เรียนรู้ พัฒนา เมืองเขาใหญ่
โครงการวิจัย “เมืองแห่งการเรียนรู้ ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง” มุ่งหมายสร้างต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แหล่งความรู้และกระจายความรู้ด้านทฤษฎีใหม่ นำไปสู่การปฏิบัติในท้องถิ่น พื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง
WeCitizens อาศัยบรรยากาศเพลิดเพลินของถนนคนเดิน เขาใหญ่ และพื้นที่โคก หนอง นา เขาใหญ่ นั่งบนกองฟาง สนทนากับหัวหน้าโครงการวิจัย ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ แห่งบริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ถึงการขับเคลื่อนโครงการวิจัยฯ ที่สามารถต่อยอดไปสู่โครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ และโครงการเขาใหญ่พัฒนาเมือง ส่งผลกระทบวงกว้างถึงอำเภอปากช่อง และจังหวัดนครราชสีมา
กระบวนการศึกษาท้องถิ่นและการปฏิบัติงานของโครงการวิจัยฯ
โครงการ “เมืองแห่งการเรียนรู้ ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง” มี 3 โครงการย่อย หนึ่ง โครงการ “โคก หนอง นา เขาใหญ่” สอง โครงการ Khaoyai Learning Market Walking Street : ถนนคนเดิน เขาใหญ่ สาม โครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ ทั้งหมดเป็นโครงการพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่โครงการเขาใหญ่พัฒนาเมือง ซึ่งทางบพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) เป็นผู้สนับสนุนอยู่แล้ว ตอนนี้ในโครงการเขาใหญ่พัฒนาเมืองคิดขึ้นมา 20 โครงการย่อย เกี่ยวกับป่า ดอกไม้ น้ำ MICE City รวมทั้งโครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ กับถนนคนเดิน เขาใหญ่ ซึ่งต่อยอดมาจากงานวิจัยในปีแรก พอปีที่สองก็ปฏิบัติเลย ทำต่อเนื่องมา และจะขยายต่อไปครับ
เราขุดปรับพื้นที่โคกหนองนา แล้วก็สร้างหลักสูตรการสอนการออกแบบพื้นที่โดยหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ตามหลักวิศวกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย รับรองโดยบพท. และนำหลักสูตรที่ได้มาเริ่มสอนไปหลายครั้งแล้ว เป็นหลักสูตรที่ใช้สอนได้ตลอดไป คือโคกหนองนาในบริบทของเขาใหญ่ ไม่เหมือนกับโคกหนองนาที่อื่น ที่นี่เราไม่ควรทำเป็นพื้นที่เกษตร ไม่ต้องทำนา พื้นที่ทำนาอยู่ข้างหลังประมาณ 3 แปลงกลายเป็นพื้นที่ปลูกผัก ปลูกดอกไม้ เป็นโคกหนองนาเพื่อการท่องเที่ยว อย่างโคกหนองนาตรงโน้น เดิมทีเป็นดินราบๆ เราขุดลงไปเป็นหนอง แล้วเอาดินจากหนองมาปั้นโคก โคกก็อยู่เนินตรงนั้น เราจัดทำเป็นเวที เป็นลานนั่ง ลานกิจกรรม ให้คนมาเที่ยว มาถ่ายรูป แล้วแทนที่จะเป็นหนองน้ำ กลายเป็นเราขุดไปเจอหินอ่อนเต็มหนองไปหมดเลย เราก็ทำสตอรี่ของหินอ่อน ตั้งชื่อว่า Jurassic Marble เพราะเป็นหินดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ล่ะ แล้วตรงนี้เจอซากฟอสซิลหอยทะเลด้วย
ในงานวิจัยที่เราทำ พบว่า ปัญหาของเขาใหญ่คือการใช้น้ำบาดาลของคนที่อยู่รอบเขาใหญ่มากเกินกว่าปริมาณน้ำใต้ดินที่มีอยู่ เลยทำให้เกิดอะไรขึ้นรู้มั้ย ทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงเร็วกว่าธรรมชาติ เลยไปดึงระดับน้ำใต้ดินที่อยู่บนเขาใหญ่ให้ลดลงเร็วด้วย ทำให้น้ำตกก็แห้งในหน้าแล้งได้ ต้นไม้ที่รากไม่ลึก ที่เป็นอาหารสัตว์ ก็ไม่ค่อยโต เป็นที่มาว่าสัตว์ต้องออกจากเขาใหญ่มาหากิน เป็นที่มาว่าทำไมช้างมาถึงตรงนี้ ห่างจากเขตอุทยานฯ ตั้งสิบกิโล ที่นี่เราทำให้ดูว่าโคกหนองนาของเราไม่ใช่หนองเพื่อเก็บน้ำ เป็นหนองเพื่อการเติมน้ำลงดิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาของเขาใหญ่ อย่างวันที่ฝนตกเยอะๆ น้ำหลากเต็มไปหมดเลย น้ำจะไปเข้าตรงโคก เลี้ยวเข้าไปในหนอง เติมซึมลงดินไป เราจึงเห็นรอยคราบดินอยู่ในหนอง
การเปิดโครงการ Khaoyai Learning Market Walking Street : ถนนคนเดิน เขาใหญ่
ตอนแรกเปิด (ปี 2564) เราตั้งใจเปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทั้งปี แต่ปรากฏว่าพอฝนมาปุ๊บ ที่นั่งกองฟางเปียกหมดเลย ไม่เวิร์กละ ก็เลยตัดสินใจว่าเปิดเฉพาะเดือนธันวาคมกับมกราคม เพราะเราเก็บข้อมูลฝนตกมาหลายปีแล้ว ว่าฝนจะไม่ตกอยู่แค่สองเดือนนี้ เขาใหญ่เป็นสถานที่ที่ฝนตกปีนึง 10 เดือน ไม่ได้ขาดน้ำนะ แต่เราเก็บน้ำไว้ไม่ได้ เวลาตกมาเยอะๆ มันก็หลากไป แล้วก็ไปท่วมในปากช่อง แต่ถ้าทุกที่ทำเหมือนโคกหนองนาเขาใหญ่ มีร่องเยอะๆ แล้วก็ช่วยกันเติมน้ำลงดิน ไม่ให้น้ำฝนจากที่ตัวเองตกมาแล้วหลากไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ให้ตกลงไปแล้วเก็บลงดินในพื้นที่ โครงการต่อเนื่องตรงนี้คือเราพยายามเอาไปใช้ในโครงการเขาใหญ่พัฒนาเมือง แนะนำให้ทุกคน ผู้ประกอบการทั้งหลาย ขุดหลุมขนมครก ขุดคลองไส้ไก่ ในพื้นที่ตัวเอง เพื่อชะลอการหลากของน้ำ แล้วให้เก็บน้ำฝนลงดินให้เยอะที่สุด แล้วถ้าวันข้างหน้าจะทำต่อเนื่องไป หมายความว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ ผู้ประกอบการทั้งหลาย ให้คำนวณว่าปีนึงคุณใช้น้ำเท่าไหร่ แล้วปีนึงเติมน้ำลงดินได้เท่าไหร่ ถ้าคุณเติมน้ำลงดินมากกว่าน้ำที่คุณใช้ แสดงว่าคุณผ่าน คุณมีการรักสิ่งแวดล้อม อาจจะหาใบประกาศฯ มอบให้เขาด้วย เพราะต่อไป เขาใหญ่ เราพยายามให้เป็นเมืองอาหารอินทรีย์ ที่ต่อเนื่องกับตรงนั้น คือเขาใหญ่เป็นที่ที่อากาศดีอยู่แล้ว มีออกซิเจนดีที่สุดในประเทศไทย ถ้าได้อาหารดี ในที่นี้ไม่ใช่อาหารแพงนะ คืออาหารที่ไม่มีเคมี เราจึงพยายามเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามา
คนที่มาออกบูทที่ถนนคนเดินฯ ถ้าเป็นคนทำเกษตรอินทรีย์ เราไม่เก็บค่าบูท เก็บแต่ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าทำความสะอาด แค่วันละ 100 บาท แต่ถ้าเป็นคนอื่น ก็เก็บตั้งแต่ 500-1,000 บาทแล้วแต่ช่วง ให้เขาก็อยู่กันได้ แต่ถ้าวันข้างหน้า เราขยายไปถึงโครงการเขาใหญ่พัฒนาเมืองให้เต็มรูปแบบแล้ว เราจะทำพื้นที่เป็นคอมมิวนิตีมาร์เก็ต ให้ชาวบ้าน ชุมชน มาขายเป็นล็อกๆ ทำที่กันฝนอะไรให้เรียบร้อย แล้วจะเปิดทุกศุกร์ เสาร์ อยู่ในพื้นที่นี้แหละ ต่อไปที่นี่เราจะขยาย ปรับพื้นที่ใหม่ ที่ด้านหน้าของเรา 400 เมตรติดถนน ทำให้เป็นถนนคนเดินจริงๆ เดินได้ยาวๆ เพราะบรรยากาศและสถานที่ดีอยู่แล้ว อยู่กึ่งกลางระหว่างเขาใหญ่ ถนนธนะรัชต์ฝั่งซ้าย กิโลเมตรที่ 10
บทเรียนจากการจัดถนนคนเดิน เขาใหญ่
ครั้งแรกที่จัด เราได้รู้แล้วว่าการจะเปิดถนนคนเดินที่เขาใหญ่ต้องเปิดเฉพาะเดือนธันวาคมกับมกราคม ไม่สามารถเปิดทุกวีคเอนด์ทั้งปีได้ เพราะว่าฝน เพราะเราเปิดเอาต์ดอร์ เราก็เลยเตรียมการแก้ปัญหา อย่างครั้งนี้ครั้งที่ 2 เปิด 11 ครั้ง ในปีต่อไป ครั้งที่ 3 เราก็จะเปิดต้นเดือนธันวาคมถึงสิ้นเดือนมกราคมของปีหน้า 11 ครั้งเหมือนกัน ประมาณเกือบ 10 อาทิตย์ และพยายามทำให้อยู่ในร่ม เดินชมกันสวยๆ มีส่วนที่นั่งกินได้ ฝนตกมาก็ไม่มีปัญหา ถ้าแก้ด้วยวิธีนี้ ก็จะเปิดทั้งปีได้ แล้วไปจับมือกับโรงแรม สถานประกอบการต่างๆ ให้เขารู้ว่าที่นี่มีตรงนี้นะ เป็นอีกทางเลือกของนักท่องเที่ยว จากไปไหนมาเต็มที่แล้ว แวะมาที่นี่ได้ มานั่งฟังเพลง เราจัดแสดงดนตรีสด วันเสาร์เป็นวงใหญ่เต็มวง วันศุกร์กับวันอาทิตย์เป็นวงเล็ก เพราะฉะนั้น ทุกวันเสาร์ที่ผ่านมา คนแน่นทั้งข้างในข้างนอกเลย วงดนตรีก็เป็นวงในพื้นที่ ทั้งหมดเราพยายามเน้นคนในพื้นที่ ร้านค้าก็เป็นร้านในพื้นที่ แล้วก็ขายของไม่ซ้ำกัน ร้านนี้เคยอยู่กับเรามาตั้งแต่ครั้งที่ 1 แล้วก็เป็นร้านไม่ซ้ำ เขาจะได้โควตาก่อน ถ้าคนอื่นมาขายซ้ำเขา เราจะไม่ให้ แล้ววีคเอนด์สุดท้ายมีประกวดขวัญใจมหาชน ให้คนมาเที่ยวลงคะแนน มีรางวัลให้ 3 อันดับ 5,000 บาท 3,000 บาท 1,500 บาท เป็นการปิดงานถนนคนเดินฯ ครั้งนี้
โครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์น่าสนใจมาก
เราไปรวบรวมคนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในปากช่องทั้งหมด เช่น เครือข่าย EarthSafe (มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย สำหรับผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ 100%) เพื่อเตรียมผัก ไข่อารมณ์ดี ทำเป็นศูนย์กระจายวัตถุดิบอินทรีย์ แต่ปัญหาคือราคา ตอนแรกเราตั้งราคาเท่ากับพืชผักในห้างแมคโครเลย ราคาเท่ากันเลยนะ แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการหลายรายเขาซื้อผักเคมีตามท้องตลาด ซึ่งราคาถูกมาก เรายังไม่สามารถทำให้เขามีความรู้สึกต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค หลายร้านที่เราสำรวจมาเป็นร้อยร้าน เกินครึ่งเลยที่ยังมองถึงต้นทุนตรงนี้อยู่ ทั้งที่เราทำราคาเท่ากัน เราปรับใหม่เลยนะ สมมติว่าราคาแมคโครเท่านี้ ราคาท้องตลาดเท่านี้ เราอยู่ตรงกลางแล้วนะ หรือไข่ ราคาเบอร์ 2 ขายในแมคโคร ในท็อปส์ 126 บาท เราขาย 125 บาท บางคนก็ซื้อ บางคนก็ไม่ซื้อ อีกปัญหาคือ ถ้าเราไม่ดีลกับเจ้าของเอง ต้องผ่านฝ่ายจัดซื้อปุ๊บ บางทีเป็นความยุ่งยากในการเปลี่ยนระบบการจัดซื้อของเขา แต่อีกมุมนึง มองในมุมเรา เราก็จัดผักให้เขาไม่นิ่ง บางทีได้ไม่ได้ ก็เกิดปัญหา แต่ต่อไปถ้าสามารถจัดการผลผลิตให้นิ่งได้แล้ว ก็ค่อยๆ เปลี่ยน เราได้ทางอำเภอซึ่งร่วมกับเราตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโครงการอำเภอนำร่อง ของกระทรวงมหาดไทย ก็จะเอาโครงการของเรามาขยายเรื่องเมืองอาหารอินทรีย์ต่อ
การที่เราทำปากช่อง เขาใหญ่ ให้เป็นเมืองอาหารอินทรีย์ได้ ช่วยทุกฝ่ายเลยนะ เกษตรกรทั้งหลายที่ทำเคมีอยู่ก็เปลี่ยนมาทำอินทรีย์ร่วมกับเรา แล้วก็ส่งให้ เราตัดคนกลางออกไปเลย เราคิดค่าดำเนินการแค่ 10% ในการไปรับให้ แพ็กให้ ส่งให้ แล้วให้เครดิตด้วย เขาก็แฮปปี้ เกษตรกรเขามาร่วมกับเรา แต่ดีมานด์เราก็ยังไม่เพียงพอ ตรงนี้มีวิธีการทำใหม่ คือต้องทำให้เป็นรูปแบบชัดเจนเลย เรากำลังทำที่นี่ให้เป็น EarthSafe Center รวบรวมเครือข่ายที่ EarthSafe รับรองเกษตรกรทั้งหลายที่ทำอินทรีย์ที่นี่ทั้งหมด เอาของเขามาขายที่นี่ เราเป็นตัวกลางส่งให้ทุกผู้ประกอบการ ทุกโรงแรม ได้หมด แล้วเราประกันราคาทั้งปี อย่างนี้เขาจะแฮปปี้ เราใช้การตลาดนำการผลิต คุณจะผลิตตามโควตาที่เราบอก ผลิตมา เรารับซื้อหมด
คือต้องใช้หลายภาคส่วน รัฐ เอกชน ประชาสังคมมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
ครับ ที่นี่เราใช้ 7 ภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน มีภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาคสื่อสารมวลชน ภาครัฐ ภาคเอกชน การขับเคลื่อนของเรามองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน มันเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติไปแล้ว คือวิจัยเสร็จ ปฏิบัติเลย ได้ผลออกมาเลย แล้วทั้ง 3 โครงการย่อยก็ต่อยอดไป ไม่ได้หยุด ผลที่ได้ก็ถือว่าพอใจในระดับที่ดีเลย
ตอบโจทย์ความยั่งยืนในแง่เศรษฐกิจมั้ย
คือเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว จากเดิม ถ้าเอาไปขายท้องตลาดทั่วไป เขาถูกกดอยู่ราคานี้ ราคาเขาขยับขึ้น ผู้ซื้อซื้อได้ลดลง แฮปปี้ทุกฝ่ายเลย และที่สำคัญคือเขาได้อาหารอินทรีย์ไปกิน เราเข้าไปโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เอาไข่อารมณ์ดีไปขายในราคาที่เขาซื้อกลับมาแผงละร้อย ซึ่งเดิมทีเขากินเป็นไข่ฟาร์ม ไข่ฟาร์มก็ไก่ 1 กรง เลี้ยง 3-4 ตัว ไก่จะมีความเครียด ความเครียดจากไก่จะไปอยู่ในไข่ ทุกวันนี้คนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะมาก คนที่กินไข่เป็นประจำ เขารับความเครียดของไก่เข้าไปด้วย ตอนนี้เลยพยายามรณรงค์ให้กินไข่อารมณ์ดี หมายความว่า ไก่เลี้ยงแบบปล่อย เป็นไก่อารมณ์ดี แล้วทำฟาร์มให้เป็นอินทรีย์ด้วย สิ่งนี้มันช่วยทุกๆ ด้านเลย คนก็จะสุขภาพดีขึ้นจากการกินอาหารอินทรีย์ คนมาเขาใหญ่ได้รับอากาศดี อาหารดี สุขภาพดี ทำให้คนอยากมาท่องเที่ยวเขาใหญ่มากขึ้นด้วย
ในแง่ผู้บริโภค ยังอ่อนไหวเรื่องราคาอยู่
ไข่อารมณ์ดีไม่แพง ผู้บริโภคคิดว่าแพงกว่า แต่ตอนนี้ราคาเท่ากันเลย เพราะเราเอา 125 บาทต่อแผงเบอร์ 2 แมคโครขาย 126 บาท ราคาถูกกว่าอีก แต่ปัญหาอีกอย่างของเราคือ ยังผลิตไม่นิ่ง ไม่เพียงพอกับออเดอร์ สมมติถ้าเป็นร้านใหญ่ๆ เขาสั่งมา 30 แผง เราจัดให้เขาได้ 20 แผง อีก 10 แผงเขาต้องไปหาซื้อต่างหาก มันยุ่งยากกว่าเดิม แต่ถ้าเราจัดการให้เขาได้หมดเมื่อไหร่ ผมว่าหลายคนยินดี ยิ่งเราคุยกับเจ้าของด้วยก็จะยิ่งยินดี
เขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
เป็นไปได้อย่างสูงเลย แต่ต้องสร้างมาตรฐาน ตอนนี้เราจะสร้างมาตรฐาน EarthSafe แล้วไปให้มาตรฐานแต่ละคน ทำโรงเรือนแบบเกษตรยุคใหม่ เป็นกรีนเฮาส์ ควบคุมการผลิตได้ พอควบคุมการผลิตได้ จำนวนได้ ก็จะซัพพอร์ตทุกคนที่ออเดอร์มา แล้วเราก็ไม่ต้องไปสนใจว่าช่วงฤดูนั้นฤดูนี้ราคาจะแพง เรายืนราคาได้ตลอด นี่คือการตอบโจทย์และแก้ปัญหาเรื่องนี้ แล้วถ้าผลผลิตไม่พอ ก็หาเครือข่ายมาเพิ่มๆ เข้าไป ใครอยากเข้าเครือข่ายเรา เราจะลงทุนโรงเรือนให้ เป็นคนบอกว่าจะปลูกอะไร เราก็รับซื้อทั้งหมด แล้วเราสอนด้วย ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ เหมือนที่เราตั้งใจเรื่อง Learning City ที่นี่แหละจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ด้านนี้เลย เพื่อทำให้เขาใหญ่ ปากช่อง กลายเป็นเมืองแห่งอาหารอินทรีย์ได้สำเร็จ เราจะไม่ทำแค่ด้านใดด้านนึงไง จากงานวิจัยเนี่ยทำด้านในด้านนึงมันไม่สำเร็จอยู่แล้ว เขาทำกันมานานแล้วไง เราทำให้ครบลูปเลย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มันก็จะไปต่อได้
ทางนายอำเภอก็มาคุยว่าจะทำที่นี่เป็นต้นแบบให้อำเภออื่น เพราะนโยบายกระทรวงมหาดไทยเขา Change for Good ไง แต่ทั้งหมดมันเริ่มมาจากอว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ในการวิจัย ที่นี่เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติใช่มั้ยครับ เราก็ปฏิบัติให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรมทั้งหมด แล้วก็ทำการวิเคราะห์ ปรับอะไรต่างๆ สิ่งที่เราต้องการคือการต่อยอด Learning City คือต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ แล้วก็ขยายออกไป พัฒนาต่อไปกับโครงการเขาใหญ่พัฒนาเมืองด้วย
ภาพในอนาคตโคก หนอง นา โมเดล เขาใหญ่
หลักสูตรที่เราสอนคือการประยุกต์ทฤษฎีใหม่สู่โคก หนอง นา โมเดล เพื่อตามหลักวิศวกรรม สอนออกแบบ หลายคนที่มาเรียนรู้กับเรา ได้เห็นพื้นที่ตรงนี้ เขาก็ออกแบบพื้นที่ตัวเอง แล้วก็ไปปรับใช้
พื้นที่ตรงนี้จะปรับปรุงข้างหน้าทั้งหมด ให้ถนนคนเดินเต็มพื้นที่ 400 เมตร จะมีการทำเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ศูนย์เรียนรู้นี่ ทำเป็น EarthSafe Center ด้วย ก็จะเรียนรู้ได้ครบทุกอย่าง ตั้งแต่การทำปุ๋ย การทำจุลินทรีย์ การเพาะปลูก การแพ็ก เสร็จแล้วเข้ามาร้านค้ายังไง เรามีร้านค้า มีหน้าร้าน ถ้าเต็มพื้นที่จะมีเป็น 200 ร้านเลย ในอนาคต ที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของเขาใหญ่
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…
WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…
WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…