จากที่มองพะเยาเป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูไม่มีอะไร ทุกวันนี้เราพบแต่โอกาสที่ทำให้เมืทองเป็นในแบบที่พวกเราอยากให้เป็น

Start
517 views
12 mins read

“เราเรียนมาทางดุริยางคศิลป์ หลังจากเรียนจบก็เป็นครูสอนดนตรี และเล่นดนตรีกลางคืนอยู่เชียงใหม่อยู่พักใหญ่ๆ จนประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราอกหัก ตอนนั้นเป็นอารมณ์ชั่ววูบเหมือนกัน ตัดสินใจขับรถกลับบ้านที่พะเยา แม่ก็เปิดประตูบ้านรับ หลังจากนั้นก็ไม่ให้ไปไหนเลย (หัวเราะ)

ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำอาชีพอะไรหรอก พ่อแม่เราเป็นข้าราชการเกษียณ พี่ชายขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด ส่วน ค่าจ้างนักดนตรีของที่นี่ก็ถูกกว่าเชียงใหม่เกือบครึ่ง ทำเป็นอาชีพแทบไม่ได้ ที่สำคัญเราพบว่าพะเยาเงียบมากๆ คือในแง่การใช้ชีวิตอยู่ มันก็สงบและสะดวกสบายดีหรอก แต่ถ้าเทียบกับเชียงใหม่ที่เราอยู่มา บ้านเกิดเราก็แทบไม่มีสีสันอะไร

จนพี่แตง (บงกช กาญจนรัตนากร) เจ้าของร้านนิทานบ้านต้นไม้ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเรามาตั้งแต่เด็ก มาชวนเราไปทำตลาดเช้า คือหลังร้านพี่แตงมีสวนเล็กๆ ร่มรื่น พี่แกก็ชวนคนรุ่นราวคราวเดียวกันมาขายของ  พวกงานแฮนด์เมดบ้าง ของแต่งบ้าน เสื้อผ้ามือสองบ้าง เราก็ไปช่วยพี่แตง และก็เล่นดนตรีในสวนให้คนมาตลาดได้ฟัง

ตรงนี้แหละที่จุดประกายเรามาก เหมือนงานแบบนี้มันดึงดูดคนที่มีความสนใจแบบเดียวกับเรามาเจอกัน เพราะที่ผ่านมาพะเยาไม่มีพื้นที่ประมาณนี้เลยนะ ก็ได้รู้จักคนทำกาแฟ ครูสอนวาดรูปสีน้ำ หรือนักออกแบบที่ย้ายกลับมาอยู่พะเยา และอีกหลายอาชีพ ก็กลายเป็นเพื่อนกัน อีกอย่างพอทำตลาดเช้าก็มีเด็กๆ หน้าใหม่ๆ มาร่วมงานเสมอ ก็ทำให้ได้คิดว่า เราอยากอยู่เมืองแบบไหน ก็ควรช่วยกันทำให้เมืองเป็นแบบนั้น ก็เลยร่วมกันจัดอีเวนท์แนวสร้างสรรค์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เราตั้งชื่อกลุ่มว่า Phayao Lovers เพราะจะได้เห็นว่านี่เป็นกลุ่มก้อนของคนรุ่นใหม่ในพะเยาที่รักพะเยา และพร้อมจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำให้เมืองเราน่าอยู่ ก็เริ่มจากในสวนร้านพี่แตงก่อน มีมินิคอนเสิร์ตการกุศลที่เรากับศิลปินในพะเยาจัดการแสดง มีชวนคนนั้นคนนี้มาจัดเวิร์คช็อปทำงานศิลปะ ทำขนม และงานหัตถกรรม รวมถึงตลาดนัดในธีมต่างๆ

จนพอคนมาร่วมงานมากขึ้น สวนในร้านเอาไม่อยู่แล้ว ก็เลยขออนุญาตเทศบาลจัดตลาดนัดตรงถนนราชวงศ์ซึ่งอยู่หน้าร้านทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน และจากถนนหน้าร้าน ต่อมาเราก็ได้งานที่ริมกว๊านพะเยา ก็ร่วมกับหอการค้าจังหวัด และกลุ่มคนทำกาแฟในเมืองจัดงาน Phayao Coffee & Tea Lovers เป็นเทศกาลกาแฟครั้งแรกของเมือง

พอทำหลายๆ งานเข้า ผู้ใหญ่เขาก็เริ่มเห็นศักยภาพของพวกเรา หลังงานกาแฟ เขาก็เลยให้เราจัดงานลอยกระทงของเมืองไปเลย

ตอนนั้นโควิดเพิ่งซา คนก็ยังกล้าๆ กลัวๆ จะออกมาข้างนอก เขาก็คงคิดกันว่าควรจะใช้งานนี้ปลุกเมือง โปรเจกต์ ล้า’ ลา’ ลอย คอยเธอที่ริมกว๊าน จึงเกิดขึ้น เป็นงานลอยกระทงแนวเรโทรจัดที่ข่วงนกยูง ริมกว๊านพะเยา เราหาจุดร่วมของงานที่ผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่สนุกไปด้วยกันได้ เลยจัดงานที่มีเดรสโค้ด เป็นชุดย้อนยุคแบบเรโทร มีงานบอลรูม รำวงย้อนยุค เต้นลีลาศ มีคอนเสิร์ตของวงดนตรีบาร์ขาว ซึ่งเป็นวงดนตรีรุ่นเดอะของเมืองที่กลับมารวมตัวกันครั้งแรกในรอบ 50 ปี ขณะเดียวกันก็มีการแสดงดนตรีของคนรุ่นใหม่ มีการประกวดดนตรีและวาดรูป ตอนนั้นจัด 3 วัน (30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563) ได้รับเสียงตอบรับดีมาก หลังจากนั้นก็ได้จัดงานนั่นนี่ต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้

จะบอกว่าเป็นบริษัทอีเวนท์ก็ไม่ได้เป็นทางการขนาดนั้นค่ะ เราไม่ได้มองในระดับของการทำเป็นอาชีพ แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเราอยากเห็นเมืองเป็นแบบไหน เราพอมีพลัง ก็จะขับเคลื่อนให้เมืองมันใกล้เคียงกับภาพนั้น

ทุกวันนี้ก็ยังเล่นดนตรีอยู่ค่ะ เราเล่นประจำที่บาร์บนดาดฟ้าของโรงแรม M2 Waterside ช่วงสุดสัปดาห์ บางครั้งก็ไปเล่นในอีเวนท์ของเมือง อย่างงานวัฒนธรรมที่ต้องการมือสะล้อซอซึง เราก็เล่นนะ (หัวเราะ)

ย้อนกลับไปคิดก็รู้สึกตลกดี จากที่กลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ แล้วงงๆ ไม่รู้จะใช้ชีวิตในเมืองนี้อย่างไร หรือจะทำงานอะไร จากที่มองพะเยาเป็นเมืองเล็กๆ ที่ดูไม่มีอะไร ทุกวันนี้เราพบแต่โอกาสที่ทำให้เมืองเป็นในแบบที่พวกเราอยากให้เป็น”

เพ็ญพิศุทธิ์ พวงสุวรรณ
นักดนตรีอิสระ เจ้าของร้านบ้านบ่อเลคแคมป์
“บ้านบ่อครูไท”
และตัวแทนจาก Phayao Lovers
https://www.facebook.com/PhayaoLovers/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย