โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สกายวอล์กที่สวยและยาวที่สุดของประเทศ เป็นการพัฒนาย่านกะดีจีนไปถึงย่านคลองสาน เดินแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกัน สายน้ำไม่หยุดไหลฉันใด สายใจเราทั้งหลายก็จะร้อยเป็นอันเดียวกัน

“อาตมารู้จักอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) สิบกว่าปีที่อาจารย์มาทำโครงการและกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูในพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน จัดกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งน่าอยู่น่ามอง มีนิทรรศการเล็กๆ ข้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ มีเวทีเสวนาเรื่องความเข้มแข็งในชุมชน อาตมาในฐานะพระเลขาของวัดประยุรฯ ก็เล่าเรื่องนกมูลไถ (สกุณัคฆิชาดก) ให้ฟังว่า นกมูลไถที่เอาชีวิตรอดได้เพราะเขารู้จักถิ่นอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง ทำให้เขาเข้มแข็งได้ ก็เป็นการตอบรับที่ดีมาก แล้วโครงการฯ ก็เข้าทุกตรอกซอกซอยในชุมชนด้วยแนวคิดว่า ชุมชนมีของดีอยู่แล้ว จะทำอย่างไร สนับสนุนให้ดีขึ้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต (เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร) ในฐานะผู้นำศาสนาที่นี่ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ก็ตอบรับ กลายเป็นหนึ่งในสามแรงประสานร่วมกับภาคกิจกรรมวิชาการบวกแนวทางพัฒนาท้องถิ่น และแรงบวกของรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐ และชุมชน จากจุดเล็กๆ วันนั้นแหละ ทำให้เบิกบานกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่เติบใหญ่จนถึงทุกวันนี้ ที่ส่งผลถึงงานประเพณี วัฒนธรรม เทศกาลลอยกระทง สงกรานต์ ย่านฝั่งธน คือติดอันดับต้นละ มีภาคเอกชนกับภาครัฐบาลมาช่วยกันทำช่วยโปรโมต เช่น กระทรวงวัฒนธรรมการท่องเที่ยว บริษัททศภาคบ้าง ไทยเบฟบ้าง อย่างงานลอยกระทงล่าสุด อาจารย์แดงมากราบ อาตมาก็นึกถึงงานที่เจดีย์วันนั้นนะ ถ้าท่านถอดใจวันนั้น อาตมาก็ไม่มั่นใจว่าจะมีวันนี้หรือไม่ที่เป็นเฟสติวัลลอยกระทงสายน้ำ ชุมชนมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

พระพรหมบัณฑิตเป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นพระประพฤติปฏิบัติชอบ มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส และสิ่งที่หลวงพ่อให้คือปัญญา ท่านมีแนวคิดว่า การที่เราให้ชุมชนมีความสุข แม้วัดจะจ่ายบ้าง เสียสละบ้าง ก็สมควรที่จะกระทำ เราให้ชุมชนอยู่ดีกินดี มีความสุขกับวิถีชีวิต ค่าน้ำค่าไฟที่บางครั้งเขามาจัดงานที่นี่ บางทีข้าวปลาอาหารเราต้องเสิร์ฟเขา แม้แต่พิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทาน ท่านก็บอกว่าคืนกำไรให้ประชาชน หลวงพ่อพูดแล้วก็มีน้ำหนักและด้วยปัญญาของท่าน โครงการฯ ก็ข้ามไปถึงสะพานด้วน ที่จะข้ามไปฝั่งคลองสาน อดีตประธานชุมชนวัดประยุรวงศ์ บอกว่าสะพานด้วนตรงนี้ทำยังไงให้เกิดประโยชน์ คือสะพานมีแค่ตรงกลาง ไม่มีหัวไม่มีท้าย เดิมตั้งแต่ยุคท่านสมัคร สุนทรเวช จะสร้างสะพานรถไฟแต่โครงการไม่ถึง ทางอาจารย์แดงก็อยากจะทำ ทีนี้ลำพังอาจารย์ต้องบอกว่าผลักดันไม่ได้ แรงไม่พอ ต้องหาเสาหลักคือพระพรหมบัณฑิตนี่แหละ ให้หลวงพ่อไปเจริญพรบิณฑบาตกับภาครัฐ ทั้งกทม. กระทรวงการท่องเที่ยว จนกลายเป็นโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ทัศนียภาพสกายวอล์กที่ยาวที่สุดของประเทศ ตอนนี้กลายเป็นที่สวยงามมาก คนมาออกกำลังเช้าเย็น เป็นการพัฒนาย่านกะดีจีนไปถึงย่านคลองสาน เดินแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกัน สายน้ำไม่หยุดไหลฉันใด สายใจเราทั้งหลายก็จะร้อยเป็นอันเดียวกัน

อาตมามองว่าโครงการจะไม่หยุดแค่ย่านกะดีจีน คลองสาน เป็นต้นแบบให้ย่านอื่นๆ แม้แต่ภูมิภาคอื่นของประเทศไทยสามารถเอาไปใช้ได้ คือเราทำอย่างไร ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเล็กก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ แล้วสิ่งที่มันมากไปกว่า อยากให้ที่อื่นทำเหมือนที่นี่นะ คือเรื่องศาสนา พระพรหมบัณฑิตบอกว่าเราคือดอกไม้แต่ละดอก วัดประยุรฯ ศาสนาพุทธก็หนึ่งดอก วัดซางตาครู้ส ศาสนาคริสต์ก็อีกดอก มัสยิดอิสลามก็อีกดอก ความเชื่อมหายานศาลเจ้าเกียนอันเกง ก็อีกดอก แม้แต่ความเชื่อของชุมชนนั้นๆ ก็เป็นหนึ่งดอก เมื่อแต่ละดอกมามัดรวมกัน ใส่ในแจกัน เราไม่เรียกว่าดอกไม้ชนิดนั้นชนิดนี้ แต่คือแจกันดอกไม้ ไปตั้งที่ไหนก็งดงาม มีค่า นี่คือแนวคิดของพระพรหมบัณฑิต ที่ทำให้เราอยู่กันอย่างมีความสุข อยู่กันแบบไม่แย่งศาสนิก เราไม่บอกให้คุณมาเชื่อเรา เราไปเห็นงานลอยกระทง งานสงกรานต์ ที่วัดประยุรฯ คนโพกผ้าอิสลามก็มาขายของกับเรา ศาสนาคริสต์ก็มาขายของอาหารโปรตุเกสของเขา แล้วยามเขามีงาน เชิญเรา หลวงพ่อก็ไม่ได้ปฏิเสธ ท่านไปแสวงจุดร่วมแต่สงวนจุดต่างตัวเองไว้ จุดร่วมคือความสุขของมวลชน เลยกลายเป็นจุดแข็งย่านชุมชนนี้ที่อยู่ร่วมกันเป็นพหุวัฒนธรรม ใครมีดีก็มาช่วยเหลือกัน เป็นชุมชนที่น่าอยู่ น่ามอง น่าเที่ยว และเป็นความสุขแท้จริง และก็ตรงกับพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสานโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าทำยังไงให้ประเทศไทยมีความสุข เราเอาจากจุดเล็กๆ ให้ขยายไปทั้งประเทศ ให้กลายเป็นชุมชนเดียวกัน เมื่อเรารวมกันอย่างนี้ได้ เราจะได้ทั้งพวกทั้งพรรคทั้งชุมชนเป็นกลุ่มของเราเอง ดังนั้นมุมมองจากนี้ไป รุ่นโยมรุ่นอาตมา วันหนึ่งเราจากโลกนี้ไป คนรุ่นหลังเขาอยู่ได้และพัฒนาต่อจากเราไป

