การบูรณะสวนน้ำปิงจะช่วย
เสริมภาพลักษณ์ของตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรสให้มีกลับมามีชีวิตชีวา

Start
456 views
10 mins read

“กาดต้นลำไยและกาดวโรรส เริ่มต้นในเวลาไม่ห่างกันมากนัก แต่เดิมพื้นที่ของกาดวโรรสหรือ ‘กาดหลวง’ เคยเป็นสุสานเก่าของเจ้านายฝ่ายเหนือ จนปี 2452 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ย้ายสุสานไปไว้ที่วัดสวนดอก เพื่อพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นตลาด ส่วนกาดต้นลำไย ความที่อยู่ติดริมน้ำ บริเวณนี้จึงเป็นที่เลี้ยงและอาบน้ำช้างของเจ้าเมืองเชียงใหม่ จนอุตสาหกรรมค้าไม้และการค้าทางเรือบนลำน้ำปิงเฟื่องฟู จากที่เลี้ยงช้างก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยห้องแถวเล็กๆ ที่ต่อมากลายมาเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งใหม่ของเมือง

แม้จะตั้งอยู่ใกล้กัน แต่ตลาดทั้งสองแห่งก็ต่างมีรูปแบบเฉพาะที่ต่างกันออกไป ทำให้ไม่เคยแย่งลูกค้ากัน กาดวโรรสจำหน่ายผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้า ของฝาก และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนกาดต้นลำไยขายพืชผลทางการเกษตร วัตถุดิบประกอบอาหาร และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือดอกไม้ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าที่นี่เป็นตลาดดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ถ้ากรุงเทพฯ มีปากคลองตลาดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชียงใหม่ก็มีกาดต้นลำไยอยู่ริมแม่น้ำปิง

กล่าวได้ว่าแผงขายดอกไม้ในกาดต้นลำไยเป็นตัวกลางที่ทำให้ดอกไม้เบ่งบานอยู่นอกแปลงหรือนอกกระถางทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่ละวันเกษตรกรเจ้าของสวนดอกไม้ทั่วภาคเหนือจะส่งดอกไม้มาที่นี่ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้านำไปขายปลีกที่แผงในตลาด มะลิจะถูกร้อยเป็นมาลัยนำไปขายตามแผงเล็กๆ เพื่อรอให้คนมาซื้อไปบูชาพระตามวัดทั่วเมือง ส่วนดอกไม้จากแปลงบนดอยบางส่วนจะถูกส่งไปยังร้านรับจัดดอกไม้ หรือบรรจุกล่องส่งต่อไปยังกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ รวมถึงธุรกิจโรงแรมหรือเกสท์เฮ้าส์อีกหลายแห่งในเมืองก็รับดอกไม้จากที่นี่เพื่อไปตบแต่งสถานที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ตรงข้ามกับแผงขายดอกไม้ บริเวณฟุตปาธริมแม่น้ำ ยังเป็นจุดจอดรถประจำทางไปยังจังหวัดลำพูน และอำเภอต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย เรียกได้ว่าย่านตลาดแห่งนี้เป็นเหมือนประตูเข้าออกเมือง หรือจุดเชื่อมของการเดินทางและการขนส่งสินค้า แบบเดียวกับที่มันเคยเป็นในยุคการค้าทางเรือเมื่อศตวรรษก่อนยังไงยังงั้น

นั่นทำให้เมื่อผมทราบว่าจะมีการบูรณะสวนน้ำปิง สวนสาธารณะที่ตั้งอยู่เยื้องตลาดต้นลำไย ตรงข้ามกับศาลเจ้าปุงเถ่ากง ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก เพราะมันจะสามารถรองรับทั้งคนที่มาเดินตลาด คนที่มาไหว้ศาลเจ้า และคนที่มารอขึ้นรถประจำทางไปพร้อมกัน ยิ่งเมื่อทราบว่าภายในสวนจะจัดให้มีลานกีฬาและกิจกรรม ก็ยิ่งตอบโจทย์คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้อีกด้วย

ขณะเดียวกันผมมองว่าการบูรณะสวนแห่งนี้ไม่เพียงช่วยเสริมภาพลักษณ์ของย่านตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวา แต่ถ้าเราทำสวนแห่งนี้สำเร็จ ที่นี่จะเป็นต้นแบบให้ย่านอื่นๆ ของเมือง ให้ผู้คนเห็นว่าการมีสวนสาธารณะที่ดีและใช้งานได้จริง จะทำให้ย่านนั้นๆ มีความน่าอยู่มากขึ้นมาด้วย

และที่สำคัญ ความที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว สวนแห่งนี้จึงมีความพร้อมจะเชื่อมโยงกิจกรรมทางน้ำอย่างการนั่งเรือหางแมงป่องแบบในอดีต ไปจนถึงพายเรือคายัคชมแม่น้ำ สร้างภาพของความหลากหลายในจุดที่ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมือง ที่มีทั้งภาพของธุรกิจการค้า การคมนาคมขนส่ง ความเชื่อความศรัทธา ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และนันทนาการ รวมถึงการมีอยู่ของตลาดดอกไม้สดแห่งเดียวในภาคเหนือ ที่นี่จะกลายเป็นย่านที่เปี่ยมเสน่ห์มากๆ ครับ”

///

อดิศร สุจริตรักษ์

ตัวแทนผู้ค้าขายในตลาดต้นลำไย

#WeCitizensTh  #LearningCity  #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย