“เราเสนอให้มีกิจกรรมนำร่องมาจากแนวคิดที่เด็กๆ เสนอ อาจทำสั้นๆ ใน 1 วัน เพราะแทนที่แนวคิดนี้จะอยู่ในกระดาษ มันอาจพัฒนาให้เกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองจริงๆ ได้ เด็กๆ ก็จะได้ภาคภูมิใจด้วย”

Start
282 views
8 mins read

“เราสามคนไม่มีใครเป็นคนราชบุรีเลย แต่ย้ายมาเพื่อรับราชการครูที่นี่ ครูออยอยู่เมืองนี้มา 15 ปี ครูเจี๊ยบอยู่มา 13 ปี ส่วนครูสุรชัยอยู่มา 2 ปี แต่เราทั้งหมดก็หวังจะอยู่ที่นี่จนเกษียณ เพราะชอบเมืองนี้ ชอบวัฒนธรรม ความใกล้ชิดธรรมชาติ และผู้คนที่อัธยาศัยดี

เราไม่ได้สอนด้วยกัน ครูออยสอนสังคมและประวัติศาสตร์ ครูเจี๊ยบสอนฟิสิกส์ และครูสุรชัยสอนวิชาดนตรีพื้นบ้าน แต่ที่ได้ร่วมงานกันเพราะเราอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเหมือนกัน ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานกิจกรรมเชิงสังคมนอกห้องเรียนของโรงเรียนเทศบาล 5 กับหน่วยงานต่างๆ

แต่เดิมกลุ่มสาระวิชาของพวกเราก็มีกิจกรรมนอกห้องเรียนอยู่แล้ว เพราะโรงเรียนเราเคยร่วมกับ ททท. สำนักงานราชบุรี ทำกิจกรรม ‘เจ้าบ้านน้อย’ โดยชวนให้นักเรียนในระดับชั้นต่างๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองราชบุรี และหาวิธีสื่อสารถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดออกมาด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง บทกลอน ละครเวที และอื่นๆ

โดยหลังจากนั้น ททท. ก็จัดตั้งศูนย์การท่องเที่ยวไว้ที่โรงเรียนของเราด้วย ซึ่งภายในศูนย์จะมีนิทรรศการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด และข้อมูลด้านความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ทำให้นักเรียนได้โรงเรียนเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองไปในตัว

พอมาปี 2564 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรประสานเข้ามาขอให้เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมเมืองแห่งการเรียนรู้ เราจึงแทบไม่ต้องปูพื้นเรื่องเมืองให้เด็กๆ เลย เริ่มแรกเขาให้โจทย์มาว่าให้เด็กๆ ช่วยกันคิดถึงพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองและจะนำเสนอด้วยวิธีการใด คุณครูมีหน้าที่รับฟังพวกเขา และให้คำปรึกษาถึงแนวคิดในการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว โดยแทบไม่ได้ชี้นำใดๆ

หลังจากนั้นทางโครงการก็ขอให้เราส่งเด็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมการออกแบบเมือง เราจึงส่งเด็กไป 2 ทีม ไปเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงแรม ณ เวลา และร่วมกันเสนอแนวคิดการออกแบบศูนย์การเรียนรู้เมืองราชบุรีในฝันของพวกเขา

นี่เป็นกิจกรรมที่ดีและกระตุ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้พร้อมไปกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็เสียดายอยู่นิดตรงที่กิจกรรมนี้ยังเป็นเพียงโครงร่างการออกแบบ ที่เด็กๆ เขียนและวาดรูปนำเสนอบนกระดาษ จะดีมากๆ ถ้ามีการนำไปต่อยอดเป็นรูปธรรม

อาจไม่ถึงกับต้องเป็นโครงการจริงจังก็ได้ แต่อาจเป็นกิจกรรมนำร่องจากแนวคิดที่เด็กๆ คิดให้มีคนมาร่วมสัก 1 วัน หรือถ้ากลุ่มไหนคิดถึงการออกแบบของที่ระลึก ก็อาจจะมีอาจารย์มาช่วยพัฒนาแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์สักจำนวนหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เด็กๆ รู้สึกภูมิใจ เห็นถึงศักยภาพของพวกเขาเอง และมีความคิดอยากมีส่วนในการพัฒนาเมือง”

ครูออย-สุภารัตน์ รัฐเรืองมณีโรจน์,
ครูเจี๊ยบ-จิราพร พาพลงาม (สอนฟิสิกส์)
และครูสุรชัย บุญยง (สอนดนตรี)

คุณครูโรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย