“เมื่อก่อนตลาดเราขึ้นชื่อเรื่องหอยดอง นักท่องเที่ยวหลายคนมาที่นี่เพื่อตามหาร้านหอยดองเจ้าอร่อย นี่แหละที่พี่อยากให้บรรยากาศของตลาดมันกลับไปเป็นแบบนั้น”  

Start
366 views
12 mins read

“โคยกี๊เป็นภาษาจีนแปลว่าริมน้ำ ตลาดโคยกี๊จึงมีความหมายว่าตลาดริมน้ำ ชื่อของตลาดเก่าแก่เมืองราชบุรี ที่นี่เป็นแหล่งขนส่งสินค้าหลักของเมือง โอ่งมังกรที่ขึ้นชื่อแต่ไหนแต่ไรก็มีการขนส่งผ่านท่าเรือตรงนี้

พี่เป็นเจ้าของร้านศรีสำอางค์เฟอร์นิเจอร์ เป็นรุ่นที่ 3 รุ่นแรกคืออาม่าพี่ ท่านอพยพจากเมืองจีนมาปักหลักอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองที่ราชบุรี และเปิดร้านนี้ พี่ยังมีรูปถ่ายของอาม่าตอนสาวๆ ซึ่งท่านถ่ายรูปที่ศาลาท่าเรือแดง เป็นท่าเรือเก่าข้างจวนผู้ว่าฯ ช่วงปี พ.ศ. 2480 เขื่อนกั้นน้ำตอนนั้นยังเป็นเขื่อนดิน และถึงแม้จะมีรถไฟวิ่งแล้ว แต่ก็ยังมีการส่งสินค้าทางเรือกันอยู่

ชุมชนที่พี่อยู่มีชื่อว่าชุมชนคนตลาด เป็นย่านการค้าหลักของเมือง สมัยก่อนบริเวณหอนาฬิกามีสนามหญ้า และมีพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงขายอาหารอย่างคึกคัก กลายเป็นแหล่งอาหารการกินที่ใหญ่ที่สุด แม้ทุกวันนี้จะไม่มีสนามหญ้าเหลืออยู่แล้ว แต่ตลาดที่ขายอาหารยังอยู่ และผู้คนก็เรียกติดปากว่า ‘ตลาดสนามหญ้า’ และเวลาเมืองมีอะไร ก็มักมาจัดกิจกรรมริมแม่น้ำตรงนี้ ไม่ว่าจะแข่งเรือพาย ลอยกระทง รวมถึงงานตรุษจีน

กระทั่งช่วงหลังมา เมื่อเมืองขยายตัว มีย่านการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น ย่านนี้ก็ค่อยๆ เงียบลง จนกระทั่งมาเจอโควิด ก็เงียบหนักเข้าไปใหญ่

พี่เข้ามาเป็นคณะกรรมการชุมชน เพราะคิดว่าน่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ย่านเรากลับมาเฟื่องฟูเหมือนเดิม เราเห็นว่าหน่วยงานรัฐสนับสนุนงบประมาณพัฒนาชุมชนและพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ แต่กลับมองข้ามพื้นที่เราตลอด ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมกลุ่มกันกับชาวตลาดมาช่วยขับเคลื่อนและกำหนดทิศทาง ก่อนไปเชื่อมกับภาครัฐให้เขามาช่วยต่อ อะไรๆ ก็อาจจะดีขึ้น

ที่ผ่านมาก็เป็นที่น่าพอใจนะ พอเรารวมตัวกันได้ ก็ง่ายต่อการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมืองน่าอยู่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เข้ามาในย่านเราเมื่อปี 2563 เขาก็มาถามความต้องการของคนในชุมชนว่าอยากได้อะไร เพื่อหาแนวทางการออกแบบและพัฒนาย่านให้ตอบโจทย์กับชีวิตผู้คน

เรื่อยมาถึงโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้เมื่อปี 2564 ที่ทำให้ย่านมีจุดเช็คอินใหม่ๆ ในรูปแบบของประติมากรรมและสตรีทอาร์ท มีกิจกรรมที่ชวนนักเรียนในราชบุรีมาช่วยกันออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวของเมือง และที่ประทับใจที่สุดคือการที่อาจารย์เขาออกแบบบอร์ดเกมเกี่ยวกับเมืองราชบุรี ให้นักเรียนและคนที่สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองผ่านบอร์ดเกมนี้ พี่เห็นด้วยกับที่น้องเสนอมาว่า น่าจะก็อปปี้บอร์ดเกมออกเป็นหลายๆ ชุด เพื่อไปแจกตามโรงเรียนและห้องสมุดต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มาเล่นและเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองของเราต่อไป

ในฐานะที่เราทำการค้าขาย เราก็อยากให้ธุรกิจของเราและเพื่อนบ้านทุกคนในชุมชนดีนั่นแหละ ก็คิดว่าการขับเคลื่อนให้ชุมชนคนตลาดอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวของเมือง ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คที่คนมาเที่ยวราชบุรีต้องแวะเวียนให้ได้ ซึ่งย่านเราเองก็มีศักยภาพที่ดีนะ เพราะเราเป็นชุมชนเก่าที่มีประวัติศาสตร์ รอบๆ ชุมชนก็มีวัดสวยๆ มีศาลเจ้า มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

ซึ่งถ้าเชื่อมร้อยกันทั้งหมดนี้ และทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวและเรียนรู้เกร็ดที่น่าสนใจ นำประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย เปลี่ยนจากภาพจำเดิมที่คนส่วนใหญ่คิดแค่ว่าชุมชนนี้เป็นย่านการค้า ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเมือง มีจุดเช็คอินสวยๆ มีร้านรวงที่ต้องมาใช้บริการ หรือมีของฝากที่ทุกคนต้องมาหาซื้อที่นี่เท่านั้น เป็นต้น พี่ว่ามันจะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนได้เยอะเลยล่ะ

พี่ยังจำได้ว่าหลายปีก่อน ตลาดเราขึ้นชื่อเรื่องหอยดองมากเลยนะ ใครมาเดินเที่ยวก็จะถามหาร้านหอยดองเจ้าอร่อยว่าอยู่ตรงไหน และนักท่องเที่ยวหลายคนมาที่นี่เพื่อหาหอยดองกิน นี่แหละที่พี่อยากให้บรรยากาศของตลาดมันกลับไปเป็นแบบนั้น”  

ชลันธร อำนาจวศิน
เจ้าของร้านศรีสำอางเฟอร์นิเจอร์
และคณะกรรมการชุมชนคนตลาด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย