“เนื่องจากแต่เดิมเรามีอาชีพเป็น product specialist ของบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ จึงมีโอกาสได้ไปเห็นหลายเมืองทั่วประเทศ จากหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางไปสอนลูกค้าใช้เครื่องมืออยู่เสมอ ซึ่งจากที่ได้ไปเห็นมาทั้งหมด เราพบว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด
ชอบหลายอย่างเลยค่ะ ทั้งภูเขา ทะเล อาหารการกิน ความเป็นเมืองที่ยังคงมีเสน่ห์แบบชนบท รวมถึงอุปนิสัยของคนท้องถิ่นที่เป็นมิตรและตรงไปตรงมา และนั่นทำให้แม้เราจะไม่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่นคร แต่ถ้าเรามีวันหยุด เราจึงเลือกมาใช้เวลาพักผ่อนที่เมืองแห่งนี้
เรามีความฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านกาแฟ ประกอบกับที่เราอิ่มตัวกับงานประจำ ก็เลยคิดว่างั้นมาเปิดที่เมืองที่เราอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างนครแล้วกัน ช่วงก่อนออกจากงาน เราเลยเดินทางมาเที่ยวที่นี่หลายครั้งเพื่อหาทำเลสำหรับเปิดร้าน ไปๆ มาๆ อยู่ 3 รอบ ยังไม่เจอทำเลที่อยากได้เสียที
จนครั้งสุดท้าย ความที่เราเป็นสายมู ทุกครั้งที่มาที่นี่ เราจะแวะไหว้พระธาตุ (วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) ก่อน คราวนี้เราเลยขอพรกับองค์พระธาตุว่า หนูชอบเมืองนี้มาก ถ้าหนูเหมาะกับเมืองนี้จริงๆ ก็ขอให้หนูได้เจอสถานที่ที่ใช่ และให้ร้านที่หนูกำลังจะทำมันคุ้มค่าต่อการลาออกจากงานที่มั่นคงของหนู และเราก็สัญญากับพระธาตุว่า ถ้าได้เจอ เราจะทำให้ร้านนี้เป็นร้านของคนนคร ร้านที่เป็นตัวชูโรงของจังหวัดนครศรีธรรมราช
จำได้ว่าขอพรไปประมาณนี้ จากนั้นก็ไปเที่ยวไปพักผ่อนต่อ จนวันที่เราจะขึ้นเครื่องกลับ ปรากฏว่าตึกแถวบนถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ร้อยวันพันปีเขาก็ปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ให้ใครเช่า จู่ๆ เขาก็ติดป้ายให้เช่าเสียอย่างนั้น ดูเป็นเรื่องดวงสมพงษ์มากๆ เพราะถ้าเรามาเห็นช้ากว่านี้ ก็อาจไม่ได้ที่นี่
เราตั้งชื่อ Ergo Coffee มาจากคำว่า ergonomics แปลว่า สรีรศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชากายภาพบำบัดที่เราเรียนมา คือนอกจากเสิร์ฟกาแฟ เราก็อยากให้ลูกค้านั่งสบาย และมีความสุขที่มาในร้านเรา เลยจะเห็นว่าโต๊ะและเก้าอี้ในร้านมีการออกแบบให้คำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์อยู่พอสมควร
และที่สำคัญคือคอนเซปต์ร้าน อย่างที่บอกว่าเราให้สัญญากับองค์พระธาตุไว้ว่าจะทำร้านนี้เป็นที่จดจำในฐานะร้านกาแฟของเมืองนคร และด้วยทำเลที่อยู่กลางเมืองแบบนี้ด้วย เราจึงพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่นหรือนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้าง story ใส่เข้าไปในเมนู เพราะเราประทับใจเมืองนี้ ก็อยากนำเสนอความดีงามของเมือง ผ่านสิ่งที่เราเสิร์ฟกับลูกค้าให้ได้มากที่สุด
เช่น ‘ลาปูชิโน’ ซึ่งเป็นกาแฟนมแบบคาปูชิโน แต่เราเสิร์ฟกับขนมลา ขนมพื้นบ้านที่นำมาจากบ้านขนมลา (หอยราก) ในอำเภอปากพนัง ให้ลูกค้าได้ดริปขนมลากับฟองนม หรือกินแกล้มแบบบิสกิต หรือ ‘คีรีวงศ์แบล็คคอฟฟี่’ กาแฟเอสเพรสโซช็อตผสมน้ำผลไม้รวมและโซดา หลายคนเข้าใจผิดว่าเราเอาเมล็ดกาแฟมาจากบ้านคีรีวงศ์ แต่จริงๆ แล้วที่นำมาคือน้ำผลไม้ค่ะ เพราะนอกจากคีรีวงศ์จะได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุด หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าหมู่บ้านนี้เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อนที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์มากด้วย เราก็อยากให้ลูกค้าจดจำเรื่องนี้ และถ้ามีโอกาสไปคีรีวงศ์ก็อยากให้แวะไปกิน เช่นที่ไปปากพนังแล้วต้องไปชิมขนมลา
หรือหมอนทองลาเต้ กาแฟลาเต้เสิร์ฟกับทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นอีกผลไม้ขึ้นชื่อของนคร รวมถึงนครม็อคคา ซึ่งเป็นกาแฟผสมโกโก้ เราก็ใช้โกโก้จากเกษตรกรท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับขนมพื้นบ้าน และขนมไทย คือเราไม่ได้เสิร์ฟกาแฟคู่กับเค้กหรือครัวซองต์แบบตะวันตกอย่างเดียว ขนมหวานแบบบ้านๆ ก็ไปกันได้ด้วยดีกับกาแฟและชาเหมือนกัน
เราเปิดร้านนี้ก่อนที่โควิดจะเข้ามาได้ไม่เท่าไหร่ ถือเป็นการเปิดในจังหวะที่ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ เพราะอย่างน้อยเรายังมีเวลาประมาณ 3 เดือนที่ทำให้คนรู้จักและได้ลูกค้าประจำ ก่อนที่โรคระบาดจะทำให้เราต้องปิดร้านไปพักหนึ่ง และก็เพราะเหตุนั้นบวกกับทำเลของร้านที่ดีมากด้วย พอรัฐบาลประกาศให้กลับมาเปิดร้านได้ ก็มีลูกค้ากลับมาอย่างต่อเนื่อง จนโควิดรอบที่ 2 กลับมาใหม่ และค่อยๆ ซาลง ผลตอบรับของร้านค่อนข้างดีจนเราต้องขอเช่าอาคารข้างๆ เพื่อต่อเติมพื้นที่เพิ่ม
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ความเป็นลักษณะเฉพาะแบบเมืองนครด้วย เพราะแม้ที่นี่จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแบบภูเก็ตหรือหาดใหญ่ แต่เมืองก็ไม่เคยเงียบ ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นอยู่ตลอด ขณะเดียวกันความที่เมืองเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุและวัดดังๆ มากมาย ก็ดึงดูดให้คนจากทั่วประเทศมาไหว้พระขอพรไม่ขาดสาย ยังคิดมาถึงทุกวันนี้เลยว่าถ้าเราเปิดร้านกาแฟในเมืองอื่น ท่ามกลางสถานการณ์โควิดแบบนี้ เราอาจต้องปิดร้านไปนานแล้ว
แม้ร้านจะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี แต่เราก็ไม่หยุดเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาเครื่องดื่ม เมนูใหม่ๆ และการบริการอยู่เสมอ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิม คือการทำให้ร้านสื่อสารอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของเมืองนคร อยากให้นักท่องเที่ยวหลังจากไหว้พระ แล้วมานั่งพักดื่มเครื่องดื่มที่ร้านเรา ไม่มากก็น้อย ก็หวังให้สิ่งที่เราเสิร์ฟ จุดประกายให้เขาได้รู้จักเมืองนครมากยิ่งขึ้น และรักเมืองนคร ในแบบที่เรารัก”
ยุวนิดา มะณุโชติ
เจ้าของร้านกาแฟ Ergo Coffee
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…