“บ้านผมอยู่อีกฝั่งของสถานีรถไฟ ในชุมชนดั้งเดิมก่อนจะมีการสร้างสถานีรถไฟเมื่อเกือบร้อยปีก่อน แต่เดิมหาดใหญ่จะใช้คลองเป็นเส้นแบ่งเมือง แต่พอมีรถไฟ ทางรถไฟก็กลายเป็นเส้นแบ่งความเจริญ
ในฐานะที่ผมเป็นคนหาดใหญ่และสถาปนิกผังเมือง ต้องบอกว่าหาดใหญ่เติบโตแบบไร้ทิศทางมานาน จริงอยู่ที่ผังเมืองในยุคหลังรถไฟนี่มีประสิทธิภาพมาก แต่พอเมืองเจริญขึ้นตามยุคสมัย มีผู้คนต่างถิ่นมาอาศัยอยู่ร่วมกันมากๆ รูปแบบเมืองเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วจึงไม่ตอบโจทย์
ขณะเดียวกันนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็พยายามลงทุนกับที่ดินใหม่ที่อยู่ชานเมืองซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า จึงเกิดชุมชนเมืองใหม่กระจายตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบวกรวมกับการที่รัฐไม่ได้มีแผนพัฒนามารองรับ เมืองจึงไม่ compact โดยในภาพรวม รัฐก็ต้องเสียค่าสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัว และเมื่อย้อนกลับมาในพื้นที่หนาแน่นใจกลางเมือง เราไม่มีแม้แต่รถประจำทางสาธารณะที่เชื่อมชุมชนเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน ด้วยสถานะแบบนี้จึงบีบให้คนหาดใหญ่ต้องใช้รถส่วนตัวเป็นหลัก จนนำมาซึ่งปัญหาการจราจร หาดใหญ่จึงเป็นเมืองที่ดูภายนอกมีความเจริญ แต่กลับขาดไร้โครงสร้างอันแข็งแรงรองรับไว้
ในอีกนัยหนึ่ง โครงการคลองเตยลิงก์จึงเป็นเหมือนการกลับมาทบทวนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในใจกลางเมืองหาดใหญ่ใหม่ ผ่านการพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้ (Walkable City) ขนส่งสาธารณะ และสวนสาธารณะ รวมถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของผู้คนและสถานที่ และการเผยแพร่ประวัติศาสตร์เมือง ผ่านโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองสักเมืองมีความน่าอยู่อาศัย เป็นมิตรกับทั้งผู้คนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว
ที่ผมสนใจพิเศษคือการเปลี่ยนสถานะของคลองเตย ซึ่งเป็นลำคลองระยะทาง 11 กิโลเมตรตัดผ่านกลางเมืองหาดใหญ่ คลองสายนี้ถูกละเลยจากผู้คนมาตลอด เพราะหน้าที่ของมันคือการระบายน้ำเสีย คนหาดใหญ่หลายคนจึงจำมันในฐานะคลองน้ำเน่า ขณะที่คนในพื้นที่เองก็มองว่ามันเป็นคลองหลังบ้าน การเปลี่ยนจากคลองหลังบ้านที่ถูกละเลย ให้กลายเป็นคลองหน้าบ้านที่ผู้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงสันทนาการ และคนจากที่อื่นก็มาใช้ได้ในฐานะทางสัญจร สิ่งนี้มันจึงไม่ใช่แค่การให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมาปรับปรุงภูมิทัศน์มัน แต่เราต้องใช้ความร่วมมือจากภาคประชาชนมาร่วมพลิกฟื้นมันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
อันที่จริงโครงการคลองเตยลิงก์นี่ถูกคิดมาก่อน กทม. จะปรับปรุงคลองโอ่งอ่างอีกนะครับ แถมสภาพเดิมของคลองโอ่งอ่างก็ดูจะหนักหนากว่าคลองเตยของเราอีก คลองโอ่งอ่างเปลี่ยนแปลงได้ ผมก็คิดว่าคนหาดใหญ่ก็เปลี่ยนคลองเตยได้ จากสิ่งที่คนมองว่าเป็น waste เมื่อคลองกลับมามีชีวิต มันยังช่วยเสริมชีวิตชีวา และคุณภาพชีวิตให้คนในย่าน และจะกลายเป็นต้นแบบในการพลิกฟื้นเมืองหาดใหญ่ต่อไปในอนาคต”
สุภกร อักษรสว่าง
สถาปนิกและนักวิจัยโครงการคลองเตยลิงก์