*การระบุระยะเวลา 2,000 ปีในชื่อบทความ นำมาจากยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่มีการค้นพบโบราณวัตถุและโครงกระดูกของมนุษย์ยุคนั้นบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริก อำเภอเมืองราชบุรี
ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าโครงการวิจัยราชบุรีเมืองแห่งการเรียนรู้ (พ.ศ. 2564-2565) ให้สัมภาษณ์ไว้ – “แทบไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยที่คุณมาเที่ยวแค่วันเดียว แต่ได้เรียนรู้รากเหง้าของคนไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงปัจจุบันได้ครบ” (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว) กองบรรณาธิการ WeCitizens จึงย้อนรอยตามลายแทงที่อาจารย์ชวลิตให้ไว้ พาผู้อ่านสำรวจแหล่งประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี ที่ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ผ่านยุคทวารวดี กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“เพราะราชบุรีไม่ได้มีดีแค่สวนผึ้ง ตลาดน้ำ หรือโอ่งมังกร แต่เมืองแห่งนี้คือแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์” อาจารย์ ชวลิต กล่าว
แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริก
ต.คุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี
ตั้งอยู่ในตำบลคุ้งกระถิน ห่างจากตัวเมืองราชบุรีราว 12 กิโลเมตร บนที่ดอนริมลำน้ำแควอ้อม (แม่น้ำแม่กลองสายเดิม) ที่นี่มีการค้นพบโบราณวัตถุ อาทิ ลูกปัด กำไลสำริด ภาชนะดินเผา และเครื่องประดับโลหะ รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 5 โครง ที่เมื่อมีการศึกษาทางโบราณคดีพบว่ามีอายุมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือกว่า 2,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุในยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น เช่น เครื่องดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง (ราว พ.ศ. 1160-1450) และภาชนะเคลือบสีขาวสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ.1670-1820) เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการที่คนพื้นเมืองมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากว่า 1,000 ปีก่อน
แม้บ้านโคกพริกในปัจจุบันจะไม่มีโบราณสถานหลงเหลืออยู่ หากทาง อบต. คุ้งกระถิน ก็ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งกระถิน สำหรับจัดเก็บและจัดแสดงโครงกระดูกและโบราณวัตถุบางส่วนที่ถูกขุดพบในพื้นที่ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อไปทาง อบต. เพื่อขอเข้าเยี่ยมชมได้ที่เบอร์ 032-337339
เมืองโบราณบ้านคูบัว
ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี
ทวารวดีคือชื่อของอาณาจักรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาณาจักรแห่งนี้เคยมีศูนย์กลางตั้งอยู่ทางพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยเมืองโบราณบ้านคูบัวยังเป็นอีกหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรทวารวดีในเมืองท่าสำคัญอย่างราชบุรีในอดีต
เมืองโบราณบ้านคูบัวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้าง 800 เมตร และยาว 2,000 เมตร มีลำน้ำไหลผ่านสองสาย คือ ห้วยคูบัว กับห้วยชินสีห์ มีโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวัดโขลงสุวรรณคีรี (โบราณสถานหมายเลข 18) ซึ่งปรากฏเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อศิลาแลงของสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเดิมเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา ซึ่งยังมีการค้นพบประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาสำหรับประดับอาคาร เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดาหรือบุคคลชั้นสูง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆ (โบราณวัตถุที่ค้นพบส่วนใหญ่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี)
นอกจากโบราณสถาน บ้านคูบัวยังขึ้นชื่อในฐานชุมชนของชาวไทยวนจากเมืองเชียงแสนที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่เมื่อ 200 กว่าปีก่อน โดยชาวชุมชนในยุคปัจจุบันก็ยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมและศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยวนอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคำเมือง (ภาษาเหนือ) การสวมใส่ผ้าซิ่น และการทอผ้า เป็นต้น โดยในบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี ยังเป็นที่ตั้งของ จิปาถะภัณฑ์บ้านคูบัว หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนคูบัว จัดแสดงข้อมูลและวัตถุที่สะท้อนภูมิปัญญาของชาวไทยวน รวมถึงโบราณวัตถุบางส่วนจากยุคทวารวดีที่ถูกพบในพื้นที่
จิปาถะภัณฑ์บ้านคูบัว เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร 9.00–16.00 น.
อุทยานหินเขางู
ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี
อุทยานหินเขางูอยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรีราว 8 กิโลเมตร แต่เดิมเป็นเหมืองหิน หรือแหล่งระเบิดและย่อยหินที่สำคัญของประเทศมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่นี่จึงมีความสำคัญในระดับจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างเมืองของพื้นที่ตอนกลางของประเทศ เพราะหินที่ใช้ก่อสร้างอาคารสำคัญๆ หลายแห่งในประเทศส่วนหนึ่งก็ผลิตขึ้นจากที่นี่
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องนับศตวรรษ ชาวราชบุรีก็เล็งเห็นถึงความเสื่อมโทรมของสถานที่ ประกอบกับที่มีการค้นพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีประดิษฐานภายในถ้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำฤาษีที่มีการค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทในปางแสดงธรรมเทศนาจำหลักบนผนัง (พระพุทธฉายถ้ำฤาษีเขางู) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานพุทธศิลป์ที่ตรงกับสมัยคุปตะของอินเดีย รวมถึงภายในถ้ำฝาโถ ถ้ำจีน และถ้ำจาม จึงมีการขับเคลื่อนให้ยุติการทำเหมืองหินจนสำเร็จ ก่อนที่ทางจังหวัดได้มีการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สำคัญของเมือง
อุทยานหินเขางูเปิดให้เข้าชมทุกวัน 9.00-17.00 น.
วัดมหาธาตุวรวิหาร
ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี
วัดมหาธาตุวรวิหารคือโบราณสถานสำคัญของเมืองราชบุรี ไม่เฉพาะวัดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่เกือบ 1,000 ปี โดยเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ 13 แต่โบราณสถานแห่งนี้ยังปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยผ่านงานศิลปกรรมที่ต่อเติมขึ้นภายหลัง จากอิทธิพลของอารยธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ 18) และอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 20-21)
- วัดมหาธาตุวรวิหารไม่ปรากฏชื่อเมื่อแรกสร้าง หากมีชื่อเดิมว่า วัดหน้าพระธาตุ และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นสมัยทวารวดี และเป็นศาสสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองในอดีต
- พุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี จึงได้มีการก่อสร้างพระปรางค์และกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของเขมร
- พุทธศตวรรษที่ 20-21 ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้นซ้อนทับและสร้างพระปรางค์บริวารขึ้นอีก 3 องค์บนฐานเดียวกัน ทั้งยังมีการทำจิตรกรรมฝาผนังบริเวณพระปรางค์
- พุทธศตวรรษที่ 22 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการสร้างอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานดอกบัว
- สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้มีการย้ายศูนย์กลางเมืองจากทางตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง วัดแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่พักใหญ่ ก่อนเริ่มมีการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังที่ศูนย์กลางของเมืองย้ายกลับมาอยู่ฝั่งตะวันตกเหมือนเดิม
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม
วัดขนอนมีประวัติการสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราวพุทธศักราช 2300) วัดแห่งนี้ขึ้นชื่อระดับโลกจากการเป็นแหล่งผลิตและจัดแสดงหนังใหญ่ หรือหุ่นเชิดจากแผ่นหนังวัวฉลุ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของไทย โดยมีการริเริ่มแกะสลักและจัดแสดงในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการสืบทอดต่อเนื่องผ่านคณะเชิดหนังมาถึงปัจจุบัน จนมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันยังเหลือคณะเชิดหนังในไทยอีก 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี)
ภายในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนจัดแสดงแผ่นหนังแกะสลักที่ใช้ในการจัดแสดงในอดีตกว่า 300 ตัว รวมถึงวิดีทัศน์บอกเล่าประวัติการเชิดหนัง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังได้รับรางวัลจากยูเนสโก ในฐานะ 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intagible Cultural Heritage : ICH) เมื่อปี 2550 ด้วย
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น. (โดยในช่วงสายของวันเสาร์และอาทิตย์ยังมีการแสดงหนังใหญ่ให้รับชมฟรีด้วย)
จิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม วัดคงคารามเดิมเป็นวัดมอญ สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่อพยพมาตามลำน้ำแม่กลองและตั้งถิ่นฐานอยู่เหนือเขตอำเภอโพธารามในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีสถาปัตยกรรมเด่นๆ คือกุฎิเรือนไทย 9 ห้องที่สร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี และเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ อันเป็นตัวแทนของพญามอญ 7 คน ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อเรียกภาษามอญว่า ‘เกี้ยโต้’ หากมีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดคงคารามในสมัยรัชกาลที่ 4 จากการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่น และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง
ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญของวัดคงคารามคืองานจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพสวรรค์ชั้นต่างๆ ภาพอดีตของพระพุทธเจ้า ที่ประทับบนบัลลังก์ พระพุทธชาดชาดก และภาพวิถีชีวิตของผู้คน อันเป็นผลงานฝีมือช่างสกุลกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่ามีการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ของเส้นสายและสีสันอย่างอิ่มเอม และสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างวิจิตร จนเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานด้านจิตรกรรมไทยชั้นเยี่ยมของจิตรกรในยุคหลังเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี
ตั้งอยู่ริมถนนวรเดช ท้ายตลาดเก่าโคยกี๊ริมแม่น้ำแม่กลอง อาคารสีชมพูชั้นเดียวที่มีกลิ่นไอสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลหลังนี้แต่เดิมเคยเป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2465 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนมีการย้ายศาลากลางและเปลี่ยนพื้นที่ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 และมีการบูรณะเรื่อยมา
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกยุคสมัยของเมือง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี อยุธยา รัตนโกสินทร์ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน รวมถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้ง 8 ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในราชบุรี
แน่นอน โบราณวัตถุอันล้ำค่าที่ขุดพบตามแหล่งโบราณสถานสำคัญๆ ทั่วเมือง ส่วนใหญ่ก็ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ อาทิ เศียรพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่มีการค้นพบที่วัดมหาธาตุวรวิหาร ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่พบบริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ พระแสงราชศัสตราประจำมณฑลราชบุรี ไปจนถึงผ้าซิ่นตีนจกซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ของชาวไทยวนในบ้านคูบัว เป็นต้น
ทั้งนี้ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ทีมนักวิจัยจากโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี ยังร่วมกับทางพิพิธภัณฑ์นำเทคโนโลยีภาพเสมือนสามมิติผ่านแว่น HoloLens มาใช้กับโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพื้นที่ สร้างภาพเสมือนให้กับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ในสภาพสมบูรณ์ ให้ผู้ชมพิพิธภัณฑ์ได้รับชมอีกด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดวันพุธ-อาทิตย์ 9.00-16.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท (เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างชาติ 100 บาท ทั้งนี้ยังมี virtual museum ให้เข้าชมทางออนไลน์ได้ทาง http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/ratchaburi/index.php/th/
ตลาดเก่าโคยกี๊
ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง วางตัวระหว่างถนนวรเดชและถนนอัมรินทร์ใจกลางเมืองราชบุรี ตลาดเก่าโคยกี๊เป็นตลาดเก่าคู่เมืองราชบุรีในยุคสมัยใหม่ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นตลาดค้าโอ่งมังกรแห่งสำคัญของเมือง เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นทางคมนาคมสายหลักในการขนส่งสินค้า กระนั้นในภายหลังเมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น การค้าขายโอ่งในตลาดแห่งนี้จึงยุติลง ก่อนจะเปลี่ยนถ่ายมาเป็นย่านการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีน ก่อนที่ต่อมาทางเทศบาลเมืองราชบุรีจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นถนนคนเดินทุกเย็นวันศุกร์-อาทิตย์
ทั้งนี้ นอกจากได้ชื่อว่าไชน่าทาวน์ของเมืองราชบุรี ตลาดเก่าโคยกี๊ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ หอนาฬิกาเมืองราชบุรี ตลาดสนามหญ้า (สวนสาธารณะแห่งแรกของเมืองที่ปัจจุบันเป็นตลาดอาหารโต้รุ่งยอดนิยม) ตึกแถวเก่าแก่ที่มีรูปแบบคล้ายสำนักงานทรัพย์สินฯ กรุงเทพฯ ทางเดินเลียบแม่น้ำแม่กลองซึ่งเต็มไปด้วยงานสตรีทอาร์ทร่วมสมัย รวมถึงใกล้ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อาคารศาลแขวงเก่าที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ศาลเจ้าพ่อกวนอู รวมถึงวัดช่องลม วัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อแก่นจันทร์ พระพุทธรูปคู่เมืองราชบุรี เป็นต้น
โรงงานเซรามิคเถ้าฮ่งไถ่
ปิดท้ายที่แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งสะท้อนมิติทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของเมืองราชบุรีได้อย่างกลมกล่อม โรงงานเถ้าฮ่งไถ่แต่เดิมเป็นโรงงานผลิตโอ่งแบบไม่มีลวดลาย กระถางต้นไม้ และไหน้ำปลาแห่งแรกๆ ของเมือง โดยเปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. 2476 และมีการผลิตต่อเนื่องมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 3 วศินบุรี สุพานิชวรภชน์ นักออกแบบและศิลปินรางวัลศิลปาธร ซึ่งเห็นว่าราชบุรีกำลังเผชิญกับภาวะโอ่งล้นตลาด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และไม่มีความจำเป็นต้องใช้โอ่งเหมือนเดิมอีกแล้ว วศินบุรีจึงหันมาพัฒนาไลน์ผลิตงานเซรามิคให้กลายเป็นสินค้าตบแต่งบ้าน งานออกแบบที่มีฟังก์ชั่น และงานศิลปะ พร้อมนำเสนอสีสันของชิ้นงานที่หลากหลายนับร้อยๆ เฉดสี ทำให้เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และสนุกสนาน
พร้อมกันนั้นเขายังเปิดโรงงานสู่สาธารณะ มีนิทรรศการศิลปะหมุนเวียน และมีการสาธิตการทำงานเซรามิค รวมถึงคาเฟ่ดีไซน์เก๋ภายในสวนที่รายล้อมไปด้วยงานประติมากรรมเซรามิคนับจำนวนไม่ถ้วน และนั่นทำให้จากโรงงานเซรามิคแบบเดิมกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่กลายมาเป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยวเมืองราชบุรี ขณะเดียวกัน ยังช่วยต่อลมหายใจมรดกทางหัตถศิลป์ของเมืองให้ยังคงอยู่สืบไปในบริบทร่วมสมัยอีกด้วย
ข้อมูลประกอบการเขียน
- รายงานผลการวิจัย ‘การพัฒนาเมืองราชบุรีสู่ความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจท้องถิ่นและวัฒนธรรม’ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- www.เที่ยวราชบุรี.com
- https://thai.tourismthailand.org/
- http://rb-memory.blogspot.com/2011/06/blog-post_4153.html
- http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/ratchaburi/index.php/th/