ผมมองว่าเมืองนครก็เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศไทย เป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ได้ แต่ยังห่างไกลจากความน่าอยู่

Start
734 views
9 mins read

“พอฟองสบู่แตกปี 2540 บริษัทที่ผมทำงานประจำก็ปิดตัวลง ผมเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่เปิดท้ายนำทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาขายจนเกิดเป็นตลาดนัด แต่หลังจากสู้อยู่สักพัก ปี 2542 ผมตัดสินใจพาครอบครัวย้ายกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดที่นครศรีธรรมราช และยึดอาชีพเขียนบทความและเรื่องสั้นมาตั้งแต่นั้น

เพราะทำงานอยู่กรุงเทพฯ หลายปี เมื่อได้กลับมานครใหม่ๆ ผมพบว่าจังหวะของเมืองเชื่องช้าจนน่าตกใจ เมืองยังมีความเป็นชนบทและผู้คนอยู่กันสบายๆ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งไปไหน และไม่มีบรรยากาศของการแข่งขัน แม้จะเป็นเรื่องดีต่ออาชีพนักเขียน แต่ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ผมก็ใช้เวลาปรับตัวอยู่พอสมควรเหมือนกัน

ผมไม่มีความเป็นคนนครเลย ถ้าคุณนิยามวิถีคนนครในแบบที่ตื่นแต่เช้ามืดมานั่งร้านน้ำชาเพื่อพูดคุยกับเพื่อน หรือกินโรตีกับน้ำชาอีกรอบในตอนค่ำ อาจจะเพราะแบบนี้ ผมจึงไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับเมืองมากนัก หากไม่ใช่การทำธุระ ซื้อข้าวของ หรือกินอาหารตามร้าน การใช้ชีวิตในเมืองของผมคือการใช้เวลากับการนั่งอ่านหนังสือหรือเขียนต้นฉบับที่ร้านกาแฟ และใช้เวลาตอนเย็นเดินออกกำลังกายที่สวนสาธารณะและเอาข้าวไปให้หมาและแมวจรจัดในสวน

อย่างไรก็ดี ความเป็นเมืองนครก็ถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ผมนำมาใช้เขียนเรื่องสั้นตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นอันเรียบง่ายและวนซ้ำแต่ก็เปี่ยมไปด้วยรายละเอียดและสถานการณ์ ความเชื่อ ความศรัทธา ไปจนถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ที่กลายมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจังหวัดจนถึงทุกวันนี้  

ถ้าไม่นับช่วงเรียนหนังสือในวัยเด็ก ผมใช้ชีวิตอยู่เมืองนครมายี่สิบกว่าปีแล้ว แน่นอน เมืองเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมคุ้นเคยตอนที่กลับมาอยู่ใหม่ๆ อย่างเห็นได้ชัด เกิดการขยายตัว มีตึกรามบ้านช่องขึ้นหนาแน่นพร้อมสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดีขึ้น และจังหวะของเมืองก็เร็วขึ้น แต่ถามว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ไหม ผมมองว่าที่นี่ก็เหมือนเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่ในประเทศไทย คือเป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ได้ แต่ยังห่างไกลจากความน่าอยู่

เพราะเมืองยังคงติดอยู่กับระบบราชการที่ล่าช้า ประชาชนเข้าถึงบริการได้ลำบาก ผู้คนหลายคนยังไม่เคารพในสิทธิ์ของกันและกัน ต่างคนต่างขับรถไม่เอื้อเฟื้อ กระทั่งคุณเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย น้อยเหลือเกินที่จะมีรถจอดให้คุณเดินข้าม ยังไม่นับรวมเมืองยังขาดพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองกับผู้คนทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้หาใช่สิ่งที่ผมพบในเมืองนคร แต่เป็นเมืองใหญ่ๆ แทบจะทั่วประเทศ

จริงอยู่ที่ความหนาแน่นของประชากร ตึกรามบ้านช่อง ธุรกิจ และสาธารณูปโภค ล้วนเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นเมือง แต่สำหรับผม เมืองที่แท้จริงคือการที่ผู้คนในเมืองมีสำนึกของความเป็นพลเมือง เคารพ และมีน้ำใจต่อผู้อื่น รวมถึงมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองด้วยกัน สิ่งนี้ต่างหากคือความศิวิไลซ์ คือสิ่งที่ทำให้เมืองเป็นเมือง เมืองที่มีจิตวิญญาณ”    

จำลอง ฝั่งชลจิตร
นักเขียน และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย