“สถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่ FM 88 MHz เดิมเคยเป็นหน่วยทดลองด้านการแพร่สัญญาณวิทยุของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ก่อนพัฒนาเป็นสถานีวิทยุเพื่อรองรับการเรียนการสอน ต่อมาก็มีการปรับให้เป็นวิทยุเพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจการค้า จนมาช่วงปี 2540 พอสถานีวิทยุอื่นๆ เน้นเปิดเพลงเป็นหลักเหมือนกันหมด เราเลยปรับทิศทางมาเป็นการเผยแพร่งานวิชาการให้สนุก และทำสื่อบันเทิงให้มีสาระ
เรามีทีมงานทั้งหมด 17 คน มีรายการที่เราผลิตเองและนำของผู้ผลิตรายอื่นมาเผยแพร่ด้วยรวมกันว่า 20 รายการ อาทิ รายการแลบ้านแลเมืองจัดวันจันทร์-ศุกร์ บ่ายโมงถึงห้าโมงเย็น ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ฟังเกี่ยวกับประเด็นเมืองต่างๆ รวมถึงการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา
หรือรายการที่ผมจัดเองก็มีสภากาแฟ ซึ่งผมจะเชิญวิทยากรที่มีความรู้ด้านต่างๆ มาเล่าประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมอง รายการหนอนเสวนาที่เล่าถึงหนังสือ รายการลูกทุ่งศรีตรังที่เปิดเพลงลูกทุ่ง และรายการภาษาสังสรรค์ ซึ่งคุยเรื่องปรากฏการณ์การใช้ภาษาในยุคปัจจุบัน เป็นต้น
ในส่วนของการเผยแพร่งานวิชาการก็มี 2 รูปแบบหลัก คือทีมงานของเรานำงานวิจัยนั้นมาย่อยข้อมูล และเขียนสคริปต์ใหม่เพื่อเล่าให้ผู้ฟังฟังด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและชวนติดตาม กับอีกรูปแบบคือชวนนักวิชาการเจ้าของผลงานมาคุยกับเราโดยตรงเลย ซึ่งจะกระจายไปตามรายการต่างๆ ของสถานี
แน่นอนที่ว่าพอยุคสมัยเปลี่ยนไป จำนวนคนฟังวิทยุก็ลดลง แต่ถึงอย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงก็กลับช่วยหนุนเสริมการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพขึ้นหลายด้าน เช่น จากเดิมที่เราจัดรายการทางวิทยุอย่างเดียว เราก็หันมาทำไลฟ์สตรีม ทำ podcast ไปจนถึงอัดรายการทางยูทูป
เรายังมีเพจเฟซบุ๊คที่เปิดรับคำติชมจากผู้ฟัง จากที่เมื่อก่อนผู้ฟังจะทำได้แค่โทรศัพท์มาที่สถานีอย่างเดียว ก็สามารถตั้งกระทู้ในเพจได้ ซึ่งเรายังทำกลุ่มเฟซบุ๊คแยกย่อยไปตามรายการต่างๆ เช่น แลบ้านแลเมือง ที่เปิดให้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเมืองหาดใหญ่ แลบ้านแลเมืองการเมือง ที่เน้นเรื่องการเมืองโดยตรง เฝ้าน้ำเฝ้าฟ้าหน้าฝน ที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เมื่อทุกอย่างมันเป็นออนไลน์ จากเดิมที่เรามีผู้ฟังจำกัดในพื้นที่กระจายเสียง คือ 16 อำเภอในสงขลา บางอำเภอในจังหวัดใกล้เคียง ทุกวันนี้คนหาดใหญ่ที่อยู่เชียงใหม่หรือต่างประเทศ ก็สามารถฟังรายการได้ เพราะเรามีแอปพลิเคชั่นทางแอนดรอยด์ และสถานีวิทยุออนไลน์
ความที่ผมทำรายการวิทยุและอยู่กับประเด็นต่างๆ ของเมืองมานาน เมื่อพี่เจี๊ยบ (สิทธิศักดิ์ ตันมงคล) ทำโครงการคลองเตยลิงก์ เลยก็ได้รับชวนให้เป็นเครือข่ายและทีมวิทยากรของโครงการ โดยผมทำ 2 กิจกรรมหลัก คือเป็นวิทยากรนำชมย่านชุมชนเลียบคลองเตยในกิจกรรม ‘เดินเมือง’ ชวนคนหาดใหญ่ด้วยกันสำรวจเมืองเราด้วยการเดินเท้า มองเห็นในสิ่งที่เราอาจมองข้าม และมองให้เห็นคุณค่าของเมือง เพื่อจะได้ประเมินว่าเราคิดกับสิ่งต่างๆ ของเมืองอย่างไร เรารักมันไหม และถ้ารัก เราจะทำยังไงกับเมืองของเราต่อไป
กับอีกโครงการคือเป็นคนนำเสวนา ‘หาดใหญ่ทอล์ค’ (Hat Yai Talk) ซึ่งก็ใช้ทักษะของการเป็นผู้จัดรายการวิทยุทำ podcast ชวนผู้เชี่ยวชาญของเมืองในด้านต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกับพี่เจี๊ยบในทุกสัปดาห์ มาดูว่าเรามีกลไกอะไรบ้างที่จะช่วยพัฒนาเมืองหาดใหญ่จากทุนเดิมที่เรามีอยู่ ทั้งการออกแบบ การหาภาคีเครือข่าย หรือการค้นหาคุณค่าให้คนหาดใหญ่ภูมิใจในสิ่งที่เรามี
อันที่จริงคลองเตยทุกวันนี้ไม่ได้มีบทบาทต่อชีวิตคนหาดใหญ่เหมือนก่อน คลองหลักที่ใช้ระบายน้ำคือคลองอู่ตะเภาซึ่งอยู่ทางซีกตะวันออกของเมือง ส่วนทิศใต้เรามีคลองหวะเชื่อมกับอู่ตะเภา หาดใหญ่เมื่อก่อนเป็นที่ลุ่ม น้ำเลยท่วมตลอด ซึ่งมันเอื้อต่อการทำการเกษตรกรรม พอพ้นหน้าน้ำ พื้นที่ในเมืองที่ลุ่มต่ำที่สุดจะเหลือร่องรอยทางน้ำไหล จนเกิดเป็นลำคลองตัดใจกลางเมือง นั่นคือที่มาของคลองเตย
สักราว 40 ปีก่อน คนหาดใหญ่ยังลอยกระทงที่คลองเตยอยู่เลยนะ เพราะมันเป็นแหล่งน้ำที่ใกล้เมืองที่สุด แต่พอเมืองมีความหนาแน่นมากขึ้น น้ำในคลองก็เริ่มเสีย เทศบาลในยุคหนึ่งเห็นว่าน้ำมันเน่าก็ดาดคลองปิดหลายช่วงเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเลย
ความน่าสนใจคือคลองนี้มันอยู่คู่วิถีชีวิตคนหาดใหญ่มาเนิ่นนาน เราเห็นมันทุกวัน เห็นจนชินตา เห็นจนหลายคนไม่ได้นึกว่านี่คือลำคลองด้วยซ้ำ โครงการคลองเตยลิงก์ของพี่เจี๊ยบพยายามปลุกความรับรู้ของคนหาดใหญ่กับคลองสายนี้ โดยเริ่มจาก 10 ชุมชนที่อยู่ติดริมคลองก่อน เพราะพวกเขามีบทบาทเสมือนเจ้าของพื้นที่
ถ้าเราทำพื้นที่เลียบคลองให้ดี เมืองมันดีขึ้นได้อีกเยอะ เพราะข้อดีของการดาดถนนปิดคลองของเทศบาลในอดีตมันทำให้เกิดทางทางเท้าในเมืองเพิ่ม บางส่วนของริมคลองปลูกต้นไม้ได้ ถ้าเราพัฒนาให้ดีคนหาดใหญ่มาใช้ประโยชน์จากมันได้อีกเยอะ ทั้งพื้นที่สัญจร พื้นที่สันทนาการ และพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
แน่นอน การขับเคลื่อนให้เทศบาลเป็นเจ้าภาพภูมิทัศน์ริมคลองเป็นกลไกสำคัญ แต่การพัฒนาจะไม่ยั่งยืนเลยถ้าคนในพื้นที่ไม่เข้าใจ ผมจึงเห็นด้วยกับพี่เจี๊ยบว่าการเริ่มคุยกับทุกภาคส่วนก่อนคือสิ่งจำเป็น ทั้งการชวนเดินเมือง หรือการจัดรายการชวนผู้รู้ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมือง
จะว่าไปแล้วก็เหมือนการพัฒนาสองด้านให้มาบรรจบกัน ด้านหนึ่งคือการร่วมกับหน่วยงานรัฐปรับภูมิทัศน์ที่ตอบโจทย์คนในเมือง กับอีกด้านคือพัฒนาคนในพื้นที่ให้ตระหนักในคุณค่าและความเป็นเจ้าของ คลองเตยลิงก์จึงไม่ได้มีผลลัพธ์แค่ในเชิงพื้นที่ แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้คน เป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนทีเดียวนะ”
บัญชร วิเชียรศรี
ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่