“เมื่อก่อนก็ซื้อแหนมกินจากที่อื่นค่ะ แต่ความที่เราไม่รู้เลยว่าคนอื่นเขาทำแหนมยังไง เขาใส่ดินประสิวมากเกินมาตรฐานไหม หรือกระบวนการที่เขาทำนี่ถูกสุขอนามัยมากแค่ไหน คุณยายพี่เขาก็เลยทำเอง เลือกใช้แต่วัตถุดิบที่สดใหม่ สะอาด และทราบถึงที่มา และใช้ดินประสิวไม่เยอะ คือถ้าไม่ใช้เลยก็ไม่ได้ แต่ถ้าใช้เยอะก็เป็นอันตราย
นอกจากทำกินกันเองในครอบครัว คุณยายท่านก็เอาแหนมไปแบ่งเพื่อนๆ ก็มีการบอกต่อเรื่อยๆ จนมีคนมาขอซื้อ ก็ขายกันเล็กๆ โดยไม่ได้ทำแบรนด์อะไรเรื่อยมา จนภายหลังคุณยายทำต่อไม่ไหว จึงไม่ได้ขายมาหลายปีแล้ว
พอพี่เกษียณ จากที่เราเป็นพยาบาลมาทั้งชีวิต ให้อยู่บ้านเฉยๆ ก็คงจะเฉา เลยไปทำกิจกรรมที่ชมรมผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองพะเยา เราชอบเรียนรู้การทำนั่นทำนี่จากยูทูปอยู่แล้ว ก็เลยเอาสิ่งที่เรียนมาไปสอนเพื่อนๆ ในชมรม เช่น การทำสบู่ สานตะกร้าเดคูพาจ และอื่นๆ เท่าที่เราจะทำและสอนคนอื่นได้ และพอดีกับที่มหาวิทยาลัยพะเยาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ทีมนักวิจัยเขาก็แนะนำว่าน่าจะทำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายนอกเหนือจากสิ่งที่เราเปิดการเรียนการสอนอยู่ ก็เลยคิดถึงแหนมอนามัยสูตรของคุณยายขึ้นมา
จากแหนมสูตรคุณยายที่ไม่เคยมีชื่อเรียก ทางทีมวิจัยก็ช่วยพี่ทำแบรนด์และออกแบบโลโก้ เป็นสินค้าจริงจังขึ้นมา ก็เริ่มเอาไปขายในกลุ่มไลน์ของโรงพยาบาลที่เคยทำก่อน พี่ตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘ทัพพีเงิน’ เพราะเราขายอาหารก็เลยคิดถึงทัพพี แต่แทนที่จะตักข้าว เราเอามาใช้ตักเงินตักทองจากสินค้าของเราเอง (ยิ้ม)
ถึงจะพูดแบบนั้น พี่ก็ไม่ได้คิดจะทำเป็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจริงจังอะไร เพราะเราทำกับผู้ช่วยอีกหนึ่งคนแค่นั้น และจริงๆ เราทำเพราะความสนุกที่ได้มีอะไรทำ และหวังให้ลูกค้าได้กินแหนมที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากกว่า เดือนหนึ่งจะทำขายแค่สองรอบผ่านทางไลน์กลุ่ม กลายเป็นว่าลูกค้าหลักของเราคือหมอ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลเสียเกือบทั้งหมด เว้นแต่จะมีออกร้านเล็กๆ ตามงานบ้าง
ทางโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ก็มีแผนให้พี่เปิดคอร์สสอนทำแหนมเหมือนกัน พี่ก็ยินดีเพราะอยากแบ่งปันความรู้ และเผื่อใครเอาไปต่อยอดเป็นธุรกิจก็ดีเข้าไปใหญ่ แต่พี่ก็ย้ำเสมอเรื่องวัตถุดิบและกระบวนการผลิตต้องสะอาดและได้มาตรฐาน ให้เขาเอาสูตรเราไปทำแบรนด์ขายของตัวเองได้เลย ซึ่งนอกจากแหนมสูตรคุณยายพี่แล้ว ทัพพีเงินก็ยังมีผลไม้แช่อิ่มตามฤดูกาล ซึ่งอันนี้พี่เรียนมาจากยูทูป และเอาผลไม้ที่ปลูกในบ้านมาทำ ฤดูกาลนี้เป็นตะลิงปลิง ต่อไปก็อาจเป็นมะม่วงหาวมะนาวโห่ ก็แล้วแต่ช่วงว่าต้นไหนจะออกผลเมื่อไหร่
การทำให้คนอื่นมีอาชีพก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญอีกเรื่องก็คือพี่อยากให้พะเยาเรามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นอาหารปลอดภัยมากกว่านี้ เมืองของเราเป็นเมืองเกษตร ก็น่าจะสนับสนุนให้เกิดเกษตรปลอดภัยที่ไม่เพียงทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค แต่เกษตรปลอดภัยช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นที่ต้องการของตลาดระดับสากล
ในขณะเดียวกัน อย่างที่ทราบกันว่าพอพะเยาไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็เลยต้องออกจากบ้าน ย้ายไปทำงานที่เมืองใหญ่ๆ ถ้าเรานำเกษตรปลอดภัยมาเป็นจุดแข็ง ใช้เทคโนโลยี หรือรูปแบบการตลาดใหม่ๆ มาต่อยอดต้นทุนตรงนี้ให้กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด สิ่งนี้จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาช่วยกันพัฒนาธุรกิจ ผู้สูงอายุในเมืองก็ไม่เดียวดายเพราะลูกหลานกลับมา พะเยาก็จะไม่เงียบเหงาอีกต่อไป”
ดรุณวรรณ คำเจริญ
ข้าราชการเกษียณ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘ทัพพีเงิน’