ในสมัยล้านนา นอกจากพะเยาจะเป็นเสมือนห้องครัวที่คอยปลูกข้าวหล่อเลี้ยงผู้คนในอาณาจักร เรายังเป็นเหมือนห้องสมุดแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Start
455 views
13 mins read

“ในสมัยล้านนา นอกจากพะเยาจะมีภูมิศาสตร์เป็นเสมือนห้องครัวที่คอยปลูกข้าวหล่อเลี้ยงผู้คนในอาณาจักร เรายังเป็นเหมือนห้องสมุดแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีกระดาษ แหล่งความรู้ทั้งหมดจะถูกบันทึกลงศิลาจารึก และพื้นที่ในจังหวัดพะเยานี่แหละที่เป็นแหล่งตัดหินสำหรับทำศิลาจารึก ดังนั้นมันจึงมีการพัฒนาตัวอักษรฝักขามสำหรับจารลงศิลาที่นี่ด้วย และอักษรรูปแบบนี้ยังถูกใช้สำหรับการถ่ายทอดความรู้ หรือการสื่อสารที่เป็นทางการในเมืองต่างๆ ทั่วอาณาจักรเมื่อครั้งอดีต

หรือยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ในเขตผายาว ก็มีร่องรอยของการตัดหิน และขวานหินโบราณ และต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่มีการแกะสลักพระพุทธรูปในพื้นที่ รวมถึงแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเตาเวียงบัว แหล่งอารยธรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าพะเยามีต้นทุนทางการเรียนรู้มาตั้งแต่อดีต และกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด  

ในโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมรับผิดชอบโครงการย่อยที่ 3 เรื่องการสร้างสรรค์เส้นทางและพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ในเมืองพะเยาด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมให้สอดรับกับกิจกรรมการเรียนรู้ตามโมเดล BCG พื้นที่ที่ผมทำงานจึงค่อนข้างครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่แห่งการเรียนรู้เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนให้เมืองพะเยาให้เป็นมากกว่าเมืองผ่าน แต่เป็นเมืองที่คนเข้ามาเยือนเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาจากพื้นที่ต่างๆ


พร้อมไปกับการทำ Local study ด้านประวัติศาสตร์และต้นทุนทรัพยากรของเมือง ในปีแรกของโครงการ เรายังได้ใช้ศาสตร์เรื่องการทำบ้านดิน มาเป็นตัวเชื่อมการทำงานให้คนในพื้นที่ เพราะมองว่าบ้านดินนี่ตอบโจทย์เรื่องต้นทุนการผลิต ถ้าคุณมีความรู้ในการทำ ถึงงบประมาณจำกัด ก็ยังสามารถสร้างที่อยู่อาศัยจากดินได้ เราร่วมงานกับบ้านดินคำปู้จู้ ถ่ายทอดความรู้เรื่องบ้านดินกับผู้คนในเครือข่าย เป็นกิจกรรมเพื่อละลายพฤติกรรม และสร้างการรับรู้ในเขตเทศบาล รวมถึงร่วมกันสร้างสรรค์แลนด์มาร์คสำหรับระบุพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วยโครงสร้างบ้านดิน

ส่วนปีที่สอง เน้นเรื่องขับเคลื่อนกลไก BCG ในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ 18 แห่ง โดยทางโครงการย่อยของเราก็เข้าไปมีส่วนใช้งานออกแบบอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในพื้นที่ ให้สอดรับกับแนวคิด BCG และมีความดึงดูดในด้านการตลาด ก่อนมีแผนจะต่อยอดสู่การจัดจำหน่ายทางออนไลน์ต่อไป


จนเข้าสู่ปีนี้เป็นปีที่สามที่จะทำต่อไปนี้ เราพยายามนำเสนอมิติความทรงจำในแต่ละพื้นที่ นำเสนอภาพประวัติศาสตร์ที่ซ้อนไปกับภาพปัจจุบันตามเส้นทางการเรียนรู้ เพื่อให้เห็นว่าเรามีต้นทุนทางการเรียนรู้มาตั้งแต่อดีต เราพยายามเล่นกับการนำเสนอเชิงปรากฏการณ์ แล้วการกระจายตัวออกไปยังแหล่งการเรียนรู้ข้างนอก เข้าไปประสานกับแหล่งศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ ภายใต้การบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อทำให้ศูนย์ฝึกอาชีพมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ในมิติอื่นๆ ไปพร้อมกัน


นอกจากนี้ ด้วยความที่พะเยาเป็นเมืองผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้เราจึงตระหนักถึงการสร้างพื้นที่กิจกรรมเพื่อรองรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการฝึกทักษะทางอาชีพในการผลิตงานหัตถกรรม อาหาร และสินค้าต่างๆ โดยส่งผู้มีความรู้ลงชุมชนไปฝึกอาชีพผู้สูงอายุถึงที่เลย และชวนให้พวกท่านผลิตสินค้ามาวางจำหน่าย เพราะนอกจากการสร้างรายได้แล้ว กิจกรรมเหล่านี้ยังทำให้พวกท่านได้ใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ ได้ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง และสร้างความภูมิใจ ทำให้พวกเขาเห็นว่าตัวเองก็สามารถมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองของเราได้

ด้วยเหตุนี้ เมืองพะเยาของเราจึงมีพื้นที่การเรียนรู้ที่หมายถึงพื้นที่เรียนรู้จริงๆ ทั้งของเอกชน และของ อบจ. กับพื้นที่การเรียนรู้ที่สอดรับไปกับความเป็นไปของเมืองจริงๆ ที่ซ้อนอยู่ในวิถีชุมชน ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ของผู้สูงอายุ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมเรศ เทพมา
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
และนักวิจัยในโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย