“ถ้าเราเอาสโคปของย่านเมืองเก่าภูเก็ตมาวางบนถนนประสานไมตรีที่อยู่หน้าสถานีรถไฟลำปาง มันแทบจะไม่ต่างอะไรกันเลยนะครับ เพราะแม้เราจะไม่ได้มีอาคารสถาปัตยกรรมสวยๆ เรียงติดกันเท่าภูเก็ต แต่ความเป็นย่านการค้าของคนในพื้นที่จริงๆ ร้านที่ขายอาหารและขนมอร่อยๆ รวมถึงทางเท้าที่เดินสะดวก ความดั้งเดิมของถนนสายนี้ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเลย
ด้วยความที่เป็นย่านที่ริเริ่มโดยพ่อค้าแม่ค้าเชื้อสายจีน หลายคนมักมองว่าย่านสบตุ๋ยที่มีถนนประสานไมตรีพาดผ่านนี้เป็นไชน่าทาวน์แบบย่อส่วน แต่อันที่จริง เมื่อมองถึงการเชื่อมโยงกับย่านอื่นๆ สบตุ๋ยก็ถือว่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ทั้งกลุ่มชาวคริสเตียนที่อยู่ใกล้ๆ ชุมชนชาวไทใหญ่ ชาวพม่า และคนเมืองเอง ที่สำคัญผู้คนทุกกลุ่มก็กลมกลืนเข้าหากันจนเกิดเป็นพลเมืองชาวลำปาง ที่ต่างอาศัยอยู่ในอาคารหรือพื้นที่ที่ส่วนมากล้วนเป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองว่าความเป็นย่านที่มีความหลากหลายและชีวิตชีวาแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งมีบรรยากาศของการเรียนรู้อยู่แล้ว
และเพราะมองเช่นนี้ โครงการวิจัยเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ผมมีส่วนขับเคลื่อนด้วย ก็เลยอยากไฮไลท์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาครับ เพราะถ้าไล่เรียงกันจริงๆ เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 1,300 ปีของเมือง พื้นที่ของการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองลำปางที่เป็นทางการของเมืองเรากลับมีน้อยมาก เรามีมิวเซียมลำปาง หอปูมละกอน มีนิทรรศการในบ้านเก่าภายในย่านกาดกองต้า และที่เหลือจะกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน ด้วยเหตุนี้หนึ่งในบทบาทสำคัญของโครงการวิจัยนี้ คือการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ และเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีหลักฐานอันชัดเจนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวลำปาง ให้คนในลำปางได้รับรู้กัน
เสน่ห์ของลำปางสำหรับผมมันคือการมีพื้นที่เก่าซ้อนทับไปกับวิถีชีวิตร่วมสมัยที่เป็นอยู่แบบนี้น่ะครับ หลายคนเคยได้ยินสโลแกนที่ว่า ‘นครลำปาง เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา’ เพราะเรายังเก็บมรดกทางประวัติศาสตร์ไว้เยอะมาก รวมไปถึงรถม้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง หลายคนเคยมาที่นี่เมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว มาอีกครั้งก็จะพบว่ามันเปลี่ยนไปน้อยมาก ซึ่งในเชิงการอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องดีนะครับ แต่ถ้าเมืองมันไม่มีพลวัตรเลย เศรษฐกิจซบเซา คนรุ่นใหม่มาใช้ชีวิตไม่ได้เพราะไม่มีงานให้เขาทำ กลายเป็นเมืองของคนเกษียณ มันก็ไม่น่าจะตอบโจทย์ของยุคสมัยเท่าไหร่
ด้วยเหตุนี้ ผมเห็นว่าเราน่าจะใช้ต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ตอนนี้ผสานกับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนให้มันเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเมืองไปยังจุดที่ผู้คนต้องการ จากเมืองปลายฝันของใครหลายๆ คน ลำปางก็อาจเป็นเมืองต้นฝันที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับเข้ามาขับเคลื่อนเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป”
จาตุรงค์ แก้วสามดวง
นักวิจัยโครงการลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง
(การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม)