จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก ชุมชนขยายตัวขึ้นจากคนจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียงอพยพเข้ามาทำมาหากิน จนการมาถึงของเส้นทางรถไฟสายใต้ ณ สถานีรถไฟหัวหิน เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยบรรยากาศรื่นรมย์และสวยงามของธรรมชาติชายฝั่งทะเล นำพาให้พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาสร้างตำหนักบ้านพักตากอากาศไว้มากมาย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง สร้างที่พักตากอากาศขึ้นบริเวณหัวหิน ทรงใช้ที่ดินกลุ่มบ้านเช่าเดิมของกรมรถไฟหลวง ที่อยู่ระหว่างพระตำหนักในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับตำหนักสุขเวศน์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ออกแบบโดย รีกาซโซ่ นายช่างชาวอิตาเลียนประจำกรมรถไฟหลวง เป็นอาคารทรงโคโลเนียล หลังคามะนิลาสูง ลวดลายตกแต่งด้วยไม้สักทั้งหมด เปิดให้คนเข้าพักอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2466 ภายใต้ชื่อ โรงแรมรถไฟหัวหิน นับเป็นโรงแรมตากอากาศแห่งแรกในสยามประเทศและมีมาตรฐานชั้นดีแบบทวีปยุโรป
อีกทั้ง กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงบัญชาการก่อสร้างสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ออกแบบโดยมิสเตอร์ เอ.โอ.โรบิน นายช่างบำรุงทางรถไฟ แขวงเพชรบุรี โดยเริ่มสร้าง 9 หลุมแรกในปี พ.ศ. 2462 เปิดให้บริการวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงกอล์ฟเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2467 อันนับเป็น “วันกอล์ฟไทย” วันแห่งประวัติศาสตร์เริ่มต้นการแข่งขันกอล์ฟในประเทศไทย จากนั้น สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน 9 หลุมหลังสร้างเสร็จปลายปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดสนามที่ได้ชื่อว่าสนามกอล์ฟมาตรฐาน 18 หลุมแห่งแรกของประเทศไทย โดยพระองค์ทรงเสด็จตีกอล์ฟบ่อยครั้ง กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมในการพักผ่อนของนักกอล์ฟ ยิ่งส่งให้หัวหินเป็นสถานพักผ่อนตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังไกลกังวล แล้วเสร็จในปี 2473 เพื่อใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานในฤดูร้อน ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จแปรพระราชฐานและประทับ ณ วังไกลกังวลอยู่เสมอ แสดงถึงสถานที่อันสง่างามและภาคภูมิใจของชาวหัวหิน
มนต์ขลังเมืองหัวหินนำพาเรานั่งรถไฟจากสถานีกรุงเทพ มาลงปลายทางสถานีหัวหิน ที่เสียงสั่นระฆังและธงแดงที่นายสถานียืนโบกอยู่ริมชานชาลา ปลุกให้เรากระชับกระเป๋าสะพายขณะรถไฟชะลอความเร็ว เคลื่อนผ่านพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ ที่สร้างให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี จนหยุดให้ผู้โดยสารขึ้นลง ณ สถานีหัวหิน ที่สร้างความประทับใจด้วยสถาปัตยกรรมอาคารสถานีรถไฟที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม เมื่อเดินออกมาหน้าสถานีรถไฟ ยังได้ตื่นตากับต้นจามจุรียักษ์อายุไม่น้อยกว่า 150 ปี เพราะมีมาตั้งแต่การก่อสร้างทางรถไฟหัวหิน และตู้รถไฟเก่าที่แปรสภาพเป็นห้องสมุดรถไฟ เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้เมือง แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุง ขณะเดียวกัน ก็เห็นความไม่หยุดนิ่งของการรถไฟที่กำลังก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ถัดไปจากอาคารเดิมเพียงสองร้อยเมตร เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ที่จะแล้วเสร็จในไม่ช้า
บรรยากาศบริเวณสถานีรถไฟหัวหินยังเห็นร่องรอยของอาคารไม้เก่าคลาสสิกของสถานีตำรวจรถไฟหัวหินและอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองหัวหินดั้งเดิมภายในอาคารสถานีดับเพลิงหัวหิน กับภาพความจอแจของย่านชุมชนที่หากเดินมุ่งหน้าไปถนนใหญ่เพชรเกษมถึงสำนักงานเทศบาลเมืองหัวหินตรงสี่แยก ก็จะผ่านพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนและเรียนรู้ประวัติศาสตร์นักมวยชื่อดังชาวเมืองหัวหิน คือสวนสาธารณะอนุสาวรีย์โผน กิ่งเพชร หรือนายมานะ ดอกสีบวบ แชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย และเมื่อข้ามถนนเพชรเกษมไปยังศูนย์โอทอปหัวหิน ก็ขอแวะชมสินค้าโอทอปของบรรดาวิสาหกิจชุมชนตามศาสตร์พระราชา และเติมพลังด้วยข้าวผัดน้ำพริกสวรรค์ปลาทู ของร้านปลาทู นที หน้าศูนย์โอทอปหัวหิน
พื้นที่การเรียนรู้ที่เทศบาลเมืองหัวหินออกแบบไว้เพื่อการท่องเที่ยวและเรียนรู้ในมุมมองที่กว้างกว่าเดิม เริ่มที่สถานีรถไฟหัวหิน ศูนย์โอทอปหัวหิน ชุมชนพูลสุขและวัดหัวหิน ศาลเจ้าแม่ทับทิม หาดหัวหิน บ้านแนบเคหาสน์ และตลาดฉัตรไชย เป็นพื้นที่ขนาดกะทัดรัด สามารถเดินหรือขี่จักรยานเที่ยวได้ แม้เรามาเยือนหัวหินหลายครั้ง เตร็ดเตร่เข้าไปในชุมชนรายรอบชายหาดหัวหินก็หลายหน แต่มีครั้งนี้ ที่เรารู้ว่า ชุมชนที่กำลังเดินเข้าไปนั้นคือชุมชนใด มีความเป็นมาและเรื่องเล่าอย่างไร ชุมชนพูลสุขกับเราไม่ใช่หน้าใหม่ต่อกัน แต่การยกระดับชุมชนพูลสุข เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโครงการหัวหินเมืองแห่งการเรียนรู้ ทำให้ได้รู้ลึกว่า ชุมชนพูลสุขสันนิษฐานว่าก่อตั้งเป็นชุมชนใหญ่บริเวณบ้านสมอเรียง หรือบ้านแหลมหิน ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยราษฎรกลุ่มหนึ่งจากตำบลบางจาน บางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี อพยพลงมาทางใต้ จนถึงบ้านสมอเรียง แล้วตั้งรกรากประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และนำความรู้เรื่องประมงมาสู่หัวหิน โดยอาชีพหลักในสมัยนั้น คือการประมงพื้นบ้าน ขณะที่พื้นที่ชุมชนพูลสุขในอดีตเป็นท้องทุ่งนา เรียกว่า หนองปรือ ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของถนนนเรศดำริห์กับถนนเพชรเกษมในปัจจุบัน จนมีชื่อเรียกว่า “ชุมชนพูลสุข” ตามชื่อของปู่พูล ย่าสุข บุคคลสำคัญของชุมชนหลังจากมีกฎหมายเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการปกครองท้องที่
วัดหัวหินที่อยู่คู่ชุมชนพูลสุขมาช้านาน มีพระอุโบสถเก่าแก่ ประดิษฐานพระพุทธรูปและประติมากรรมภาพวาดพุทธประวัติงดงาม และมีวิหารหลวงพ่อนาค เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหัวหิน ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือความศักดิ์สิทธิ์ในการกราบไหว้ขอพรในสิ่งที่ปรารถนา หากมาเยือนวัดหัวหินในช่วงบ่ายแก่ๆ อาจได้ทักทายหรือใช้บริการคุณลุงปั่นสามล้อที่จอดรับผู้โดยสารอยู่ตรงประตูหน้าวัด สามล้อปั่นหัวหินหลงเหลืออยู่เพียงคันเดียวแล้วนะ เดินออกประตูด้านข้างวัดหัวหินคือถนนคนเดิน ซอยบิณฑบาต และถนนพูลสุข ที่แม้จะรายเรียงด้วยร้านค้า ร้านอาหาร บาร์เบียร์ แต่เมื่อเดินลึกๆ เข้าไป ก็พบเห็นบ้านไม้เก่าอายุนับร้อยปี กับสีสันความสดใสของศิลปะบนกำแพงที่นานาศิลปินมาวาดภาพสะท้อนวิถีชีวิตคนหัวหิน เสน่ห์ของชุมชนที่สอดแทรกไว้ด้วยภูมิปัญญาพัดใบตาล การทำเปลือกหอยหัวหิน เรือประมงพื้นบ้านจำลอง ภูมิปัญญาชาวบ้านในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน การทำปลาเค็มตากแห้งที่มองเห็นแผงตากปลาเรียงรายสู้แดดให้เดินชมเพลินไปจนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ชาวประมงพื้นบ้านหัวหินมาสักการะก่อนออกเรือ ส่วนนักท่องเที่ยวนอกจากสักการะเจ้าแม่ทับทิมแล้ว ก็ยึดเป็นจุดถ่ายรูปและชมวิวหาดหัวหิน ที่หากเดินต่อไปตามถนนนเรศดำริห์ก็จะไปถึงสะพานปลาหัวหินที่เช้าตรู่จะเห็นชาวประมงพื้นบ้านกลับจากทะเลหลังออกไปหาปลาไดหมึกตั้งแต่ค่ำคืน
บ้านเรือนภายในชุมชนพูลสุขยังพบเห็นสถาปัตยกรรมอาคารแบบดั้งเดิมที่ปลูกด้วยอาคารไม้ 2 ชั้นแบบยกพื้น เช่น บ้านเก่าร้อยปีที่ร้านเจ๊กเปี๊ยะ ร้านกาแฟโบราณและร้านอาหารที่มีทั้งข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว เรือนแถวไม้ของร้านตะโก้เสวย เบญจพงศ์ ซึ่งยังคงรสชาติตะโก้อร่อยหวานมันแบบดั้งเดิม บ้านแนบเคหาสน์ ที่คนรุ่นหลานปรับบ้านไม้อายุประมาณ 120 ปีเป็นสภากาแฟหัวหินให้คนมานั่งกินดื่มและพูดคุยกันแบบบรรยากาศเก่าๆ ก่อนที่จะเดินออกไปข้ามถนนเพชรเกษมสู่ตลาดฉัตรไชย ตลาดกลางค้าขายที่มีเอกลักษณ์อาคาร 7 โค้งหน้าโดมของตลาด บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า ตลาดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ภายในและรายรอบตลาดคือบรรยากาศการซื้อขายสินค้าท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นเมืองจากพื้นที่ใกล้เคียงทั้งเพชรบุรี ปราณบุรี ส่วนผู้ที่อยากได้บรรยากาศคึกคักของการซื้อหาท่ามกลางแสงไฟประดับก็ต้องมาตลาดโต้รุ่งที่ติดตลาดตั้งแต่เย็นย่ำ
ย้อนกลับไปชายหาดหัวหิน ณ จุดตั้งต้นชุมชนชายทะเล ชุมชนพูลสุข และชุมชนสมอเรียง อันกลายเป็นที่มาของบ้านแหลมหิน หรือหัวหิน เราเดินไปตามทางลงชายหาดสาธารณะบริเวณโรงแรมรถไฟหัวหิน รับลมทะเลเย็นๆ แล้วจะเดินเล่นชายหาดก็ธรรมดาไป มาหัวหินทั้งที ขอขี่ม้าชายหาดสักหน่อย ผู้ประกอบการขี่ม้าชายหาดมารอลูกค้าอยู่แล้ว จัดไปสักครึ่งชั่วโมงก็เข้าที หรือใครจะแค่ขึ้นนั่งม้าถ่ายรูปพอสนุกก็ตามอัธยาศัย เสร็จแล้วเข้าไปด้านในโรงแรมรถไฟเดิม ที่ปัจจุบันคือโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน ยังคงความเรียบหรู 5 ดาวที่ฉายความรุ่งโรจน์ของอดีต โดยเก็บเรื่องราวและสิ่งของดั้งเดิมจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ภายในโรงแรม ซึ่งเปิดบริการเป็นห้องน้ำชาให้จิบชายามบ่ายในบรรยากาศเรโทรเก๋ไก๋ และก็นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ความรื่นรมย์ของหัวหินถิ่นมนต์ขลังที่ใส่ใจอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สร้างโอกาสสู่อนาคต นำพาหัวหินสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองแห่งการพักผ่อนระดับโลก ที่มัดรวมความเป็นเมืองแห่งความสุข