“ก่อนหน้านี้ผมทำประมงพื้นบ้านที่จังหวัดระยอง ทำอยู่หลายปีเลย จนเมื่อสัก 8-9 ปีที่แล้ว คุณคงได้ยินข่าวเรื่องน้ำมันรั่วลงทะเล นั่นแหละ อาชีพผมเลยไปต่อไม่ได้ เพราะทรัพยากรทางทะเลตอนนั้นมันถูกทำลายหมด ระหว่างที่คิดว่าจะเอายังไงต่อ น้องของภรรยาผมเขาเปิดกิจการที่ขอนแก่นพอดี ก็เลยชวนให้ผมมาช่วยดูแล
เคเค ฟาลาเบลล่า ฮอร์ส (KK Falabella Horse) เป็นคาเฟ่ที่ฟาร์มสัตว์ที่เปิดให้ลูกค้าได้ทำกิจกรรมกับสัตว์ ทั้งม้า ม้าแคระ แพะ นกแก้ว และปลา ผมจะดูแลในส่วนของฟาร์มและสัตว์เลี้ยง โดยหลานผมจะดูแลโซนของคาเฟ่
ตอนแรกที่นี่ยังไม่มีนกครับ ก็เริ่มจากที่ผมเอานกแก้วคอนัวร์มาเลี้ยงก่อน แล้วมันค่อนข้างติดผม เลยพาไปด้วยทุกที่ อย่างมาทำงานที่นี่ ผมก็พามาด้วย เจ้าของร้านเขาเห็น เลยคิดอยากให้ฟาร์มมีนกเพิ่มมาด้วย เขาคิดถึงนกแก้วมาคอว์ที่มีสีสันสวยงาม แต่ความที่ผมเลี้ยงนกมาสักพักใหญ่และได้ศึกษาข้อมูลมา เลยบอกเขาไปว่านกแก้วมาคอว์ถ้าอายุครบขวบนึงแล้วมันจะมีความก้าวร้าว หวงเจ้าของ และหวงสถานที่ ถ้ามาอยู่ในสถานที่ที่มีลูกค้าหมุนเวียนเรื่อยๆ แบบนี้ มันอาจไปกัดเขาได้ ก็เลยเปลี่ยนเป็นนกกะตั้วที่เป็นมิตรกว่า
หลักๆ ผมก็ดูความเรียบร้อยในฟาร์มนี่ครับ ลูกค้าจะขี่ม้า หรือให้อาหารสัตว์ ผมก็จัดการให้ อย่างการเล่นกับนก ผมก็ดูก่อนว่าลูกค้าอยากเล่นไหม แล้วพวกนกเขาอยู่ในอารมณ์ไหน จะได้เล่นกันได้
อธิบายยากเหมือนกันนะครับว่าเราผูกพันกันยังไง แต่ก็ไม่เหมือนกับคนเลี้ยงหมาที่มีความรู้สึกแบบพ่อ-ลูก นกเขาจับอารมณ์เราถูกนะ อย่างอารมณ์ดี หรือโมโหเขาก็รู้ ขณะเดียวกัน เขาก็มีความรู้ทันเราด้วย เพราะอย่างเคยหลอกให้เขาเข้ากรงมาครั้งหนึ่ง พอทำอีกเป็นครั้งที่สองนี่ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ
ตอนนี้ผมมีนก 11 ตัว เลี้ยงไว้ที่บ้าน 5 ตัว เอามาปล่อยเล่นกับลูกค้าที่นี่ 4 ตัว และเพิ่งเกิดใหม่อีก 2 ตัว กลับบ้านไป ก็จะไปป้อนอาหารเขา ผมว่าทาสนกนี่หนักกว่าทาสแมวนะ อย่างคุณเป็นทาสแมว คุณตักอาหารใส่ชามให้ลูกแมว เขาก็มากินเองได้ แต่กับลูกนกนี่เราต้องป้อนเลย
แล้วเลี้ยงนกก็เหมือนเลี้ยงหมาเลยครับที่เราต้องมีเวลาพาเขาไปวิ่งเล่น อย่างทุกเย็น ผมจะพาพวกเขาไปบินเล่นที่สวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง คือเย็นมาสัก 4-5 โมง เขาจะรู้เลยว่าได้เวลาแล้ว ถ้าเรายังไม่พาไป เขาก็จะร้องโวยวาย เราก็ต้องพาออกไป พอไปถึงสวน เราก็หามุมเงียบๆ และปล่อยพวกเขาบิน เขาก็จะรวมตัวกันบิน บางตัวอาจไม่ถูกกันหรือไม่รู้จักกัน แต่ก็จะบินไปด้วยกันหมดทั่วบริเวณ ตอนเย็นจะเห็นฝูงนกสัก 2-3 กลุ่ม เพราะมีผู้เลี้ยงคนอื่นๆ พามาบินด้วย
จนสักหกโมงกว่าๆ แสงเริ่มหมด แต่ละตัวก็ลงไปพักตามต้นไม้ และบินกลับหาเจ้าของ วันนึงมีคนพานกมาบินเล่นที่นี่ประมาณ 50-60 ตัวได้ ส่วนใหญ่เจ้าของนกก็จะอยู่ใน ‘ชมรมนกบินอิสระ นครขอนแก่น’ ถ้าอยากมาดู จะมี 2 โซน คือโซนออกกำลังกาย กับโซนทางเข้าหน้าธนาคารกสิกรไทย โดยในบางวาระ ชมรมเราก็มีการจัดประกวดนกกัน อย่างการบินไกล หรือบินกลับจุดเริ่มต้น เป็นต้น
ผมชอบเมืองขอนแก่นก็ตรงที่มีสวนสาธารณะหลายแห่งนี่แหละ บึงแก่นนคร บึงทุ่งสร้าง บึงสีฐาน มีที่ให้คนได้วิ่งออกกำลังกายเยอะ และใช่ มีที่ให้นกบินออกกำลังกายด้วย (ยิ้ม) อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากให้คนมาใช้พื้นที่เคารพกฎของแต่ละสวนด้วย ช่วยกันดูแลความสะอาด เพราะมันเป็นพื้นที่ของทุกคน อย่างสวนบางแห่ง ทางเข้าก็ติดป้ายไว้ชัดเจนว่าห้ามสุนัขเข้า แต่พอเข้าไปจริงๆ ก็เห็นคนจูงหมาเดินเล่นไม่น้อย อะไรแบบนี้”
สุธารักษ์ กิจทวี
ผู้ดูแลฟาร์มสัตว์ภายใน KK Falabella Horse
Facebook : KK Falabella Horse
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…