หนังตะลุงสมัยนี้ไม่เพียงเป็นสื่อบันเทิงของชาวบ้าน แต่ยังเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมและการเมืองไปพร้อมกัน 

Start
681 views
12 mins read

“พวกเรารู้จักกันเพราะความสนใจในหนังตะลุง บางคนรู้จักเพราะเป็นเพื่อนร่วมคณะ แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักจากการประกวดการแสดงหนังตะลุงของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งจะจัดขึ้นในงานบุญเดือนสิบของทุกปี จนนำมาสู่การร่วมชมรมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ของมหาวิทยาลัย

หนังตะลุงอยู่ในวิถีชีวิตของคนใต้ ทั้งในงานเทศกาล งานบุญ งานรื่นเริง หรือกระทั่งงานศพ เราเรียกคนเชิดและพากย์หนังว่านายหนัง โดยในแต่ละคณะจะต้องมีนายหนังแค่คนเดียว มีตัวละครให้เชิดกี่ตัวก็ว่าไป นายหนังจะต้องรับบทในการเล่าเรื่องและพากย์เสียงพูดคุยให้ตัวละครทั้งหมด นายหนังที่เก่งจะแยกบุคลิกตัวละครแต่ละตัวออกมาอย่างชัดเจน และทำให้ผู้คนติดตามเรื่องราวด้วยความสนุกสนานจนจบ


เราหลายคนในกลุ่มอยากเป็นนายหนังเพราะมีโอกาสได้ดูนายหนังเก่งๆ เชิดหุ่น หรือเราบางคนก็มีความสนใจอยู่ในสายเลือด เพราะเป็นลูกหลานของศิลปินหนังตะลุงอยู่แล้ว แม้จะสนใจศิลปะการแสดงเหมือนกัน แต่เราก็ล้วนมีจุดเด่นแตกต่างกัน บางคนเก่งในการขับกลอน บางคนเก่งเรื่องการพากย์เสียงได้อย่างรื่นหูและสนุก บางคนเก่งในด้านการอนุรักษ์แบบแผนดั้งเดิมไว้ และบางคนก็เก่งในเรื่องไหวพริบและการสร้างมุขตลกที่ล้อไปกับสถานการณ์สังคม

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหนังตะลุงจะเล่นเฉพาะแต่เรื่องรามเกียรติ์ หรือวรรณกรรมพื้นบ้านดั้งเดิม แต่จริงๆ  แล้วในยุคหลัง ก็มีคณะหนังตะลุงหลายคณะเขียนบทละครขึ้นมาใหม่ บ้างก็ทำละครจากนิยายสมัยใหม่ หรือปรับบทละครดั้งเดิมให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงจะได้เห็นมุขที่เป็นกระแสสังคมถูกเล่าในหนังไม่น้อย หนังตะลุงสมัยนี้จึงไม่เพียงเป็นสื่อบันเทิงของชาวบ้าน แต่ยังเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมและการเมืองไปพร้อมกัน

เมืองนครถือเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคณะหนังตะลุงมากที่สุดในประเทศ เพราะแม้ในยุคหลังมานี้จะมีมหรสพสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังนิยมจ้างหนังตะลุงไปแสดงตามงานต่างๆ อยู่ ซึ่งก็อย่างที่บอก คณะหนังตะลุงหลายคณะต่างมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง มีทั้งสายอนุรักษ์ที่เป็นที่ถูกใจของคนสูงวัย รวมถึงสายตลกโปกฮาที่เล่าเรื่องร่วมสมัย เช่น ‘คณะน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม’ ของเดียว สุวรรณแว่นทอง นายหนังผู้พิการทางสายตา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก 

โดยหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการอนุรักษ์หนังตะลุงให้อยู่คู่กับเมืองนครไว้ คือ อาจารย์วาที ทรัพย์สิน อาจารย์ที่ก่อตั้งชมรมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ของพวกเรา ขณะเดียวกัน อาจารย์ก็ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุง ทำหน้าที่เผยแพร่ภูมิปัญญาเรื่องนี้แก่ผู้ที่สนใจ และล่าสุดทางคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็มีแผนจะทำโรงหนังตะลุงของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเปิดการแสดงอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ถามว่ายุคสมัยเปลี่ยน แล้วหนังตะลุงจะสูญหายไปกับกาลเวลาไหม ในมุมมองของพวกเรา ไม่คิดว่าอย่างนั้นนะครับ อาจจะเพราะเราเติบโตมาแบบนี้และเห็นคนรุ่นเรารวมถึงรุ่นน้องอีกจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจ และอยากฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองเป็นนายหนังหรือทำงานอยู่ในคณะหนังตะลุง ขณะเดียวกัน ทั้งสถาบันการศึกษาและทางจังหวัดก็มีการส่งเสริมการอนุรักษ์หนังตะลุงอยู่เรื่อยมา

แต่ก็คงจะดีกว่านี้ไม่น้อย หากเมืองนครจะมีพื้นที่กลางที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มาแสดงผลงานของตัวเองอย่างต่อเนื่องบ้าง อาจจัดแสดงสัปดาห์หรือเดือนละครั้งในตัวเมือง ให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนครได้มาดู เรามีภาพฝันไกลๆ ที่อยากพัฒนาแวดวงหนังตะลุงให้มีคุณภาพและเป็นที่สนใจในระดับที่ใครก็ตามที่มาเยือนเมืองนคร ยอมควักเงินซื้อตั๋วเข้าชม แบบการแสดงละครเวทีหรือมหรสพในต่างประเทศ ถ้าเป็นแบบนั้นได้ อาชีพนี้ไม่เพียงน่าภาคภูมิใจ แต่ยังมั่นคงและยั่งยืนอีก”    

โจม-ธนวัฒน์ ไทรแก้ว, โอม-ณัฐพล บัวจันทร์,
ไบร์ท-อติวัฒน์ ทรงศิวิไล, ยูฟ่า-คุณากร ประมุข
และน้ำมนต์ เทิดเกียรติชาติ
กลุ่มหนังตะลุง ชมรมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย