“พวกเราเรียนสายศิลป์จีนธุรกิจ โรงเรียนดรุณาราชบุรี รุ่นที่เรียนสาขานี้มีอยู่ 12 คน แต่จะเรียนร่วมห้องกับเพื่อนที่เรียนศิลป์ภาษาอังกฤษและไอทีพร้อมกัน ยกเว้นวิชาหลักที่แยกกันไปเรียน
ตอน ม.4 เราสองคนได้ร่วมกิจกรรมอบรมยุวมัคคุเทศก์ของโครงการเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนต่อการมองเมืองราชบุรีบ้านเกิดของเรา เพราะแม้เราจะคุ้นเคยกับสถานที่ต่างๆ แต่ความเป็นจริง ถ้าเราไม่ได้รู้จักและสอบถามคนในพื้นที่ ก็กลับแทบไม่รู้ที่มาที่ไปของสถานที่นั้นๆ เลย พอเข้าร่วมอบรมจึงได้รู้ว่า อ่อ ชุมชนริมน้ำตรงนี้เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร โอ่งมังกรก็มีที่มาที่น่าสนใจนะ กำแพงเมืองเก่าทำไมถึงไปอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ พอได้รู้แล้ว เรายังได้ฝึกให้เล่าเรื่องที่เรารู้ด้วย อย่างพีมได้โจทย์ให้เล่าเรื่องซุ้มประตูจีน ก็ต้องทำความเข้าใจสัญลักษณ์ของซุ้มก่อน และอธิบายให้คนอื่นเข้าใจถึงความหมายและความสวยงามของซุ้ม ทำให้เรากลายเป็นช่างสังเกต เวลาเห็นอะไร ก็ทำให้เราอยากรู้ถึงที่มาของสิ่งนั้นๆ
พอขึ้น ม.5 จากโครงการเมืองสร้างสรรค์ เขาเปลี่ยนแนวทางมาเน้นการทำให้ราชบุรีเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เราก็ได้ร่วมกิจกรรมต่อ คราวนี้เขาให้เรารวมกลุ่มมาเข้าอบรม เพื่อช่วยกันหาแนวทางการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองราชบุรีกัน เราเห็นว่ามีหลายเรื่องในเมืองที่หลายคนยังไม่รู้ และถ้าจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจในพื้นที่ ก็น่าจะใช้เรื่องลึกลับมาเป็นตัวนำ เลยตั้งชื่อกลุ่มว่า Secret of Ratchaburi โดยมีผลงานคือโมเดลศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองที่บอกเล่าเกร็ดต่างๆ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ และตั้งชื่อศูนย์การเรียนรู้นี้เป็นชื่อเดียวกับกลุ่ม
ถามว่าความลับอะไรของราชบุรีที่เราอยากบอกเล่าให้คนอื่นรู้? พีมว่าอาจไม่ใช่ความลับเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ พีมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในชุมชนตลาดเก่าค่ะ เพราะนี่เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเมือง โอ่งมังกรก็เริ่มจากตรงนี้ คิดว่าถ้าเรามีสื่อในการนำเสนอให้คนอื่นเห็นว่าแต่ละยุคสมัย ชาวจีนเดินทางมาถึงที่นี่ได้อย่างไร พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนจนสร้างตัว สร้างธุรกิจ และมีส่วนสร้างเมืองขึ้นมาได้อย่างไร รวมทั้งผสานเข้ากับคนท้องถิ่นจนเป็นคนราชบุรีทุกวันนี้ได้อย่างไร
ส่วนนุ่นสนใจคล้ายๆ พีม คือที่มาของตลาดเก่าริมแม่น้ำแม่กลอง ตรงนั้นมีหลายเรื่องที่นุ่นเองก็อยากรู้อีกเยอะ เช่น ศาลเจ้า พิพิธภัณฑ์ ตลาดสนามหญ้า รวมถึงตึกเก่าทรงยุโรปที่เป็นศาลแขวงในปัจจุบัน ซึ่งนุ่นเห็นว่าสวยมากๆ ทั้งหมดล้วนมีจุดเด่นและเรื่องราวเบื้องหลังที่น่านำมาบอกเล่าให้คนอื่นๆ ได้รู้
ส่วนตัวพีมอยากเรียนต่อด้านโบราณคดีค่ะ แต่ก่อนไม่ชอบประวัติศาสตร์เท่าไหร่เลย แต่พอมาร่วมกิจกรรมก็ได้พบมุมมองใหม่ๆ อีกทั้งยังได้เรียนกับครูที่สอนวิชาประวัติศาสตร์สากลในห้องเรียนที่สอนสนุกมาก เขาสอนเหมือนเราได้ดูหนังเลย จากที่คิดว่าประวัติศาสตร์ต้องท่องจำ ก็เปลี่ยนความคิดมาเป็นการสังเกต รู้จักเปรียบเทียบ และทำความเข้าใจ ก็คิดว่าน่าจะเรียนต่อทางด้านนี้
สำหรับนุ่นคิดว่าจะเรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ค่ะ เพราะถึงแม้เราเรียนมาด้านศิลป์จีนธุรกิจ แต่คิดว่าภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราเข้าถึงการเรียนรู้อื่นๆ ตอนนี้เราพอมีพื้นภาษาจีนแล้ว ถ้าอังกฤษเราแน่น เราก็ยังสามารถไปเรียนภาษาอื่นเพิ่มเติม ทำให้เรามีโอกาสทำอาชีพที่หลากหลายเพิ่มขึ้นมา”
อัญชณียา พึ่งโสภา (พีม) และ อินทิรา พิมลบรรยง (นุ่น)
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนดรุณาราชบุรี