เชียงใหม่เป็นเมืองศิลปะ แต่ยังเห็นป้ายหรือสิ่งที่เป็นทัศนอุจาดเต็มไปหมด

Start
406 views
7 mins read

“ผมมองว่าความเป็นเมืองนานาชาติที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย คือความพิเศษของเมืองเชียงใหม่ เพราะข้อสำคัญข้อหนึ่งเลยก็คือความหลากหลายเปิดให้เราได้เรียนรู้นอกสถาบันการศึกษาได้อย่างไม่จบสิ้น อย่างการทำงานกราฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทของผม ก็เกิดจากการเรียนรู้จากศิลปินฝรั่งที่มาใช้ชีวิตหรือทำงานที่นี่ ไม่มีโรงเรียนไหนมาสอนการพ่นกำแพงหรอกครับ

แน่นอน เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่มองว่าสตรีทอาร์ทมีภาพลักษณ์ที่ทำให้เมืองสกปรกหรือเป็นที่น่ารังเกียจ แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีการเรียนรู้หรือการจัดการที่ดี สตรีทอาร์ทมีส่วนทำให้เมืองสวยงามและเพิ่มมูลค่าของย่านนั้นๆ อย่างเช่นที่เมืองจอร์จทาวน์บนเกาะปีนัง ในหลายย่านของสิงคโปร์ หรือเมืองเก่าอย่างภูเก็ตหรือสงขลา สตรีทอาร์ทกลายเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย

อย่าง Dream Space Gallery CNX ที่ผมรับหน้าที่ร่วมดูแลอยู่ก็เช่นกัน ที่นี่เกิดจากวิสัยทัศน์ของเจ้าของที่เป็นนักธุรกิจที่มองว่าเมืองของเราควรจะมีสถานที่เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยให้คนรุ่นใหม่ เขาจึงแบ่งพื้นที่ที่เป็นโกดังสำหรับจัดแสดงงานศิลปะแนวสตรีทอาร์ท รวมถึงพื้นที่เวิร์คช็อปศิลปะเด็ก โรงละคร ไปจนถึงลานสเก็ต เป็นทางเลือกให้เยาวชนที่สนใจในกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์นอกห้องเรียน ผมมองว่าทุกๆ เมืองควรมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้น เพราะมันมีความสำคัญไม่ต่างจากศูนย์การค้า พิพิธภัณฑ์ หรือสวนสาธารณะ

นอกจากนี้ ผมเชื่อเช่นเดียวกับอีกหลายคนที่เห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งศิลปะครับ ไม่ใช่แค่ว่าที่นี่มีศิลปินหรืออาร์ทสเปซอยู่เยอะ แต่ประวัติศาสตร์และความงามของเมืองหล่อหลอมให้คนที่นี่รักในศิลปะและวัฒนธรรม จึงรู้สึกเสียดายที่ว่าหน่วยงานรัฐหรือผู้ประกอบการกลับไม่ค่อยนำจุดแข็งตรงนี้มาประยุกต์กับการออกแบบหรือพัฒนาเมืองเท่าที่ควร เพราะในขณะที่เรามีคนทำงานสร้างสรรค์ในเมืองมากมาย แต่เรากลับเห็นป้ายหรือสิ่งที่เป็นทัศนอุจาดเต็มไปหมด จึงคิดว่าถ้าเราหาวิธีเชื่อมให้รัฐหรือผู้ประกอบการที่มีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์เมืองได้ร่วมงานกับนักออกแบบหรือศิลปิน เมืองเชียงใหม่จะสวยงามและน่าอยู่ได้มากขึ้นกว่านี้อีกเยอะครับ”

///

สัญชัย ไชยนันท์

ศิลปินสตรีทอาร์ท และผู้ดูแล Dream Graff ภายใน Dream Space Gallery CNX

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย