแล้วเราไม่ไหว เราจะไม่บอกว่า หนูไม่เก่ง หนูโง่ เราจะบอกว่าเราไม่เก่ง เพราะเรายังไม่รู้จะสอนหนูยังไง เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ feel bad แต่มันก็จริงนะ ถ้าเราเก่งเราเอาอยู่หมด แต่ถ้าไม่เก่ง เราหาวิธีไม่ได้ บางทีครูก็จะไปเรียนจิตวิทยา เรียน art therapy คือพอมีปัญหาเราก็ไปเรียน เราก็จะบอกเด็กว่าเห็นมั้ยพอเจอปัญหาครูก็ไปเรียนเพื่อที่จะรู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง จะช่วยเขายังไง เราเรียนหนังสือไป หาความรู้ไป เพื่อจะช่วยคนอื่นนะ เพราะฉะนั้น หนูส่งการบ้าน ครูตรวจแล้ว หนูผิดหมดเลย แต่ครูจะมีความสุขว่าหนูยังชอบ แล้วครูก็จะรู้ว่าครูสอนไม่ได้เรื่องเลย หนูผิดหมด ไม่ใช่หนูไม่เก่งนะ ครูสอนยังไงเนี่ย อ้าว คิดใหม่ ก็ทำให้ครูมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น ครูก็เรียนรู้ไปด้วย การสอนเราจะดีขึ้น เด็กก็จะได้กำลังใจ รู้ว่าไม่มีใครในโลกที่เพอร์เฟกต์ เด็กจะมียกมือ ครูขา สะกดผิด เราก็ อ้าว มาเสิร์ช อ่า สะกดผิด ก็มาแชร์ความรู้กันไง เด็กได้ความรู้ เราก็ได้ความรู้ ไม่มีอีโก้กัน ครูต้องไม่มีอีโก้ ถ้าครูมีอีโก้ ใช้อำนาจ เด็กก็จะมีอีโก้ ใช้อำนาจ
โรงเรียนเป็นเด็กประจำ ที่นี่เรียนถึงบ่ายสี่โมงครึ่ง ห้าโมงเล่นกีฬา หกโมงกินข้าว เด็กก็ยังไม่หลับ เราก็มีกิจกรรมเยอะ ชมรมร้องเพลง วาดเขียน ตอนนี้มีชมรมไลฟ์สตรีมมิ่ง เราต้องลงทุน เพราะหนึ่งเราไม่รู้ไง เราจะได้รู้ แล้วเด็กก็จะได้รู้ ไลฟ์สตรีมมิ่งเป็นเรื่องอนาคต ทีแรกเรานึกว่าไลฟ์ใช้มือถือก็ได้ มันไม่ใช่ มันคือสถานีโทรทัศน์เลย เราทำละครหนึ่งเรื่องได้เลย แล้วเด็กๆ ก็สามารถไลฟ์ทุกวัน กับพ่อแม่ เด็กได้ฝึก เป็นพิธีกร ผู้อ่านข่าว ทำอะไรได้เยอะมาก แล้วลูกศิษย์เราไปมหัศจรรย์เยอะมาก อย่างผักอบกรอบที่ครูถือในไลฟ์ เป็นของลูกศิษย์ทำ ตอนที่เขามา แม่พูดเล่นว่าให้จบป.6 ก็พอ แต่นี่ไปไกล จบเกียรตินิยมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะอยู่ที่นี่ก็ซน ก็เล่น พรุ่งนี้จะโอเน็ตแล้วยังเล่นละครกันอยู่เลย เราก็ไม่สน ไม่ต้องท่องหนังสือ เรารู้ว่ายังไงเด็กก็ไม่ท่อง อะไรอยู่ในหัวแล้วก็อยู่ ถ้าไม่อยู่คือไม่อยู่
เราเคยไปฝึกสอนชาวเขาที่แม่ฟ้าหลวง เอาภาษาอังกฤษเข้าไปร้องรำทำเพลง เอาภาษาไทยไปสอนให้พูดชัด เพราะเล่นละครต้องพูดชัด ให้เล่านิทาน เด็กก็สนุก เด็กที่ไม่เรียนหนังสือ พูดไม่รู้เรื่อง ชั่วโมงเดียว ตอบได้ แล้วพูดชัด ก็เอาเด็กชาวเขามาคนนึง มาเรียนจบที่นี่ ตอนนั้น ครูมีกล้องตัวสีชมพู เขาเห็นครูถ่ายรูป บอกหนูอยากถ่ายรูป ครูก็บอกให้ยืม จริงๆ ก็ให้แหละ เขาก็ไปถ่าย ถ่ายสวย ตอนหลังเราไปเปิดเฟซบุ๊ก เขาทำเพจท่องเที่ยวเทรกกิ้งขึ้นเขา มีคนตามเป็นพัน เพราะเป็นชาวเขาไง ก็พาคนขึ้นเขา แล้วก็ขอบริษัททัวร์ไปด้วย ถ่ายรูปให้ฟรี รูปก็ขายได้ ทุกคนก็ให้ถ่ายรูป ได้เที่ยวฟรี ขึ้นเขาปีนเขาทั่วโลกเลย ตอนนี้ทำทัวร์ไปขึ้นเขาต่างประเทศ ขายอุปกรณ์เทรกกิ้ง ขายรูป เจริญรุ่งเรืองมาก จากเด็กชาวเขาที่ไม่มีตังค์เลย ครูให้ทุนมาเรียนที่นี่กับที่รามคำแหง ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องเลยนะ เดี๋ยวนี้พูดจ๋อยเลย แล้วชาวเขามีภาษาจีน ภาษาไทยก็พูดชัดเป๊ะ ครูฝึกสามวันบนเขา เลยว่าเทคนิคของเรามันเวิร์กมาก ครูก็แนะนำทุกคนว่าเขาเป็นชาวเขา แล้วเขาก็ภูมิใจว่าเขาเป็นชาวเขา
คือเราก็เป็นตัวอย่างให้ เดี๋ยวนี้ลูกศิษย์หลายคนก็เริ่มไปเปิดโรงเรียนของตัวเอง เป็นสายพันธุ์ เช่น กั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ก็ไปเปิดตามศักยภาพที่มี เล้ง ราชนิกรก็สอนกายกรรม วิธีคิด นิสัย บุคลิก เรื่องนิสัยสอนในศิลปศาสตร์ ถ้านิสัยดี ทุจริตศึกษาก็ไม่ต้องมีแล้ว มันทำไม่เป็น ทุจริตศึกษาเป็นหลักสูตรประเทศไทย แต่ที่นี่เราใช้ละคร ใช้พูดคุย ใช้วรรณคดี เราก็ใช้วิธีในการสอนเรื่องศาสนา อย่าเอะอะไป เราไม่ใช้คำว่าพุทธศาสนา เด็กสมัยนี้ถ้าพูดคำว่าพระพุทธเจ้าหนีหน้า เราก็สอนหลักการทุกอย่างของท่าน แต่เราไม่ใช้คำที่แสลงหู แต่ปรัชญาไม่ได้แสลงหู พอเขาเริ่มเข้าใจ พูดรู้เรื่อง เราค่อยบอกว่าสิ่งนั้นมาจากไหน ก็เคารพที่มานิดนึง หลักสูตรเหมือนเดิม อยู่ที่วิธีการ ทำให้เด็กสนุก แล้วคืออย่างงี้ ถ้าเราเป็นคนเก่ง เราจะไม่เข้าใจคนโง่ ดิฉันเป็นคนโง่ เรียนอะไรก็ เต้นช้าที่สุดในคลาส กว่าจะจำท่าได้ ทุกคนก็เต้นแล้ว ตัวเองยังเงอะๆ งะๆ ค่อยๆ เข้าใจแล้วเริ่มทำได้ เท่านั้นแหละ เราก็เลยสอนอะไรที่ชาวบ้านเขาไม่สอน ก็สนุกสนานไป
โรงเรียนเราไม่มีอะไรล็อกเลย เครื่องดนตรีก็วางไว้ ใครอยากตีก็ตี อยากเล่นก็เล่น หาสิ่งที่ชอบทำ เราสอนเขาก่อน แล้วเขาจะรู้ เราก็อย่างนี้มาสิบปีละ ทุกอย่างเรามีครูให้ มีงานเกษตร วาด ปั้น กำแพงข้างหน้าโรงเรียนก็เด็กวาดกันเอง ผนังกำแพงไม่มีที่ว่าง เด็กจะเขียนตรงไหนก็ได้ มีครูมาดู ซื้อสีให้ ถ้าไม่ชอบก็ลบ ทาสีขาวใหม่ โปสเตอร์ละครเด็กก็ทำกับครู โรงละครเป็นเอาต์ดอร์ เป็นห้องเรียนด้วย ระดับมืออาชีพหมด ไฟ ซาวนด์ ตั้งไมโครโฟน ทำคอสตูม เด็กก็ทำเองกับครู จนเดี๋ยวนี้ครูไม่ต้องมาแล้ว เพราะตอนที่เราทำละครออนไลน์เรื่องเสน่ห์รอยรั่ว เด็กทำหมด มีหัวหน้าคนเดียว เราไม่พลาดเลยซักคิวนะ เด็กที่นี่จะมีอารมณ์ศิลปิน วันจันทร์เราไม่เรียนหนังสือ เราตีกลองร้องเพลง เด็กปลูกต้นไม้กันเยอะ แต่ก่อนหัวหินไม่มีต้นไม้เลย มีแต่ทราย ในหลวงสอนให้เอาใบไม้ ขยะ มาทับถม เอาแทรกเตอร์มาปั่น ให้เป็นดิน ทุกต้นในโรงเรียนปลูกใหม่หมดนะ ไม่มีต้นเดิม มีเก็บแคกตัสที่อยู่ที่นี่ไว้ต้นนึง แล้วก็มีต้นไม้ต้นนึง ต้นละแปดหมื่น มันถูกขุดมาแล้วตัด มันเลยไม่มีราก จึงต้องมีที่ค้ำ แล้วก็โตอยู่เท่านี้ 10 ปีแล้ว แต่พวกที่ถมเม็ด แล้วก็ขึ้นเองตามธรรมชาติ ดูสิ เราใช้ต้นนี้สอนเด็ก หนูไม่มีราก นี่ไง เป็นภาระ ไม่โต แต่พวกที่มีรากลึก เห็นมั้ย มันเป็นร่มเงา มีลูก ขยายไป บอกว่าหนูไม่เรียนประวัติศาสตร์ ไม่เรียนคัลเจอร์ได้ไง หนูก็จะไม่มีราก”
ภัทราวดี มีชูธน (ครูเล็ก)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) พุทธศักราช 2557
ครูสอนภาษาอังกฤษ วรรณคดี พุทธศาสนา
และประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…