โดยมิติของโครงการตั้งแต่ต้นคือทุกคนเป็นพี่น้องกัน ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในชุมชน เขาจะระดมช่วยกัน ถามว่าฝั่งวัดประยุรฯ ย่านกะดีจีน น้ำไม่ท่วมนะ เพราะชุมชนช่วยกันป้องกันกั้นพนัง ถ้าไม่มีโครงการของอาจารย์มาผูกจิตใจร้อยมะลิมาลัยเป็นพวงแจกันเดียวกัน กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อเนี่ย เชื่อว่าเขื่อนแตก น้ำท่วม ประชาชนไปคนละทิศละทาง อย่างตอนนี้ที่กำลังทำถนนทางเดินจากนี่ไปวัดอรุณฯ ทราบข่าวว่าใกล้เสร็จแล้ว ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่พระพรหมบัณฑิตเองก็เคยบิณฑบาตขอทางรัฐบาลให้เขาเชื่อมโยงหากัน เป็นคนบ้านเดียวกัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก อาตมาอยากเสนอว่าสิ่งที่ทำมาดีละ อยากให้ทำต่อไป และขยายโครงการนี้ได้ทั่วไทย แล้วขอให้กำลังใจถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด การทำงานมีปัญหาอุปสรรคทุกที่ แต่เราไม่ยอมแพ้ที่ความดีที่เราทำ บัดนี้ เราดูชุมชนย่านกะดีจีนเป็นตัวอย่าง เราสามารถเดินข้ามสีทันดรได้ ข้ามปัญหาเหล่านั้นได้ จนกลายเป็นศักดิ์ศรีย่านฝั่งธนได้ ทำให้คิดถึงวลีโศลกคำกลอนของนักปราชญ์ชาวตะวันตกท่านหนึ่ง กล่าวว่า

เท้าเปล่า เจ็บปวด เพราะกรวดหิน

กว่าจะชิน ก็แทบบ้า น้ำตาไหล

ครั้นสัมผัส ดินนุ่ม ชุ่มชื่นใจ

นักรบเป็น สวรรค์ได้ ในพริบตา

ไม่มีทาง สายใด ไม่ลำบาก

ทั้งหินคม ห่อปาก ล้วนมากค่า

เพิ่มพลัง นักสู้ สู่มัครา

ตราบสองขา บรรลุถึง ซึ่งหลักชัย

ขอเป็นกำลังใจแด่ทุกท่าน สักวันหนึ่งจะไปถึงหลักชัยเพราะสองขาที่เราไม่หยุดเดิน”

พระโสภณวชิรวาที
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago

แก่งคอย…ย้อนรอยสงครามโลกเปลี่ยนบาดแผลประวัติศาสตร์สู่เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากจะถูกจดจำจากเพลงดังที่มีชื่อเดียวกับชื่ออำเภอของ ก้าน แก้วสุพรรณ และเพลงฮิตของคาราบาว ซึ่งสื่อถึงที่มาของชื่อ ‘แก่งคอย’ อย่าง ‘แร้งคอย’ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจนึกภาพไม่ออกว่าอำเภอของจังหวัดสระบุรีที่เป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และประตูสู่ภาคอีสาน มีความสำคัญอย่างไร? ไม่เพียงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟ อำเภอแก่งคอย ยังเป็นจุดเริ่มต้น (ต่อจากอำเภอเมืองสระบุรี)…

1 year ago

ขอนแก่นโมเดล
The Legacy of City Development

เพราะเมือง คือ ผู้คน และผู้คน คือ ตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมือง ความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรฐานคุณภาพชีวิต จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความสามารถ และความร่วมมือร่วมใจของคนในเมืองเป็นฐานสำคัญ กว่าทศวรรษที่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาเมืองที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงในฐานะแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุด…

1 year ago

“ขอนแก่นเราไม่ใช่เป็นเมืองที่นั่งรอคนเข้ามาทำนู่นนี่ให้”

เมืองขอนแก่น ผู้คน กับการเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป           ไม่มีภูเขา ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ อยู่ไกลโพ้นจากชายทะเล แหล่งท่องเที่ยวมีชื่อ หรือทรัพยากรธรรมชาติสำคัญก็น้อยนิด แต่มีคนที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเมืองกลุ่มใหญ่ที่กล้าคิดกล้าฝัน พยายามทำทุกลู่ให้ความหวังเป็นจริงได้ นี่คือปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาเพียงกึงศตวรรษนำพาเมืองขอนแก่น เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด  ‘ผู้คน และความร่วมมือ…

1 year ago

“สำนึกรักท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญของจิตสำนึกของคนขอนแก่น”

“เมื่อพูดถึงเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น เราดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’ การที่เมืองจะพัฒนาได้และสร้างสังคมที่เป็นสุข ต้องเริ่มที่ ‘คน’ คนที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างในกรณีที่เปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น ถ้าเราจะพัฒนาขอนแก่นเป็นเมือง…

1 year ago