“พื้นเพแม่เป็นคนอำเภอสหัสขันธ์เดิม แต่ก่อนอำเภอแม่น้ำท่วมบ่อยมาก ก็เลยมีการย้ายตัวอำเภอมาอยู่บริเวณอุทยานไดโนเสาร์ในปัจจุบัน ส่วนแม่ก็ย้ายบ้านเหมือนกัน เพราะได้แฟนเป็นคนอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จึงย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529
แม่เป็นประธานชุมชนทุ่งสระ ทำธุรกิจรับทำโต๊ะจีน และทำกับข้าวตามงานหรือพิธีต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังรับจ้างเทศบาลกวาดถนนด้วย จะกวาดสองรอบต่อวันคือช่วงเช้าและเย็น แม่กวาดเอง แต่ถ้าวันไหนมีงานที่ต้องทำอาหาร ก็จะจ้างให้คนอื่นมากวาดแทน
ก่อนหน้านี้แม่ทำงานโรงพยาบาลเอกชนในเมืองนี่แหละ ทำมา 20 กว่าปีแล้ว ต่อมาก็ทำงานกับนักการเมืองท้องถิ่นท่านหนึ่ง จนท่านเสียชีวิต ก็เลยออกมาทำธุรกิจ และความที่เราทำงานเกี่ยวกับเมืองเยอะ ก็เลยมาเป็นประธานชุมชนในที่สุด
ชุมชนทุ่งสระเป็นอีกชุมชนที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เมือง เพราะที่นี่เป็นที่ประหารพระยาชัยสุนทรคนที่ 2 หรือที่รู้จักกันในชื่อท้าวหมาแพง เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนที่ 2 ซึ่งสืบต่อจากเจ้าโสมพะมิตร (ชื่อพระยาชัยสุนทรเหมือนกัน – ผู้เรียบเรียง) ในช่วงที่สยามทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ก็ยกทัพมากดดันท้าวหมาแพงให้ยอมเป็นเมืองขึ้นกับทางเวียงจันทน์ แต่ท้าวหมาแพงไม่ยอม เพราะกาฬสินธุ์สวามิภักดิ์กับทางสยาม สุดท้ายทัพเจ้าอนุวงศ์ก็เลยประหารท้าวหมาแพง
โดยบริเวณที่ท้าวหมาแพงถูกประหารคือทุ่งหนองหอย ปัจจุบันก็คือชุมชนทุ่งสระแห่งนี้ ท่านนายกเทศมนตรี (จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม) เคยคุยกับแม่ว่า ท่านอยากฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้าวหมาแพงขึ้นมา เพราะเป็นตัวอย่างของวีรบุรุษที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ท่านก็เกริ่นไว้ว่าจะหางบประมาณมาตั้งศาลท้าวหมาแพงในอนาคต
ซึ่งอย่างที่บอกว่าชุมชนเราชื่อทุ่งสระ ชื่อเดิมคือทุ่งหนองหอย ดูจากชื่อก็น่าจะทราบว่าเป็นย่านที่ชุ่มน้ำ ซึ่งก็จริง เพราะสันฐานชุมชนแม่เป็นแอ่งกระทะ ถ้าช่วงไหนที่น้ำจากฟ้าตกลงมาบ่อย น้ำก็จะท่วม สมัยก่อนท่วมบ่อยแทบปีเว้นปีได้ ท่วมหนักถึงกับบ้านหลายหลังที่อยู่ต่ำต้องมิดหลังคา ชาวบ้านบางส่วนจำต้องอพยพย้ายไปอยู่ในวัด บางหลังอยู่สูงหน่อย ก็ท่วมไม่เยอะ แค่เก็บของขึ้นที่สูง เรียกว่าอยู่จนชินแล้ว แต่หลังๆ มาเทศบาลเขาก็มาแก้ไขดีขึ้น มีการระบายน้ำดีกว่าแต่ก่อนเยอะ ถึงอย่างนั้นน้ำก็ยังท่วมอยู่ในช่วงที่น้ำจากฟ้ามามากๆ แต่ก็ไม่เยอะ และไม่บ่อยเท่าแต่ก่อนแล้ว
แม่มีลูกสาว 2 คน ทั้งสองคนทำงานให้เทศบาลหมด เขาไม่อยากไปไหน เพราะเห็นว่าแม้เมืองเราเล็กๆ แต่ก็อยู่สบายและปลอดภัย อย่างแม่ก็ทำการค้าง่าย เรามีสวนเล็กๆ ปลูกมะละกอและพริก ตอนแรกปลูกไว้กินเอง แต่พอได้ผลผลิตเยอะ จึงนำไปขาย ก็ขายดี
ถามว่าอยากเห็นอะไรในเมืองกาฬสินธุ์ แม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่กลับมาที่บ้านกันเยอะๆ ค่ะ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเมืองเราขนาดเล็ก ถ้าไม่ได้ทำราชการ หรือมีธุรกิจส่วนตัว พวกเขาก็ไม่รู้จะกลับมาทำอะไร แต่ทางเทศบาลเขาก็พยายามสร้างจุดดึงดูดเรื่องการท่องเที่ยวอยู่นะ ตอนนี้มีแผนพัฒนาแก่งดอนกลาง จะสร้างเป็นพุทธมณฑล แม่คิดว่าถ้าทำเสร็จ ตรงนี้จะดึงดูดให้คนจากรอบๆ แวะเข้ามาในเมืองกาฬสินธุ์ได้ไม่น้อย อย่างแม่ทำกับข้าว ก็คิดว่าถ้าเอาข้าวไปขายในตลาดแถวนั้นก็คงจะดี”
พรพิศ ศิริกุล
ประธานชุมชนทุ่งสระ
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…