“วัดหัวหินเป็นวัดแห่งแรกของหัวหิน สร้างปลายรัชกาลที่ 5 เริ่มสร้างปี พ.ศ. 2439 เดิมมีพื้นที่สำนักสงฆ์อยู่สองสำนัก อยู่ตรงหน้าโรงแรมเมเลีย คนจากเมืองเพชรบุรีย้ายมาหาที่ทำกินที่นี่ แล้วเพชรบุรีมีวัดเยอะ ก็เลยอยากมีวัด ก็ถวายที่ดิน ซึ่งตอนนั้นเป็นสวนมะม่วง ชาวบ้านหัวหินร่วมกันสมทบทุนสร้างวัดขึ้นมา ตั้งชื่อว่า วัดอัมพาราม ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหัวหิน แล้วก็ไปอาราธนาหลวงพ่อนาคมาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อนาคเกิดปี พ.ศ. 2400 บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลัดโพ อำเภอคลองกระแซง จังหวัดเพชรบุรี เรียนพระปริยัติธรรมและบาลี บวชตอนอายุ 21 ปีที่พัทธสีมาวัดหลังป้อม ได้รับฉายาว่า ปุญญนาโค ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนานถึง 38 ปี พัฒนาวัดหัวหินจนเจริญก้าวหน้า
พื้นที่วัดหัวหินยาวไปถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหินไปถึงถนนก็พื้นที่เดียวกันนะ สมัยหลวงพ่อนาค ปี 2456 เอาเด็กที่ไม่มีโรงเรียนมาเรียนที่วัด อยู่ๆ ไป เด็กซน วิ่งเยอะ เลยเฉือนพื้นที่ให้สร้างเป็นโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน กำแพงล้อมรอบมีตอนปี 2492 แบ่งเขตกันแน่นอนระหว่างโรงเรียนกับวัด ถนนที่วิ่งกันอยู่ทุกวันนี้สร้างเสร็จปี 2471 สมัยรัชกาลที่ 7 เสด็จประทับวังไกลกังวล ถามหลวงพ่อเก่าๆ ท่านบอก ไม่มีถนน กำแพงไม่มี ไม่มีวัดเลย หลวงตาเองบวชปี พ.ศ. 2504 ปู่ย่าตาทวดก็คนที่นี่ อยู่มาหลายยุคหลายเจ้าอาวาส
วันที่ 24 กรกฎาคมของทุกปีมีจัดงานวันบุพการี รำลึกถึงวันครบรอบการมรณภาพของหลวงพ่อนาค ปุญญนาโค เจ้าอาวาสวัดหัวหินรูปแรก ใครๆ ก็มา หลวงพ่อ พระ 60-70 รูปมาร่วมงาน เป็นงานใหญ่ประจำปี วัดหัวหินมีลูกศิษย์ลูกหามาก ใครๆ ก็เต็มใจมาทำบุญ ไม่กะเกณฑ์ว่าทำมากทำน้อย ทำเลก็สะดวก อยู่ในตลาด หลวงพ่อนาคมีชื่อเสียง คนมากราบไหว้ขอพร ขอให้ท่านช่วยเหลือ ท่านก็ช่วย
วัดหัวหินอยู่ในชุมชน เป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่รวมใจร่วมกิจกรรมในชุมชน มีลานชุมชนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมชุมชนจากการเล่าเรื่อง นาฏศิลป์ รำไทย แล้วมีกลุ่มชาวบ้านมาอาศัยพื้นที่วัดทำพิธีกรรมส่งเคราะห์ทางทะเล เพราะตอนนี้ที่ทางเป็นคอนโดเป็นโรงแรมหมดเลยไม่มีที่ทำพิธี จัดในเดือนที่ลมทะเลไม่มีคลื่น ช่วงเดือนสิบตรงกับงานบุญสารทเดือนสิบของพระธาตุนครศรีธรรมราช ก็เดือนกันยายน ทำมาตั้งแต่มีศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่หน้าทะเล คนมาร่วมแห่ขบวนเรือส่งเคราะห์ทางทะเล ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณที่ตายในทะเล บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทำบุญสะเดาะเคราะห์ มีตุ๊กตาปั้นเขียนชื่อเราหรือญาติลงกระดาษติดไปกับตุ๊กตาวางไว้ในเรือประมงยาว 3 วา 2 ศอก แล้วก็ปล่อยตุ๊กตากับเรือส่งเคราะห์ทางทะเล มีพิธีสงฆ์ให้พระไปสวดที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เรือที่ปล่อยออกทะเล เขาเจาะรูให้เรือรั่วและจมลงทะเล กลายเป็นแหล่งปะการังหากินของสัตว์ทะเลต่อไป ก็เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของคนหัวหินที่ยังทำกันอยู่”
พระอรัญ รัตนญาโณ
ที่ปรึกษาเจ้าอาวาส วัดหัวหิน