“รูปแบบของานยอสวยไหว้สาพญามังราย ฉลองครบรอบ 726 ปีเมืองเชียงใหม่ ที่ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ได้มีส่วนร่วมจัดงานไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ แตกต่างจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือในที่สุดเราก็สามารถสืบค้นจากเอกสารโบราณเกี่ยวกับเครื่องบวงสรวงหอบรรพกษัตริย์ตามประเพณีดั้งเดิมได้ เราจึงมีการจัดเครื่องสักการะเป็นกับข้าวพื้นเมือง 9 อย่างตรงตามเอกสาร ไม่ใช่การถวายหัวหมูแบบธรรมเนียมเซ่นไหว้ของคนจีนเหมือนก่อน
หลายคนอาจสงสัยว่าจะอะไรกันหนักหนากับเครื่องเซ่นไหว้ ก็ต้องบอกว่าในเมื่อเราจะทำตามประเพณีแล้ว เราก็ควรเข้าใจความหมายในทุกบริบทของประเพณี ทำไมคนโบราณถึงเลือกใช้กับข้าว 9 อย่างนี้ ทำไมต้องถวายขันโตกแยกถาดเหล้า ถาดล้างมือ หรืออื่นๆ ไม่ใช่แค่ว่าพอมีพิธีกรรม เราก็แค่จัดไปตามพิธีกรรม ถ้าเป็นแบบนั้นเมืองไหนนำไปจัดก็ได้
ถึงป้าจะพูดแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะต้องถูกแช่แข็งไปตามตำราเสมอนะ ป้าเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีวิวัฒน์ที่สอดคล้องกับยุคสมัย แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ความเข้าใจในรากเหง้า อย่างปีนี้เรายังนำเสนอองค์ความรู้เรื่องการตานต้นจ้อ ต้นจ้อคือตุงสำหรับสักการะชนิดหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กลง เรานำต้นจ้อมาสักการะองค์สามกษัตริย์ โดยมีการประยุกต์ดีไซน์ให้ต่างออกไปจากเดิมบ้าง แต่ยังคงความหมายดั้งเดิมของต้นจ้ออยู่
อีกเรื่องที่สำคัญคือในทุกๆ พิธีกรรม ผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดงาน ควรจะเป็นชาวบ้าน ชาวชุมชน ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วย เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อ แต่ประเพณีล้านนายังเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ในบางพิธีกรรมที่คนภายนอกมองว่าสวยจัง แต่ฟันเฟืองสำคัญเบื้องหลัง คือฝีมือของคนทำตุง คนทำเครื่องดำหัว สล่าหัตถกรรมอื่นๆ เหล่านี้คือชาวบ้านธรรมดาที่ทำมาหากินอยู่ในเชียงใหม่ ตราบใดที่วิถีชีวิตคนเมืองและการท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังผูกโยงอยู่กับศิลปวัฒนธรรม คนเหล่านี้ก็จะสามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้อย่างภาคภูมิ
หรืออย่างการเผยแพร่ความรู้เรื่องเครื่องบวงสรวงที่เป็นอาหารพื้นเมือง อย่างลาบ หรือไก่คู่ตามจารีตดั้งเดิม ก็ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมืองได้อีก เราสามารถบอกได้ว่าเมนูที่คุณมากินที่เชียงใหม่เมนูนี้ อยู่ในเครื่องสักการะอารักษ์เมืองของเราเชียวนะ ขึ้นแท่นแบบเดียวกับภัตตาคารชื่อดังในมิชลินไกด์เลย
ปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้วที่ป้าร่วมกับเพื่อนๆ จากหลายชุมชนในเขตเมืองเชียงใหม่ ขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ จากจุดเริ่มต้นที่ป้าอยากมีส่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ ของเมืองด้วยการใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ ป้าภูมิใจที่คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราสามารถผลักดันหลายๆ เรื่องให้ประสบความสำเร็จ อย่างการรณรงค์เรื่องผางประทีปแทนการปล่อยโคมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การผลักดันให้คนในชุมชนมีส่วนในการจัดประเพณีหรือพิธีกรรมของเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แทนที่จะเป็นการให้รัฐจ้างออร์แกไนซ์จากที่อื่นมาทำงานเต็มรูปแบบเหมือนเมื่อก่อน
หรือที่ภูมิใจที่สุดคือการทำเวิร์คช็อปช่างฟ้อนที่เราสามารถสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่จากสถาบันศึกษาต่างๆ กว่า 20 แห่งทั่วเมือง โดยทุกวันนี้เรามีช่างฟ้อนรุ่นใหม่มากถึง 22 คณะ หรืออย่างงานปีใหม่เมืองปีล่าสุดที่เทศบาลอยากให้มีช่างฟ้อนมาร่วมฟ้อนรำเป็นสิริมงคลจำนวนเท่าปีเกิดของเมืองเชียงใหม่คือ 726 คน เราก็ได้เหล่าคนรุ่นใหม่ที่เคยร่วมกิจกรรมกับเรา มาร่วมฟ้อนครบจำนวนโดยใช้เวลาในการรวบรวมไม่นาน
การได้เห็นเด็กสมัยใหม่หลายคนที่ชอบฟังเพลงเค-ป๊อบ หรือสนใจในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ยังสามารถฟ้อนร่วมกับคนเฒ่าคนแก่ รุ่นแม่ รุ่นยายได้ เป็นเรื่องน่าปลื้มใจมากทีเดียว และป้าคิดว่าสิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของดอกผลตลอด 11 ปีที่เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ได้ดำเนินการมา”
///
เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง
ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่