น้อยคนนักที่อยากจะเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่ แถมยังอยู่ถึงจังหวัดพะเยา

Start
680 views
9 mins read

“จริงๆ ก็เป็นการจับผลัดจับผลูพอสมควรครับ ก่อนหน้านี้ผมเป็นอาจารย์พิเศษสอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก สอนอยู่สักพัก เพื่อนรุ่นพี่เขาทำหลักสูตรศิลปะขึ้นมาใหม่ให้วิทยาเขตพะเยา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยพะเยา) ผมอ่านหลักสูตรแล้วสนใจ เลยย้ายมาสอนประจำที่นี่ ทุกวันนี้สอนมา 8 ปีแล้ว

ผมสนใจหลักสูตรนี้ตรงที่เขามุ่งเน้นให้ศิลปะ งานออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์รับใช้ชุมชน หาใช่การผลิตบัณฑิตศิลปะเพื่อเข้าหาแวดวงศิลปะเป็นศูนย์กลาง ต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาคุณเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่อยากเรียนปริญญาด้านศิลปะ คุณก็จะมุ่งไปหามหาวิทยาลัยศิลปากร ลาดกระบัง หรือวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้อยคนนักที่อยากจะเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่ แถมยังอยู่ถึงจังหวัดพะเยา แต่หลักสูตรเราก็สร้างโอกาสจาก pain point ตรงนี้ โดยเน้นที่การเรียนรู้และพัฒนาการศึกษาร่วมกัน

แล้วสิ่งนี้ก็สอดคล้องกับวิธีคิดผมที่กำลังอิ่มตัวกับความคิดที่ว่าศิลปะร่วมสมัยต้องผูกอยู่แต่กับมหานครอย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส หรือในกรุงเทพฯ คือแต่เดิมผมก็แสวงหาที่จะไปอยู่จุดนั้น แต่พอมีโอกาสได้ไปอยู่ (อาจารย์นิธิศ เรียนจบจาก Kent Institute of Arts and Design ประเทศอังกฤษ) เราก็พบว่าเราอยากเห็นแง่มุมอื่นที่ศิลปะมันจะพาเราไปได้บ้าง

หรือที่อาจารย์ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าโลกศิลปะตอนนี้กำลังให้ความสนใจเรื่องเล่าหรือสุนทรียะจากความเป็นชายขอบทั้งหลาย เพราะในเมืองใหญ่ๆ มันถูกเล่าไปหมดแล้ว และตรงนี้เองที่ผมพบว่า อันที่จริงงานศิลปะดีๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหอศิลป์ดังๆ ตามเมืองใหญ่เสมอไป บางทีวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นก็อาจเป็นศิลปะในวิถีของพวกเขาเอง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมก็ได้

ซึ่งก็พอดีได้ร่วมงานกับอาจารย์โป้ง (ปวินท์ ระมิงค์วงศ์) ซึ่งเขาพยายามขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยพะเยามีหอศิลป์มาตลอด แต่เมื่อไม่ได้ เขาก็ลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งจากพื้นที่ที่เขาทำ (PYE Space) ไปจนถึงการเปลี่ยนพื้นที่โรงหนังร้าง ตลาดสด หรือพื้นที่สาธารณะของเมืองพะเยาให้เป็นอาร์ทสเปซ นี่จึงเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของทั้งผู้เรียนและผู้สอนด้านศิลปะ 

แน่นอน พะเยาไม่มีระบบนิเวศทางศิลปะในแบบที่หลายคนเข้าใจ เมืองของเราไม่มีทั้งแกลเลอรี่ นักสะสมผลงาน ภัณฑารักษ์ หรือกระทั่งกลุ่มคนดูอย่างเป็นทางการ ประกอบกับที่ลูกศิษย์ของเราส่วนใหญ่เป็นลูกหลานเกษตรกรหรือผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งพอเรียนจบพวกเขาก็ต้องกลับไปสานต่อกิจการที่บ้าน มีบางส่วนไปทำงานด้านการออกแบบในเมืองใหญ่ และมีน้อยคนมากๆ ในหนึ่งรุ่นที่จะดำเนินชีวิตในฐานะศิลปิน

แต่นั่นล่ะ ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกดำเนินชีวิตไปทางไหน อย่างน้อยที่สุด การได้เรียนศิลปะก็ช่วยปลดล็อคความคิดของนักศึกษา ได้มีอิสระในการได้ทดลองทำในสิ่งที่เขาอยากทำสักครั้งในชีวิต หรือได้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ไปพัฒนาสิ่งที่เขาทำหรือเป็นอยู่ ตรงนี้แหละที่ผมมองว่ามันคือคุณค่าที่แท้จริงของศิลปะ”  

ผศ.นิธิศ วนิชบูรณ์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย