ประสบการณ์จากโครงการสอนพวกเราด้วยว่า ถ้าไม่หยุดเรียนรู้ ชีวิตก็จะไม่มีทางพบกับทางตัน

Start
681 views
9 mins read

“ปีแรกบีจะลงพื้นที่กับอาจารย์เอ (รศ.ดร. ผณินทรา ธีรานนท์) เป็นหลักก่อน ไปสื่อสารกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองพะเยาว่าเรากำลังทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ และเราทุกคนจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ ส่วนน้องๆ คนอื่นๆ จะเป็นผู้ช่วยนักวิจัยแยกกันไป จะทำพวกสืบค้นงานวิจัย งานสถิติ ประสานงาน หรือทำเอกสาร

เราไม่รู้จักกันมาก่อน มาเจอกันที่นี่ ทุกคนมีพื้นเพต่างกัน บีเรียนรัฐศาสตร์ ต้องตาเรียนบริหารธุรกิจ ส่วนแตงกวาและเนสเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เอาจริงๆ แม้ทุกคนจะมีความรู้และทักษะเรื่องการสนับสนุนงานวิจัย แต่นอกจากบี ก็ไม่มีใครได้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยเชิงสังคมมาก่อน

ซึ่งแน่นอน ในช่วงแรกๆ กระทั่งพวกเราเองที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยก็ยังไม่ค่อยเข้าใจดีนักว่าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร การทำงานของพวกเราจึงเป็นการทำความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกัน ก่อนออกไปประสานงาน และสื่อสารกับคนอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าการที่เราได้มาเรียนรู้ร่วมกันนี่แหละที่จะช่วยยกระดับทักษะและองค์ความรู้เฉพาะของผู้คนและชุมชนของเราเองได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอาชีพหรือพัฒนาธุรกิจในภาพรวมของเมืองพะเยา

ความโชคดีของพวกเราก็คือนอกจากมีโอกาสได้ทำงานกับชุมชน ความที่เราทำโครงการที่ชวนนวัตกรต่างๆ มาให้ความรู้แก่ผู้คน ก็ทำให้เราได้ความรู้และทักษะจากนวัตกรไปด้วย ก็ตั้งแต่งานหัตถกรรม สบู่ น้ำพริก ขนม ไปจนถึงทำบ้านดินเลยค่ะ (หัวเราะ) และในขณะเดียวกัน เพราะเราต้องประสานงานในโครงการวิจัย จึงได้ทักษะการเป็นพิธีกร การทำสื่อ ไปจนถึงการตัดต่อวิดีโอด้วย เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านการทำงาน

ที่สำคัญคือการได้เปิดโลก เพราะจากที่เราทำแต่งานในออฟฟิศ พอลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนที่หลากหลาย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ จึงได้รู้ว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร หรือคิดจากฐานความคิดแบบไหน ทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ และทักษะการทำความเข้าใจผู้คนเพิ่มเข้ามา

รู้สึกดีใจค่ะที่โครงการลุล่วงมาด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้เห็นพี่ๆ ลุงๆ และป้าๆ ในชุมชนที่ร่วมกับโครงการและสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพใหม่ๆ หรือทำให้ธุรกิจที่พวกเขาทำอยู่แล้วมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ๆ จากกลุ่มคนหูหนวกพะเยา ที่พวกเขาเหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ พอโควิดมาก็หารายได้ไม่ได้ สื่อสารกับใครก็ลำบาก แต่พอได้มาเรียนรู้กับโครงการเรื่องการทำน้ำพริก ก็สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพใหม่ได้จริง และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาสูตรไปขายกับเครือข่ายคนหูหนวกในจังหวัดอื่นๆ ตามงานต่างๆ

เห็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราช่วยนักวิจัยทำโครงการมีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างน่าชื่นใจ และประสบการณ์จากโครงการก็ยังสอนพวกเราด้วยว่า

ถ้าไม่หยุดเรียนรู้ ชีวิตก็จะไม่มีทางพบกับทางตัน เช่นที่เราพบโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในโครงการนี้”   

นางสาวนันท์นภัส สำเภาเงิน (ต้องตา)
นางสาวอภิชญา ใจด้วง (เนส)
นางสาวมารศรี เงินเย็น (บี)
นางสาวรัตนาภรณ์ รัตนากรไพบูลย์ (แตงกวา)


ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย